ADVANC ชิงธง “ธุรกิจเน็ตบ้าน” ปิดดีลซื้อ 3BB-JASIF มูลค่า 3.2 หมื่นล้าน

ดีลซื้อ 3BB หากควบรวมกันแล้ว ADVANC จะเป็นผู้เล่นรายใหญ่ โดยจะเข้ามาช่วยหนุนธุรกิจ Fixed Broadband ซึ่ง 3BB มีลูกค้า 2.4 ล้านราย ขณะที่เอไอเอสไฟเบอร์ มีลูกค้า 2.2 ล้านรายรวมเป็นทั้งสิ้น 4.6 ล้านราย


ปัจจุบันตลาดสื่อสารไทยเปลี่ยนจากเดิมที่เป็นตลาดมือถือ เริ่มเข้าสู่การขยายฐานลูกค้าที่มีการเติบโตอย่างจำกัด ส่งผลให้เบอร์ 1 อย่าง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ผู้ให้บริการดิจิทัลบนโครงข่ายอัจฉริยะ 5G ที่มีคลื่นความถี่ในการให้บริการมากที่สุดรวม 1460 MHz (นับรวมคลื่นความถี่ที่ร่วมมือกับพันธมิตรรวมถึง บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ซึ่งอยู่ระหว่างการอนุมัติจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.) และมีจำนวนผู้ใช้งานล่าสุดกว่า 45.3 ล้านเลขหมาย (ณ เดือนมิถุนายน 2566)

พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยเทคโนโลยี 5G ผ่าน 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ โทรศัพท์เคลื่อนที่, อินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสูงภายใต้แบรนด์ AIS Fibre, ธุรกิจลูกค้าองค์กร และบริการดิจิทัล 5 ด้าน ได้แก่ วิดีโอ คลาวด์ ดิจิทัลเพย์เมนต์ อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) และบริการร่วมกับพาร์ตเนอร์ตลอดจนขยายสู่กลุ่มธุรกิจใหม่ เพื่อเดินหน้าตามวิสัยทัศน์การเป็นองค์กรโทรคมนาคมเทคโนโลยีอัจฉริยะ หรือ Cognitive Tech-Co ที่พร้อมนำศักยภาพเข้าสนับสนุนความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ ขยายขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรม และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย

ทั้งนี้ ADVANC มีเป้าหมายที่จะเป็นผู้เล่นรายหลักที่มีการเติบโตของผู้ใช้บริการเติบโตในระดับเลข 2 หลักของรายได้ และตั้งเป้าหมายในการสร้างฐานลูกค้ากว่า 2.5 ล้านรายในปีนี้ รวมถึงธุรกิจบริการลูกค้าองค์กรเติบโตด้วยแนวโน้มดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตั้งเป้าหมายการเติบโตในธุรกิจจากผลิตภัณฑ์กลุ่ม CCIID (Cloud, Cyber security, IoT, ICT Solutions, Data Center) พร้อมกับ 5G NextGen Platform และ CloudX ที่รองรับ Data Sovereignty โดยเน้นบริการใน 4 ภาคอุตสาหกรรม คือ การผลิต ค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ และการขนส่ง

แม้ว่า ADVANC จะมีทั้งฐานลูกค้าในมือถือและอินเทอร์เน็ตบ้านอยู่แล้ว แต่ต้องการขยายฐานและสร้างรายได้อย่างก้าวกระโดด จึงเป็นที่มาของการเข้าไปซื้อบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ 3BB และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF เพื่อให้สอดรับกับการขยายฐานการให้บริการในอนาคต

โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2565 ได้อนุมัติให้บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ADVANC เข้าซื้อหุ้นในบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB  ซึ่งเป็นผู้ให้บริการบรอดแบนด์ยี่ห้อ 3BB จากบริษัท อคิวเมนท์ จำกัด (ACU) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS และเข้าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) จาก JAS โดยมีมูลค่ารวม 32,420 ล้านบาท

แบ่งเป็นเข้าซื้อหุ้น TTTBB จำนวน 7,529,242,385 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 99.87% ซึ่งรวมถึงการได้มาซึ่งบริษัทย่อยอีก 2 บริษัท คือ บริษัท ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ต จำกัด และบริษัท อิน คลาวด์ จำกัด และการได้มาซึ่งบริษัท ทรี บีบี จำกัด ตามเงื่อนไขบังคับก่อน คิดเป็นมูลค่ารวม 19,500 ล้านบาท และการเข้าซื้อหน่วยลงทุน JASIF จำนวน 1,520 ล้านหน่วย คิดเป็นสัดส่วน 19% ราคาหน่วยละ 8.50 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 12,920 ล้านบาท (TTTBB เช่าสายไฟเบอร์ของ JASIF ในการดำเนินธุรกิจอยู่) ซึ่งปัจจุบันดีลนี้ยังมีความล่าช้าในการดำเนินการอยู่

อย่างไรก็ตาม ช่วงต้นไตรมาส 2/2566 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีการประชุมเพื่อรับทราบหลักการในการเข้าซื้อ 3BB และ JASIF ของ ADVANC โดยจะมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการ และจัดตั้งที่ปรึกษา เพื่อพิจารณาและดำเนินการในรูปแบบลักษณะคล้ายโรดแมพแบบเดียวกันกับการควบรวมของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ADVANC กล่าวว่า ดีลซื้อ 3BB หากควบรวมกันแล้ว ADVANC  จะเป็นผู้เล่นรายใหญ่ โดยจะเข้ามาช่วยหนุนธุรกิจ Fixed Broadband ซึ่ง 3BB มีลูกค้า 2.4 ล้านราย ขณะที่เอไอเอสไฟเบอร์ มีลูกค้า 2.2 ล้านราย รวมเป็นทั้งสิ้น 4.6 ล้านราย โดยบริษัทวางเป้าหมายรายได้จากการให้บริการในช่วง 3 ปีนี้เติบโตเฉลี่ยปีละ 3-5% แม้จะปรับลดสัดส่วนธุรกิจมือถือลง แต่รายได้ไม่ได้ลดลง แต่จะขยายธุรกิจ Fixed Broadband และกลุ่มลูกค้าองค์กร เพิ่มขึ้นมาเป็น 30% จากที่มีประมาณ 20%

ต่อมา 3BB ได้ส่งจดหมายถึงบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จํากัด (มหาชน) หรือ BBLAM ในฐานะผู้จัดการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF ลงวันที่ 20 มีนาคม 2566 ระบุว่า ไม่สามารถชำระค่าเช่าเส้นใยแก้วนำแสงส่วนที่เหลือของงวดที่ครบกำหนดชำระวันที่ 15 มีนาคม 2566 ให้แก่กองทุน JASIF ได้ โดยได้ชำระค่าเช่าไปเพียงบางส่วนจำนวน 700 ล้านบาท จากทั้งหมด 900 ล้านบาท ซึ่ง 3BB จะต้องชำระค่าเช่าคงค้างส่วนที่เหลือทั้งหมดภายในระยะเวลา 5 วัน นับจากวันครบกำหนดชำระ (Due date) คือ ภายในวันที่ 15 มีนาคม 2566 แต่ระหว่างทาง 3BB ทยอยจ่ายชำระเพิ่มเติมได้เพียง 157 ล้านบาท และปัญหาการไม่สามารถชำระค่าเช่าได้เต็มทั้งจำนวนมาจนถึงปัจจุบัน

 

จากปัญหาดังกล่าว เป็นผลมาจากสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจบรอดแบนด์ และต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น จึงส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสด และหากสถานการณ์การแข่งขันยังคงรุนแรงต่อเนื่อง 3BB อาจมีกระแสเงินสดไม่เพียงพอชำระค่าเช่าให้แก่กองทุนได้ครบจำนวนตามสัญญาเช่า หรือภายในระยะเวลาที่กำหนดในเดือนต่อไป 3BB จึงต้องการให้กองทุน JASIF เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาเพื่อพิจารณาหาแนวทางร่วมกัน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการแข่งขันของธุรกิจบรอดแบนด์ และแนวทางการแก้ไขปัญหาน่าจะมีการปรับโครงสร้างการปรับเปลี่ยนค่าเช่าเพื่อให้ 3BB มีความสามารถในการชำระค่าเช่าได้ในอนาคต

ทาง BBLAM จึงรับคำขอจากทาง JAS ในฐานะผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุน JASIF จำนวน 19% ของหน่วยลงทุนทั้งหมดให้มีการจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหน่วยลงทุนครั้งที่ 1/2566 เพื่อพิจารณาเรื่องต่าง ๆ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตเพื่อให้ 3BB สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ จึงจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหน่วยลงทุนครั้งที่ 1/2566 วันที่ 23 สิงหาคม 2566

วาระสำคัญ ได้แก่ การพิจารณาผ่อนผันการหยุดพักการชำระค่าเช่า และการผิดนัดชำระค่าเช่า ตลอดจนการยกเลิกและแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐาน และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สำหรับการแก้ไขสัญญาครั้งนี้ไม่เป็นการตัดสิทธิของกองทุนรวมที่จะใช้สิทธิในการต่ออายุสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมและแทนที่สัญญาเช่าหลักไปอีก 10 ปี หลังจากวันที่ 29 มกราคม 2575 หากรายได้จากอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในส่วนของค่าบริการ FTTX และ xDSL ของ 3BB ในปี 2573 ตามงบการเงินรวม ไม่น้อยกว่า 40,000 ล้านบาท ตามข้อตกลงเดิมของสัญญาดังกล่าว หากกองทุนใช้สิทธิต่ออายุดังกล่าว และได้เข้าทำสัญญาเช่าฉบับใหม่กับ 3BB แล้ว ให้ถือว่าข้อตกลงตามหนังสือของ JAS ในเรื่องการต่ออายุสิ้นสุดลง รวมถึงการแก้ไขสัญญาแก้ไขเพิ่มเติม และแทนที่สัญญาบริหารดูแลและบำรุงรักษาทรัพย์สิน และสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมและแทนที่สัญญาโอนสิทธิตามสัญญาให้บริการโครงข่าย และแก้ไขโครงการจัดการกองทุนรวมตามที่จำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับมติของที่ประชุมผู้ถือหน่วยลงทุน

การเจรจาระหว่างธนาคารกรุงเทพกับกองทุน JASIF เพื่อปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ และยืดหนี้ คาดว่า จะตกลงกันเพียงเบื้องต้นเท่านั้น แต่ยังไม่มีผลอย่างเป็นทางการ เนื่องจากต้องรอให้เปลี่ยนสปอนเซอร์ใหม่ คือ ADVANC ที่จะเข้ามาแทน JAS ก่อน ถึงจะมีเหตุผลเพียงพอที่จะขอปรับลดดอกเบี้ย เนื่องจาก ADVANC มีฐานะทางการเงินที่ดีและอันดับเครดิตอยู่ในระดับสูงจึงควรมีส่วนลดให้ต่อไป

นางสาวสมฤทัย ตัณฑกิตติ หัวหน้าแผนกงานนักลงทุนสัมพันธ์ ADVANC เปิดเผยว่า ความคืบหน้าของดีล 3BB ทางบริษัทก็อยู่ระหว่างการอนุมัติการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เนื่องจากได้จัดส่งเอกสารไปหมดแล้ว และหลังจากที่ กสทช.จัดโฟกัสกรุ๊ปแล้ว ในส่วนของคณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ ได้แก่  1) เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค 2) สิทธิพลเมือง 3) ด้านกฎหมาย 4) ด้านเศรษฐศาสตร์ และ 5) ด้านเทคโนโลยี โดยคณะอนุกรรมการจะต้องทำการศึกษาข้อมูล และส่งเรื่องให้คณะกรรมการ กสทช.พิจารณาอนุมัติต่อไป ทาง ADVANC ก็อยู่ระหว่างการรอการอนุมัติอยู่

โดยวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหน่วยลงทุน JASIF หากผู้ถือหน่วย มีมติอนุมัติคําขอปรับโครงสร้างข้อตกลงการเช่าใหม่ ของ 3BB ซึ่งการที่ 3BB เข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ของ JASIF เป็นดำเนินการเพื่อให้ทั้ง 3BB และ JASIF อยู่ได้ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม หลัง กสทช.อนุมัติการเข้าซื้อดังกล่าวในอนาคต ด้าน Synergy ที่จะเกิดขึ้นกับการดีล 3BB จะมีทั้งหมด 3 ด้านได้แก่ 1) รายได้ 2) ค่าใช้จ่าย 3) เงินลงทุน ส่วนใหญ่คาดว่าจะมาจากการประหยัดค่าใช้จ่ายเงินลงทุน เนื่องจากสามารถใช้ทีมที่เข้าไปติดตั้ง หรือการทำงานด้านอื่น ๆ ร่วมกัน ทำให้สามารถนำเสนอการให้บริการได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในส่วนของขั้นตอนการอนุมัติการเข้าซื้อกิจการดังกล่าวหลังจาก กสทช.จัดโฟกัสกรุ๊ปและมีการประชุมสรุปไปแล้วหลายเรื่อง ไม่น่ามีปัญหาเพราะไม่มีเรื่องคลื่น โดยจากที่คณะอนุกรรมการพิจารณาเสนอเรื่องเข้ามาภายใน 90 วัน ให้คณะกรรมการ กสทช.พิจารณา หลังจากนั้นก็คาดว่าน่าใช้ระยะเวลาในการดำเนินการไม่นาน

การที่ ADVANC จะเข้ามาแทน JAS ความมั่นคงของ JASIF ก็จะเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาเช่าก็ตาม และการปรับโครงสร้างค่าเช่าใหม่ จะปูทางให้แก่สปอนเซอร์รายใหม่อย่าง ADVANC  ส่วน JAS เองก็จะได้เงินจากการขายหุ้นกว่า 30,000 ล้านบาทไปชำระหนี้…ที่สำคัญจะมีปันผลพิเศษอย่างแน่นอน…แต่จะเท่าไหร่เท่านั้นเอง..!!?

Back to top button