“ดาวโจนส์” ปิดร่วง 367 จุด กังวล “เงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยสูง” กดดันตลาด

ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดที่ 32,417.59 จุด ร่วงลง 366.71 จุด นักลงทุนกังวลว่าอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐจะยังคงอยู่ที่ระดับสูงต่อไป หลังจากการเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ถึงเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์ก ปิดร่วงลงในวันศุกร์ (27 ต.ค.66) โดยถูกกดดันจากการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่เป็นไปอย่างไร้ทิศทาง และนักลงทุนวิตกกว่า อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐจะยังคงอยู่ที่ระดับสูงต่อไป หลังจากการเปิดเผยข้อมูลที่บ่งชี้ถึงเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น

สำหรับดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,417.59 จุด ร่วงลง 366.71 จุด หรือ -1.12%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,117.37 จุด ลดลง 19.86 จุด หรือ -0.48% แต่ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,643.01 จุด เพิ่มขึ้น 47.41 จุด หรือ +0.38%

อีกทั้งดัชนีดาวโจนส์และ S&P500 ปรับตัวลง แต่ดัชนี Nasdaq บวกสวนตลาด โดยได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นอะเมซอนดอทคอม, หุ้นแอปเปิ้ล และหุ้นเมตา แพลตฟอร์มส แต่ดัชนีหุ้นทั้ง 3 ตัวปรับตัวลงมากกว่า 2% ในรอบสัปดาห์นี้ และดัชนี S&P500 ร่วงลง 10.28% แล้วจากระดับปิดสูงสุดเมื่อวันที่ 31 ก.ค.

ทั้งนี้ ตลาดปรับตัวลงจากความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐ หลังกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยในวันศุกร์ว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.4% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากปรับตัวขึ้น 3.4% เช่นกันในเดือนส.ค. และเมื่อเทียบเป็นรายเดือน ดัชนี PCE ทั่วไป ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนก.ย. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.4% เช่นกันในเดือนส.ค.

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 3.7% ในเดือนก.ย. เมื่อเทียบเป็นรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังปรับตัวขึ้น 3.8% ในเดือนส.ค. และเมื่อเทียบเป็นรายเดือน ดัชนี PCE พื้นฐานปรับตัวขึ้น 0.3% สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากปรับตัวขึ้น 0.1% ในเดือนส.ค.

ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

ด้านนักลงทุนเทน้ำหนักเกือบ 100% ในการคาดการณ์ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบายการเงินสัปดาห์หน้า และเพิ่มน้ำหนักในการคาดการณ์ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในเดือนธ.ค. ซึ่งเป็นการประชุมนโยบายการเงินครั้งสุดท้ายในปีนี้

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 99.5% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 31 ต.ค.-1 พ.ย.66 และนักลงทุนยังให้น้ำหนัก 79.9% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 12-13 ธ.ค.66 หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 57.9% ในเดือนที่แล้ว

นอกจากนี้ ตลาดยังถูกกดดันจากการเปิดเผยผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 63.8 ในเดือนต.ค. จากระดับ 68.1 ในเดือนก.ย. แต่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 63.0

โดยผู้บริโภคลดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 4.2% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นจากตัวเลขเบื้องต้นที่ระดับ 3.8% และผู้บริโภคยังคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 3% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ไม่เปลี่ยนแปลงจากการสำรวจเดือนที่แล้ว

ขณะที่บรรดานักลงทุนยังคงมุ่งความสนใจไปที่การเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน โดยบริษัท 245 แห่งในดัชนี S&P500 รายงานผลประกอบการออกมาแล้ว ซึ่ง 78% รายงานผลประกอบการที่ดีกว่าคาด

ราคาหุ้นของบริษัทอะเมซอนดอทคอม พุ่งขึ้น 6.8% หลังเปิดเผยกำไรและรายได้สูงกว่าคาดในไตรมาส 3/2566

ราคาหุ้นบริษัทอินเทล คอร์ป ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของสหรัฐ พุ่งขึ้น 9.3% หลังบริษัทเปิดเผยตัวเลขคาดการณ์กำไรและรายได้ในไตรมาส 4/2566 สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

ดัชนีหุ้นกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ที่ตลาดหุ้นฟิลาเดลเฟีย พุ่งขึ้น 1.2%

ในบรรดาหุ้น 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 นั้น หุ้นกลุ่มพลังงานร่วงลงมากที่สุด ขณะที่หุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย, กลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มบริการด้านการสื่อสารปรับตัวขึ้น

หุ้นเชฟรอน ร่วง 6.7% หลังรายงานผลกำไรไตรมาส 3 ลดลง และหุ้นเอ็กซอน โมบิล ร่วง 1.9% หลังเผยผลกำไรลดลง 54% เมื่อเทียบเป็นรายปี

หุ้นฟอร์ด มอเตอร์ ร่วง 12.2% หลังยกเลิกการคาดการณ์ผลประกอบการทั้งปี เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการทำข้อตกลงกับสหภาพแรงงานยานยนต์ และบริษัทเตือนเกี่ยวกับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า

Back to top button