ฉลุย! “บอร์ดอีวี” เคาะมาตรการอุดหนุน EV3.5 ดันไทยขึ้นแท่นฮับผลิตอันดับ 1 ในภูมิภาค

ฉลุย! “บอร์ดอีวี" เคาะมาตรการอุดหนุน EV3.5 กลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคล-กระบะคันละ 50,000-100,000 บาท ระยะเวลา 4 ปี (67-70) พร้อมมุ่งสู่เป้าหมาย 30@30 ในปี 73 ดันไทยนั่งฮับผลิตอันดับ 1 ในภูมิภาค โบรกฯมองกลุ่มนิคมฯ-ผู้ประกอบการรถยนต์ไฟฟ้า จับตา WHA-EA-NEX รับประโยชน์มากสุด ลุ้นพรุ่งนี้วิ่งคึก


นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เปิดเผยว่า วันนี้(1พ.ย.66)บอร์ดอีวีชุดใหม่ซึ่งมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธาน ได้ให้ความสำคัญในการผลักดันให้ไทยเป็นฮับการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค ตามนโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าหมายการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมด ภายในปี 73 คิดเป็นกำลังการผลิตรถยนต์ประมาณ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ประมาณ 675,000 คัน

ทั้งนี้บอร์ดอีวีได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ในช่วงระยะเวลา 4 ปี (พ.ศ. 2567-2570) เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ๆ และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนที่ครอบคลุมทั้งรถยนต์นั่ง รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการ EV3 สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการใหม่นี้เพิ่มเติมได้ โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของแต่ละมาตรการด้วย

สำหรับมาตรการ EV 3.5 รัฐจะให้เงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ตามประเภทของรถ และขนาดของแบตเตอรี่ ดังนี้

– กรณีรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุนระหว่าง 50,000-100,000 บาท/คัน สำหรับขนาดแบตเตอรี่ต่ำกว่า 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุนระหว่าง 20,000-50,000 บาท/คัน

– กรณีรถกระบะไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh จะได้รับเงินอุดหนุนระหว่าง 50,000-100,000 บาท/คัน

– กรณีรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 150,000 บาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 kWh จะได้รับเงินอุดหนุนระหว่าง 5,000-10,000 บาท/คัน

ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหารือร่วมกัน เพื่อกำหนดอัตราเงินอุดหนุนที่เหมาะสม และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป

นายนฤตม์ กล่าวว่า มาตรการ EV 3.5 จะมีการลดอากรนำเข้าไม่เกิน 40% สำหรับการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูป (CBU) ในช่วง 2 ปีแรก (พ.ศ.2567-2568) กรณีเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และลดอัตราภาษีสรรพสามิตจาก 8% เหลือ 2% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท

โดยได้ตั้งเงื่อนไขกระตุ้นการลงทุนในประเทศ ให้ผู้ได้รับการสนับสนุนผลิตเพื่อชดเชยการนำเข้าภายในปี 69 ในอัตราส่วน 1 : 2 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน) และจะเพิ่มอัตราส่วนเป็น 1 : 3 ภายในปี 70 พร้อมทั้งกำหนดให้แบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปที่นำเข้า และผลิตในประเทศไทยจะต้องได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และต้องผ่านการทดสอบมาตรฐานตามมาตรฐานสากลจากศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC)

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้กรมสรรพสามิตขยายเวลาการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิตามมาตรการ EV 3 จากเดิมที่ต้องจดทะเบียนภายในวันที่ 31 ธ.ค. 66 ให้ขยายเวลาเป็นต้องจำหน่ายภายในวันที่ 31 ธ.ค. 66 และต้องจดทะเบียนภายในวันที่ 31 ม.ค. 67 เพื่อให้ผู้บริโภคที่จะตัดสินใจซื้อยานยนต์ไฟฟ้าภายในงาน Thailand International Motor Expo ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนธ.ค. 66 ยื่นจดทะเบียนได้ทันภายในเดือนม.ค. 67

“มาตรการ EV 3.5 ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทย ที่ต้องการผลักดันให้เกิดความต่อเนื่องของนโยบายในการสนับสนุนให้ไทยเป็นฮับยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค และดึงนักลงทุนรายใหม่ให้เข้ามาตั้งฐานผลิตในประเทศ รวมถึงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการรายเดิมเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับฐานการผลิตยานยนต์ของประเทศไทย และทำให้ไทยสามารถรักษาความเป็นผู้นำด้านยานยนต์อันดับ 1 ในอาเซียน และ 1 ใน 10 ของโลก รวมทั้งสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการลดก๊าซเรือนกระจก และก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ.2050” นายนฤตม์ กล่าว

สำหรับมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะแรก หรือ EV 3 ในปี 65 ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมมาตรการสนับสนุนฯ แล้ว รวมทั้งสิ้น 13 แบรนด์ จาก 15 บริษัท ทั้งในประเภทรถยนต์นั่งไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า สร้างผลสำเร็จในการกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย

โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย. 66) มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่จำนวน 50,340 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 7.6 เท่า และนับตั้งแต่มีการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่ปี 60 ได้ก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า มูลค่ารวม 61,425 ล้านบาท จากโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ การผลิตชิ้นส่วนสำคัญ รวมถึงสถานีอัดประจุไฟฟ้า

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด มองประเด็นดังกล่าวเชิงบวกต่อผู้ประกอบการ EV หรือผู้ผลิตแบตเตอรี่ที่เกี่ยวเนื่องกับรถ EV ซึ่งคาดจะช่วยให้หุ้นในกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ กลับเข้ามาอยู่ในกระแสได้อีกครั้ง โดยหาจังหวะเข้า TRADING ช่วงสั้น ตามทิศทางของกระแสข่าวดังกล่าวได้ โดยฝ่ายวิจัยมองผู้ประกอบการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระแสดังกล่าว ได้แก่ 1. กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม อาทิ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA 2. กลุ่มผู้ประกอบการรถยนต์ไฟฟ้า อาทิ  บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA, บริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT

3.กลุ่มผู้ผลิตแบตเตอรี่ อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT, GPSC, EA 4. กลุ่มสถานีชาร์จไฟฟ้า อาทิเช่น EA, บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR และ 5. กลุ่มชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA, บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE, บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA

Back to top button