“ดีเอสไอ” เร่งคลี่คดีหมูเถื่อน จับชิปปิ้ง 6 ราย เตรียมขยายเอาผิดกลุ่มทุน

อธิบดีดีเอสไอ เผยคืบหน้าคดีหมูเถื่อน จับแล้วชิปปิ้ง 6 ราย ออกหมายจับอีก 2 คนที่เอี่ยวกลุ่มทุน มีขรก.กรมปศุสัตว์จ่อให้ข้อมูลเพิ่มเติม


จากกรณีการปราบปราบจับกุมเรื่องขบวนเนื้อสุกรเถื่อนแช่แข็ง ล่าสุดวันนี้ (13 พ.ย.66) พ.ต.ต.สุริยา สิงกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้เปิดเผยในรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ โดยระบุว่า ความคืบหน้าในคดีหมูเถื่อนนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าดีเอสไอได้ดำเนินคดีกับของกลาง 161 ตู้ที่ตกค้างที่แหลมฉบัง ทำให้เราพบพฤติกรรมของกลุ่มผู้ต้องหา 3 กลุ่มด้วยกัน แบ่งเป็น 1.บริษัทชิปปิ้งที่นำเข้ามา โดยได้แจ้งข้อกล่าวหากับบริษัทที่จับได้ไปจำนวน 6 คน โดยสามารถจับกุมตัวได้ทั้งหมดและให้การเป็นประโยชน์ โดยบอกว่ามีกลุ่มที่สั่งให้มีการนำเข้า ต่อมาเป็นกลุ่มที่ 2. กลุ่มนายทุนก็คือ มีพฤติการณ์ 2 คน ซึ่งก็ได้มีการออกหมายจับ โดยผู้ต้องหาหลบหนีอยู่ที่ต่างประเทศ ซึ่งทั้ง 2 คนจะเข้ามอบตัวในสัปดาห์นี้

สำหรับประเด็นสำคัญก็คือในกลุ่มที่ 2 นี้เจ้าหน้าที่เคยไปค้นมาแล้วที่เขตดอนเมือง จนทำให้เห็นว่ามีหมูที่ยังตกค้างอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งก็ไปตรวจค้นแล้ว ทำให้ยึดของกลางได้อีกที่เป็นของสุกรอีกจำนวน 75 ตัน  ดังนั้นก็เป็นหลักฐานแน่ชัดว่าในเบื้องต้น กลุ่มนายทุนทั้ง 2 เป็นตัวไขถึงคนที่อยู่เบื้องหลังที่ใหญ่กว่านี้ ซึ่งเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่

โดยการบปฏิบัติการนั้นที่ทางดีเอสไอมาจากคนที่ได้รับแจ้งมา ซึ่งก็ขอบคุณที่มีการให้ข้อมูล ทำให้ดีเอสไอนำข้อมูลเหล่านี้มาเป็นพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดให้ได้ โดยการที่ดีเอสไอจะจับนายทุนที่เป็นนายทุนใหญ่นั้นต้องดำเนินการด้วยความละเอียด ตามระเบียบขั้นตอนต้องทำอย่างระมัดระวัง ในวันนี้มีหลักฐานเอาผิดได้ แต่ต้องรอสักนิดหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้มีการกำชับมาโดยตรง

พ.ต.ต.สุริยา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับบริษัทที่จับได้นี้เราต้องการดำเนินการให้เห็นว่าแผนของคนกลุ่มนี้ดำเนินการอย่างไร ที่ดำเนินการตั้งต้นทางคือชิปปิ้ง-ผู้สั่งเข้า-ไปจนถึงจำหน่ายจ่ายแจกผู้บริโภค ว่าเป็นใครบ้าง ซึ่งเราก็นำเอาบริษัทสายที่มีผลกระทบเดือดร้อนมากที่สุดมาดำเนินการก่อน ซึ่งยังมีอีกที่เป็นนายทุนใหญ่  ส่วนที่ใหญ่กว่านี้จะเป็นดีมานด์ เป็นกลุ่มทุนทั้งมีความต้องการใช้ประโยชน์จากหมูเถื่อนที่นำมาขายต่อ ซึ่งทั้ง 2 บริษัทนี้จะดำเนินการอย่างเปิดเผยไม่ได้ ถ้าไม่มีคนที่มีกำลังไปรับซื้อต่อ

ส่วนขาใหญ่ที่เป็นกลุ่มทุนเบื้องหลังนั้น ตอนนี้ทางดีเอสไอมีข้อมูลเยอะมากพอสมควรแล้ว เรามีพยานหลักฐานที่สามารถเอาผิดได้ ซึ่งตอนนี้ทางดีเอสไอได้ค้น 2 บริษัทก็ได้ยึดหลักฐานทั้งหมด ตอนนี้ถ้าไม่มามอบตัวดีเอสไอก็จะดำเนินการได้ โดยมีการแกะรอยจากเส้นทางการเงิน หลังจากนี้ 1 เดือนจะเห็นการจับขาใหญ่ในเรื่องนี้แน่นอน

นอกจากนี้ในขณะเดียวกันก็จะมีข้าราชการที่มีตำแหน่งเป็นหน้าด่านของกรมปศุสัตว์มาให้การกับดีเอสไอ โดยเป็นการมาให้ข้อมูล เรื่องนี้หลังจากดำเนินการจากนายทุนแล้ว ก็คาดว่าจะมีข้าราชการเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งก็จะต้องดำเนินการด้วย.

มีรายงานเพิ่มเติมว่า คณะพนักงานสอบสวนได้มีการแบ่งกลุ่มผู้กระทำความผิดออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มบริษัทนำเข้า ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้ว 6 ราย ประกอบด้วย
1.น.ส.มณีวรรณ จิรวรวงศ์ อายุ 38 ปี กรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท อาร์.ที.เอ็น.โอเวอร์ซี จำกัด
2.นายโดม วัจนคุปต์ อายุ 45 ปี กรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท เดอะ คิวบ์ โลจิสติกส์ จำกัด
3.น.ส.นัทธมน สมบุญ อายุ 42 ปี กรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท กู๊ด วอเตอร์ อีควิปเม้นท์ จำกัด
4.นายณัฐวุฒิ กันพร้อม อายุ 32 ปี กรรมการผู้มีอำนาจลงนามของห้างหุ้นส่วนจำกัด กันตา ไทยโฟรเซ่นฟิช KANTA THAI FROZEN FISH LIMITED PARTNERSHIP
5.น.ส.เจนจิรา พรรัตนกุล อายุ 40 ปี กรรมการผู้มีอำนาจลงนามของห้างหุ้นส่วนจำกัด กันตา ไทยโฟรเซ่นฟิช KANTA THAI FROZEN FISH LIMITED
6.นายศักดา ทองถนอม อายุ 51 ปี กรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท มายเฮ้าส์ เทรดดิ้ง จำกัด MY HOUSE TRADING CO.,LTD. ในความผิดฐานนำของผ่านหรือกำลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดเกี่ยวกับของนั้น ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 และความผิดฐานนำเข้า ส่งออกหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558

2.กลุ่มนายทุน ซึ่งเป็นผู้รับหน้าที่สั่งให้มีการนำเนื้อหมูเข้ามาในประเทศไทย ได้มีการออกหมายจับ 2 ราย ประกอบด้วย
1.นายวิรัช ภูริฉัตร อายุ 69 ปี กรรมการผู้มีอำนาจลงนามของบริษัท เว้ลท์ซี่ แอนด์ เฮ็ลธ์ซี ฟูดส์ จำกัด WEALTY & HEALTHY FOODS CO.,LTD. และบริษัท เดอะ กู๊ด ช็อป จำกัด THE GOOD SHOP CO.,LTD
2.นายธนกฤต ภูริฉัตร อายุ 42 ปี (บุตรชายของนายวิรัช ภูริฉัตร)

ในความผิดฐานโดยหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียอากร โดยเจตนาจะฉ้ออากรที่ต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ โดยหลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้นและนำเข้า ส่งออกหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย ตามกฎหมาย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 243 มาตรา 244 และ พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 31 ประกอบมาตรา 68 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 โดยทั้งคู่จะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันพรุ่งนี้ (14 พ.ย.) และ 3.กลุ่มผู้ดูแลเรื่องห้องเย็น ซึ่งมีหน้าที่กระจายเนื้อหมูเถื่อนไปแช่แข็ง.

Back to top button