KBANK ชี้กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า 35.70-36.20 บ. จับตาฟันด์โฟลว์-ถ้อยแถลงเฟด

KBANK มองกรอบการเคลื่อนไหวของ “ค่าเงินบาท” ในสัปดาห์หน้า (12-16 ก.พ. 67) ที่ระดับ 35.70-36.20 บาท/ดอลลาร์ พร้อมแนะจับตาฟันด์โฟลว์-ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ “เฟด” - GDP ไตรมาส 4/66 ของญี่ปุ่น-อังกฤษ-ยูโรโซน


ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK มองกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้า (12-16 ก.พ. 67) ที่ระดับ 35.70-36.20 บาท/ดอลลาร์ จากปิดตลาดวันศุกร์ที่ 9 ก.พ. 67 ที่ระดับ 35.90 บาท/ดอลลาร์

ทั้งนี้ ในช่วงต้นสัปดาห์ เงินบาทอ่อนค่าลงตามสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ท่ามกลางแรงหนุนของเงินดอลลาร์ จากตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ ซึ่งออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด แต่เงินบาทสามารถฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนในช่วงต่อมาตามเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้นช่วงสั้นๆ รับสัญญาณการเข้าดูแลเสถียรภาพตลาดหุ้นของทางการจีน ประกอบกับน่าจะมีแรงซื้อคืนเงินบาทเพื่อปรับโพสิชั่นก่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กลางสัปดาห์

อย่างไรก็ดี เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้งในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ หลังผลการประชุมกนง. ซึ่งมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% และได้ปรับลดตัวเลขประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ลงมา

นอกจากนี้เงินบาทยังอ่อนค่าลงตามทิศทางเงินเยน หลังจากผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กล่าวว่า BOJ จะยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปอีกระยะ แม้อาจจะมีการยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในระยะข้างหน้า ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นรับถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่สะท้อนว่า จังหวะการลดดอกเบี้ยของสหรัฐฯ อาจไม่เกิดขึ้นเร็ว เนื่องจากเฟดต้องการมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวเข้าสู่ระดับเป้าหมายที่ 2%

สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 5-9 ก.พ. 67 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 1,028 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 11,917 ล้านบาท (ขายสุทธิพันธบัตร 9,917 ล้านบาท และตราสารหนี้หมดอายุ 2,000 ล้านบาท)

ส่วนปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์หน้า ได้แก่ ทิศทางเงินลงทุนต่างชาติและถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภค, ยอดค้าปลีก, การผลิตภาคอุตสาหกรรม, ดัชนีราคาผู้บริโภค, ดัชนีราคาผู้ผลิตและตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านเดือน ม.ค., ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย, ดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือน ก.พ. และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามตัวเลขจีดีพีไตรมาส 4/66 ของญี่ปุ่น อังกฤษและยูโรโซน และตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือน ม.ค. ของอังกฤษด้วยเช่นกัน

Back to top button