โบรกเชียร์ซื้อ AOT เป้าสูงสุด 77 บาท ชี้กำไรปีนี้แตะ 2.48 หมื่นล้าน

โบรกเชียร์ซื้อ AOT เป้าสูงสุด 77 บาท หลังโชว์กำไรไตรมาส 1/67 โต 12 เท่าตัว แตะ 4.5 พันล้านบาท พร้อมคาดไตรมาส 2/67 แนวโน้มโตต่อเนื่องอานิสงส์ท่องเที่ยวฟื้นรับมาตรการฟรีวีซ่า ไทย-จีน และคาดกำไรปี 67 แตะ 2.48 หมื่นล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2567 ระหว่างเดือน (ต.ค.-ธ.ค.66) ซึ่งมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 4,563.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,231.23% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 342.77 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากบริษัทฯมีรายได้จากการขายหรือการให้บริการเพิ่มขึ้น 6,883.62 ล้านบาท หรือร้อยละ 78.01 จากการเพิ่มขึ้นทั้งรายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน 2,725.56 ล้านบาท หรือร้อยละ 62.64 และรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน 4,158.06 ล้านบาท หรือร้อยละ 92.96 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสาร รวมถึงรายได้อื่นเพิ่มขึ้น 33.68 ล้านบาท หรือร้อยละ 70.09 ขณะที่ต้นทุนทางการเงินลดลง 36.15 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.96

อย่างไรก็ตามจากการรายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2567 ของ AOT บริษัทฯมีกำไรเพิ่มขึ้นนั้น ล่าสุดบริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ได้ระบุในบทวิเคราะห์ถึงแนวโน้มการเติบโตของ AOT พร้อมกับคำแนะนำในการลงทุน ดังต่อไปนี้

โดยทางบล.พาย ระบุในบทวิเคราะห์ว่า จากกรณี AOT ประกาศกำไรสุทธิงวดไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 4,563 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,231% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 33% จากไตรมาสก่อนหน้า ถ้าไม่รวมรายการพิเศษอย่างขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์กำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์ และกำไรจากตราสารอนุพันธ์บริษัทฯจะมีกำไรสุทธิ 4,645 ล้าบบาท เพิ่มขึ้น 966% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 28% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ 14% โดยเกิดจากรายได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์ต่ำกว่าคาดการณ์

สำหรับรายได้อยู่ที่ 15,708 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 78% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 2% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยแบ่งเป็นรายได้ที่เกี่ยวกับการบิน 7,077 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 12% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นการเติบโตทุกด้านรวมทั้งรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการบิน 8,631 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 93% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 5% จากไตรมาสก่อน โดยสาเหตุการลดลงจากไตรมาส 4/2566 เนื่องจากในช่วงไตรมาส 4/2566 มีการบันทึกรายการปรับปรุงเข้ามา 2 รายการคือค่าเช่าสำนักงานประมาณ 500 ล้านบาท และส่วนแบ่งผลประโยชน์อีกประมาณ 350 ล้านบาท โดยหากไม่รวมรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับการบินจะเพิ่มขึ้นประมาณ 5% จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อนหน้า

ทั้งนี้ ตัวเลขผู้โดยสารช่วงไตรมาส 1/2567 (ต.ค.-ธ.ค. 66) มีจำนวน 28.9 ล้านคน เพิ่มขึ้น 12% จากไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 26% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับเที่ยวบินมีจำนวน 178,224 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 8% จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อนหน้า และเพิ่มขึ้น 19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยต้นทุนหลักรวมที่ 8,547 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนใหญ่มาจากผลของการเปิดอาคาร SAT-1 ที่ทำให้มีจำนวนพนักงาน รวมถึงค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับ ไตรมาส 4/2566 จะลดลง 8% จากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากไม่มีการบันทึกรายการปรับปรุงโบนัสพนักงานเข้ามา รวมถึงมีค่าสาธารณูปโภคที่ลดลงตามค่า FT ของไฟฟ้า

โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าแนวโน้มผลประกอบการงวดไตรมาส 2/2567 จะยังเห็นการเติบโตได้ จากผลดีของการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว เห็นได้จากนักท่องเที่ยวเดือนมกราคม ที่เพิ่มถึง 42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และการเปิดฟรีวีซ่าประเทศจีนที่จะเริ่มในวันที่ 1 มีนาคม นี้ และสำหรับแผนการขยายสนามบินในส่วนของสนามบินสุวรรณภูมิคาดว่ารันเวย์ 3 จะเสร็จช่วงกลางปีนี้ หลังจากนั้นจะเริ่มก่อสร้างส่วนต่อขยายฝั่งตะวันออกตามมา ส่วนสนามบินเชียงใหม่ส่วนต่อขยายคาดการณ์ว่าจะก่อสร้างปี 2568 และภูเก็ตส่วนต่อขยายสร้างในปี 2569

ทั้งนี้ ยังคงแนะนำ “ซื้อ” แม้กำไรสุทธิในช่วงไตรมาส 1/2567 จะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 20% ของกำไรทั้งปีที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดยมองว่าผลประกอบการงวดไตรมาส 2/2567 จะยังเห็นการขยายตัวได้จากสาเหตุข้างต้น โดยประเมินมูลค่าเหมาะสมที่ 74 บาท

ด้าน บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์ว่าต้นทุนเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1/2567 จากค่าเสื่อมราคาที่เกี่ยวข้องกับ SAT-1 เพิ่มขึ้นเป็น 580 ล้านบาทต่อไตรมาส (จากเดิมคาดการณ์ไว้เพียง 300 ล้านบาท) และค่าใช้จ่ายพนักงานเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการจ้างพนักงานเพิ่ม และมีการตั้งสำรองสำหรับจ่ายโบนัสพนักงาน โดย AOT ยังคงประมาณการณ์จำนวนผู้โดยสารเต็มปีของปี 2567 ที่ 120 ล้านคน ซึ่งต่ำกว่าประมาณการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 127 ล้านคน แต่เพิ่มขึ้นจาก 100 ล้านคนในปี 2566 และขยับเข้าใกล้ 142 ล้านคนในปี 2562 ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะผู้โดยสารชาวจีนที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาเป็นเฉลี่ย 27,000 คน/วัน (จากเดิมเพียง 13,000 คน/วัน ก่อนจะมีมาตรการยกเว้นวีซ่าไทย-จีน)

นอกจากนี้ AOT มีแผนจะเพิ่มความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของสนามบินจาก 117 ล้านคนต่อปี เป็น 200 ล้านคนต่อปีภายในปี 73 ซึ่งประกอบด้วย 1.แผนใช้งบ 1.07 หมื่นล้าน บาทในปี 2567 เพื่อสร้าง runway ที่สาม (6.4 พันล้านบาท) ที่สนามบินสุวรรณภูมิและโครงการอื่นๆ 2.ส่วนต่อขยายทางทิศตะวันออกของสนามบินสุวรรณภูมิกำหนด COD ใน ปี 2570 ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 75 ล้านคน จาก 60 ล้านคน 3.การขยายสนามบินดอนเมือง (เฟสที่ 3) โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2573 โดยจะทำให้ ความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 50 ล้านคนจาก 30 ล้านคน 4.ในการรับโอนสนามบินสามแห่งที่ปัจจุบันอยู่ภายใต้กรมท่าอากาศยานขอใบอนุญาตดำเนินการ สนามบินทั้งสามแห่ง ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในปี 2567 และ 5. AOT จะจัดเปิดประมูลสัญญาให้บริการภาคพื้นดินที่สนามบินสุวรรณภูมิในปี 2567

โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางผ่านสนามบินของ AOT ระหว่างวันที่ 1-10 กุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งถึง 26% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งนักวิเคราะห์ยังคงมองบวกกับแนวโน้มระยะยาวของ AOT เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนที่เพิ่มขึ้นจะช่วยหนุนรายได้จากสัมปทาน และ PSC ทั้งนี้ คงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายปี 2567 ที่ 75 บาท

ขณะที่ บล.เกียรตินาคินภัทร ระบุในบทวิเคราะห์ว่า จากการที่ AOT รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/2567 โดยมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 4.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,231% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 33% จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ 11% โดยกำไรงวดไตรมาส 1/2567 คิดเป็น 18% ของกำไรทั้งปีที่ KKPS คาดการณ์ไว้แล้ว 19% ของกำไรทั้งปีที่ตลาดคาดไว้ แม้กำไรในไตรมาสที่ 1 จะต่ำกว่าคาด แต่ KKPS ยังคงมองว่าการดำเนินงานจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปีนี้ ซึ่ง AOT กำลังมองหาที่ปรึกษาเพื่อช่วยศึกษาการขึ้นราคาค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน (Passenger Service Charge:PSC) ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาราว 1 ปีก่อนจะพร้อมเสนอ CAAT เพื่อขออนุมัติ

สำหรับการเติบโตของรายได้ AOT ยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยรายได้จากทางอากาศเห็นการปรับตัวสูงขึ้น แต่รายได้จากส่วนอื่นที่ไม่ใช่ภาคอากาศนั้นเห็นการเติบโตที่ต่ำกว่าคาดการณ์ แม้ว่าจะมีตัวเลขนักท่องเที่ยวขาเข้าที่สูงขึ้นก็ตาม แต่นั่นเป็นเพราะฐานที่ต่ำ ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้รายได้ทั้งหมดเพิ่มขึ้น 78% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 2% จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเพิ่มขึ้นต่ำกว่าคาดการณ์เล็กน้อย

โดยแม้ว่าบริษัทจะมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากการเปิด SAT-1 แต่ AOT ยังเห็นการเพิ่มขึ้นของมาร์จิ้นที่ค่อนข้างแข็งแกร่งทั้ง จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อนหน้า จากรายได้ที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมดเพิ่มขึ้น 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 20% จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสที่ 1 ส่วน EBITDA Margin กลับมาเพิ่มขึ้นแตะระดับ 60% จากเดิม 49% ของไตรมาสก่อนหน้าและ 40% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า นอกจากนั้นแล้วค่าเสื่อมราคายังเพิ่มขึ้น 27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 22% จากช่วงเดียวกันของไตรมาสก่อนหน้า จากเทอมินอลใหม่ที่เพิ่มเปิด ส่วน net margin เพิ่มขึ้นแตะ 29% จาก 22% ในไตรมาสก่อนหน้า และ 4% ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ยังอยู่ต่ำกว่า 45% ที่เคยทำไว้ก่อนโควิด

ดังนั้น KKPS คงคำแนะนำ “ซื้อ” ที่ราคาเป้าหมาย 77 บาท โดยคาดการณ์ว่ากำไรในปีนี้จะเติบโตขึ้นอย่างมากแตะ 2.48 หมื่นล้านบาท และ 3.47 หมื่นล้านบาทในปีหน้า

Back to top button