“แบงก์ชาติ” เล็งหารือ สศช. ปรับจ่ายขั้นต่ำ “บัตรเครดิต” เหลือ 5%

“แบงก์ชาติ” เตรียมหารือ สศช. ถึงเรื่องการปรับจ่ายขั้นต่ำ “บัตรเครดิต” จากเดิม 8% เป็น 5% ลดภาระลูกหนี้ มองการลดดอกเบี้ยช่วยเอสเอ็มอี เรื่องของการเข้าถึงสินเชื่อเป็นประเด็นน่าสนใจกว่าเรื่องดอกเบี้ย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ 19 ก.พ 67 นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการปรับจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิต เป็นการทยอยปรับจาก 5% เป็น 8% ในปี 2567 และจะเป็น 10% ตามปกติในปี 2568 ซึ่งข้อเสนอของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่มีการให้ปรับลดจ่ายขั้นต่ำของบัตรเครดิตนั้น จะต้องหารือกันใน ธปท. และร่วมกับ สศช. ก่อน

ขณะที่ลูกหนี้ผ่อนจ่ายไม่ไหว มั่นใจผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต 11 ราย ทั้งแบงก์และนอนแบงก์ จะเสนอความช่วยเหลือลูกค้า สามารถเปลี่ยนเป็นสินเชื่อมีระยะเวลา และลดดอกเบี้ยลงด้วย

“การเพิ่มจ่ายหนี้บัตรจาก 5% เป็น 8% จะเจ็บระยะสั้น แต่ระยะยาวหากหนี้บัตรเฉลี่ย 80,000 บาท ดอกเบี้ย 16% ต่อปี ผ่อนขั้นต่ำถ้าไม่ต่ำกว่า 500 บาท จะจ่ายไปอีก 6 ปี 8 เดือนถึงจะหมด เสียดอกเบี้ย 27,000 บาท แต่ถ้าจ่ายขั้นต่ำ 5% ไปเรื่อยๆ จะใช้เวลาถึง 10 ปี 3 เดือน กว่ายอดหนี้ 80,000 บาทจะหมด” นางสาวสุวรรณี กล่าว

 อย่างไรก็ดีในกรณีการลดดอกเบี้ยช่วยเอสเอ็มอีนั้น มองว่าการเข้าถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอี เป็นประเด็นมากกว่าเรื่องดอกเบี้ย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างมีการหารือและข้อเสนอกับภาครัฐ ในเรื่องให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อ ได้ผ่านบริษัทเครดิตการันตี เพื่อปิดความเสี่ยงหากไม่มีหลักประกัน จากที่ปัจจุบันบริษัทเครดิตการันตีในไทยพึ่งพางบประมาณ จึงต้องหาวิธีอาจให้ธนาคารเข้ามาช่วย

โดย ธปท. กำลังพยายามศึกษา แก้ไขปัญหา เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อ คิดว่าถ้ามีบริษัทเครดิตการันตีมีมาค้ำประกัน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงได้ ยอมรับว่าทุกคนอยากจ่ายดอกเบี้ยถูก แต่มองว่าการเข้าถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอี เป็นประเด็นมากกว่าราคาหรือดอกเบี้ย

X
Back to top button