GABLE-BE8-BBIK จ่อรับงานใหญ่! หลังคลังคลอดเกณฑ์จัดตั้ง “เวอร์ชวลแบงก์”

GABLE- BE8- BBIK รับผลบวกจัดตั้งธนาคารไร้สาขา หรือ “เวอร์ชวลแบงก์” ยันพร้อมเข้าไปพัฒนาระบบ “ดร.ชัยยุทธ” จาก GABLE ลั่น! ประสบการณ์เพียบ โชว์จุดแข็งสร้าง background ด้านไอที ด้านโบรกฯ มองบวกกับหุ้นที่เตรียมลงชิงใบอนุญาต ทั้ง ADVANC, GULF, OR, TRUE ยัน ไม่กระทบธนาคารดั้งเดิม


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (5 มี.ค.) กระทรวงการคลังได้ประกาศหลักเกณฑ์จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank : VB) ไม่จำกัดไลเซนส์ และเริ่มขอจัดตั้งภายใน 6 เดือน เริ่มวันที่ 20 มี.ค. 2567 นี้ โดยให้อยู่ภายใต้กำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. และได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากนั้น

ทั้งนี้ พบว่านอกเหนือจากหุ้นที่เตรียมเข้าร่วมชิงใบอนุญาตแล้ว ยังมีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการวางระบบของธนาคารไร้สาขา (หุ้นเหาฉลาม) จะได้รับประโยชน์ด้วย

โดยดร.ชัยยุทธ ชุณหะชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีเอเบิล จำกัด (มหาชน) หรือ GABLE เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า บริษัทพร้อมที่จะสนับสนุน หรือ Support เรื่องของดิจิทัลทุกรายที่ได้ใบอนุญาตธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank หรือผู้ยื่นขอใบอนุญาต โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Infrastructure ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Virtual Bank แต่บริษัทไม่ได้ไปจับมือเป็นพันธมิตรเพื่อยื่นขอใบอนุญาตแต่อย่างใด

“นโยบายของเราจะเป็นแค่ผู้สนับสนุนเท่านั้น หรือ TIER 2 เพราะเรามีประสบการณ์จะรับงานได้ทุกเจ้า ไม่ว่าจะเจ้าไหน BID ได้ก็ตาม จุดแข็งเราจะสร้าง background ด้านไอที ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีของเรา” ดร.ชัยยุทธ กล่าว

นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK กล่าวว่า จากกรณีที่ทางกระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องหลักเกณฑ์ฯ การขอและการออกใบอนุญาต Virtual Bank ทางบริษัทมีทีมงานที่มีความรู้ที่รองรับ และสนับสนุนการนำมาใช้งานเพื่อขอใบอนุญาต Virtual Bank ให้กับภาคเอกชน ในฐานะผู้เชี่ยวชาญและให้คำปรึกษา ซึ่งบริษัทสามารถให้บริการได้ ตั้งแต่ 1)การวางกลยุทธ์ในภาพรวม และการสร้างรายได้ 2)ระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น ฝาก ถอน โอน จ่าย ซึ่งปัจจุบัน BBIK ก็มีลูกค้าที่เป็นสถาบันการเงิน ธนาคารขนาดใหญ่อยู่แล้ว จึงมีความเชี่ยวชาญในระบบดิจิทัลดังกล่าว และ 3)Data ที่ถือเป็นหนึ่งในนโยบายของ Virtual Bank ที่อยากให้มีการใช้ Data ในการพิจารณาสินเชื่อ และบริการลูกค้าต่าง ๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน BBIK ยังอยู่ระหว่าการพูดคุยให้ข้อมูลกับลูกค้ากลุ่มสถาบันการเงินธนาคารแห่งหนึ่ง คาดว่าหากกระบวนการขอใบอนุญาตมีความชัดเจน ก็คาดว่าน่าจะได้งาน Virtual Bank เนื่องจากบริษัทมีจุดเด่นในขีดความสามารถในการดำเนินการได้ที่เป็นบริษัทในประเทศ

นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากมีการขอใบอนุญาต Virtual Bank ได้ไม่จำกัด ระยะเวลาการขออนุญาตภายใน 9 เดือน ก็มองว่าเป็นกลางต่อกลุ่มธนาคาร เนื่องจากธนาคารก็มีการรุกในส่วนของ Digital Banking อยู่แล้ว และเริ่มมีการเปิดตัวระบบบัญชีออนไลน์แบบไม่มีสมุดบัญชี

ทั้งนี้ มองว่าจะเป็นบวกต่อกลุ่มที่อยากทำธุรกิจนี้มากกว่า ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC, บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR, บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF และกลุ่ม บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE เป็นต้น รวมทั้งกลุ่มที่เป็นกลุ่มพัฒนาระบบ และให้คำปรึกษาด้าน CyberSecurity เช่น บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK, บริษัท เบริล 8 พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ BE8, บริษัท จีเอเบิล จำกัด (มหาชน) หรือ GABLE เป็นต้น ซึ่งจะเป็นกลุ่มแรกที่ได้ประโยชน์ในเรื่องนี้

นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส (ASPS) กล่าวว่า การแข่งขันของกลุ่มแบงก์คงมีมากขึ้น เนื่องจากการระดมเงินฝากของ Virtual Bank ส่วนผู้ที่จะเข้ามาในวงการนี้ ก็ต้องมีความพร้อมด้านกลุ่มลูกค้ารายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มสื่อสาร อาทิ ADVANC และ TRUE เป็นต้น

นายตฤณ สิทธิสวัสดิ์ นักวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ กลุ่ม Banking, Finance บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า มองเป็นกลางต่อประเด็นดังกล่าว อย่างไรก็ตามในช่วง 3-5 ปีแรกของการดำเนินธุรกิจ จะอยู่ภายใต้การควบคุมของธปท. ตั้งแต่การออกผลิตภัณฑ์และการดูแลลูกค้า เพื่อสร้างความมั่นใจในเรื่องของระบบการให้บริการ ทำให้มีข้อจำกัดในการขยายธุรกิจก่อนที่จะสามารถดำเนินธุรกิจเต็มรูปแบบได้ในภายหลัง ซึ่งต้องมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็นอย่างต่ำ 10,000 ล้านบาท และใช้กรอบการกำกับดูแลเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์

ส่วนในแง่ผลิตภัณฑ์ตัวแรก ๆ คือ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน กลุ่มที่มีผลกระทบคือฝั่ง Non Bank เช่น KTC หรือ AEONTS ที่มีผลิตภัณฑ์แข่งขันโดยตรง แต่สำหรับแบงก์ใหญ่ได้รับผลกระทบเล็กน้อย เพราะเชื่อว่าฐานคงไม่ได้ใหญ่มาก และสินเชื่อแรก ๆ น่าจะเป็นไม่มีหลักประกันเป็นหลัก แต่กับแบงก์จะมีสินเชื่อที่หลากหลายและคนละตลาดที่จะเข้ามาทำ ดังนั้นจึงมองว่าผลกระทบเล็กน้อยเท่านั้น

ทั้งนี้ มองว่าแม้ Virtual Bank จะเป็นปัจจัยใหม่ที่ทำให้มีผู้ให้บริการธนาคารเพิ่มขึ้นในระยะยาว แต่ในช่วง 3-5 ปีแรก ยังเป็นช่วงที่ธนาคารดั้งเดิมปรับรูปแบบการดำเนินงานเพื่อรองรับการแข่งขันได้ และคาดว่าตลาดยังไม่รุนแรงมากนัก โดยผู้เล่นที่น่าสนใจคือ KTB ที่จับคู่กับ ADVANC ทำให้มีฐานลูกค้าจำนวนมาก และ SCB ที่มี KAKAO Bank เป็นพันธมิตร ที่มีประสบการณ์ทำ Virtual Bank ในเกาหลีใต้

ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาต และการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) เพื่อเพิ่มประเภทและจำนวนผู้ให้บริการทางการเงิน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มระดับการแข่งขันในระบบสถาบันการเงิน และส่งผลดีต่อประชาชน โดยได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567

โดยสาระสำคัญของประกาศฯ มีดังนี้ 1.กำหนดให้ผู้ขออนุญาตต้องมีคุณสมบัติที่แสดงให้เห็นถึงประสบการณ์ และทรัพยากรที่เพียงพอ ในการช่วยสนับสนุนธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ความเชี่ยวชาญในการใช้งานเทคโนโลยี และการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล รวมทั้งมีธรรมาภิบาลที่ดี เพื่อให้ผู้ที่ได้รับอนุญาต สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความน่าเชื่อถือ

2.ผู้ขออนุญาตสามารถยื่นคำขออนุญาตผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่ประกาศฯ มีผลบังคับใช้ พร้อมกับหลักฐานและข้อมูลประกอบการพิจารณาตามที่ประกาศฯ กำหนด

3.ธปท.และกระทรวงการคลังจะร่วมกันพิจารณาคำขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ภายใน 9 เดือน นับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาการยื่นคำขอ

4.เมื่อได้รับอนุญาตจากรมว.คลังแล้ว ผู้ขออนุญาตต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เช่น ความมั่นคง การบริหารความเสี่ยง เป็นต้น และเริ่มดำเนินธุรกิจภายใน 1 ปี

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการ รมว.คลัง กล่าวว่า จะไม่จำกัดจำนวนใบอนุญาต (เดิมจำกัด 3 ราย) เนื่องจากกระทรวงการคลังต้องการเปิดกว้างแก่ผู้มีศักยภาพและผ่านคุณสมบัติ โดยให้ธปท.พิจารณาใบอนุญาตในจำนวนที่จะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน และไม่เสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน

Back to top button