SCB WEALTH เปิดกลยุทธ์ลงทุน Q2/67 เจาะลึกเศรษฐกิจไทย-โลก

SCB WEALTH จัดสัมมนา “Exclusive Investment Talk” เจาะลึกเศรษฐกิจโลกและไทย เปิดกลยุทธ์ลงทุนไตรมาส 2 ปี 67 พร้อมจัดพอร์ตระยะยาวแนะลงทุนหุ้นสหรัฐ-อินเดีย-ไทย ส่วนระยะสั้นชูตลาดหุ้นเกาหลีใต้-เวียดนาม รับฟันด์โฟลว์ไหลเข้า


นางสาวเกษรี อายุตตะกะ CFP® ผู้อำนวยการกลยุทธ์การลงทุน SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า SCB WEATLH จัดสัมมนา Exclusive Investment Talk ในหัวข้อ “ส่องแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและไทย ปรับกลยุทธ์ลงทุนไตรมาส 2” เพื่อเปิดมุมมองวิเคราะห์เจาะลึกสถานการณ์เศรษฐกิจ การลงทุน พร้อมแนะนำกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์ลงทุนที่เหมาะสำหรับการจัดพอร์ตลงทุนในไตรมาส 2 ให้กับกลุ่มลูกค้า Wealth ของธนาคาร ณ SCB Investment Center เซ็นทรัลเวิลด์

นางสาวเกษรี กล่าวเพิ่มว่า การลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ทั่วโลกช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 ที่ผ่านมา พบว่าน้ำมันเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนรวม (Total Return) สูงสุด

โดย 3 เดือนแรกของปี 2567 (มกราคม-มีนาคม) ปรับเพิ่มขึ้น 16.5% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2566 สาเหตุหลักมาจากอุปทานน้ำมันตึงตัวท่ามกลางการฟื้นตัวของความต้องการน้ำมันประกอบกับมีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่มีการโจมตีโรงกลั่นในบริเวณที่ผลิตน้ำมัน

ขณะที่รองลงมาคือ ตลาดหุ้นสหรัฐฯให้ผลตอบแทนประมาณ 10.6% ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากกระแสปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) ที่ทำให้บริษัทหลายแห่ง อาทิ NVIDIA มีผลประกอบการเติบโตค่อนข้างโดดเด่นประกอบกับนักลงทุนคาดการณ์หวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ “เฟด” จะปรับลดดอกเบี้ยในปี 2567 และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ออกมาดี

รวมทั้งทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนรวมเป็นอันดับ 3 อยู่ที่ 9.8% ส่วนหนึ่งมาจากประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้นักลงทุนต้องการถือครองทองคำมากขึ้น เนื่องจากมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ขณะที่ธนาคารกลางต่างๆ สะสมทองคำในทุนสำรองระหว่างประเทศมากขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการลงทุน อาทิ เศรษฐกิจสหรัฐฯเริ่มส่งสัญญาณชัดเจนขึ้นว่าจะชะลอตัวแบบจัดการได้ (Soft Landing) ทำให้นักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจโลกไม่น่าจะเข้าสู่ภาวะชะลอตัวอย่างรุนแรง แต่ก็ทำให้ความหวังที่เฟดจะลดดอกเบี้ยรวดเร็ว และรุนแรงมีน้อยลง ส่วนความน่าจะเป็นที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอีก 1 ปีข้างหน้าในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว (Developed Market) มีแนวโน้มลดลงเกือบทุกประเทศ รวมทั้งสหรัฐฯที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลายรายการปรับตัวดีขึ้น

ขณะที่ เฟดมีการปรับคาดการณ์ตัวเลขต่างๆ ดีขึ้น ส่วนโอกาสการเกิดเศรษฐกิจถดถอยใน 1 ปีข้างหน้าของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Market) ในเอเชียอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้ว โดยประเทศไทยแม้มีความน่าจะเป็นสูงที่สุดในกลุ่ม ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียแต่ก็ยังอยู่ในระดับ 30% เท่านั้น และเมื่อพิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจไทยแล้วยังเติบโตล่าช้ากว่าเมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียอื่นๆ

อีกทั้ง หากพูดถึงนโยบายการเงิน SCB CIO มองว่าเฟดไม่จำเป็นต้องรีบลดดอกเบี้ย โดยอาจเริ่มลดในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ช้ากว่าที่ตลาดคาดการณ์เพราะข้อมูลจากตัวแทนเฟด หรือ (Fed Dot Plot) สะท้อนว่าแม้ปีนี้จะลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง จนไปอยู่ที่ 4.62% แต่ เฟดได้ปรับคาดการณ์ การลดดอกเบี้ยในปี 2568-2569 และในระยะยาวน้อยลงจากคาดการณ์ครั้งก่อน หลังจากเงินเฟ้ออาจไม่ได้ลดลงเร็ว ขณะที่สภาพคล่องในระบบยังมีค่อนข้างมากส่วนตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง ส่งผลสนับสนุนให้เฟดไม่ต้องรีบลดดอกเบี้ย

สำหรับธนาคารกลาง อาทิ ธนาคารกลางญี่ปุ่น ได้นำร่องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสวนทางธนาคารกลางอื่นๆ เรียบร้อยแล้ว ในไตรมาส 1/2567 เนื่องจากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นแต่ธนาคารกลางอื่นๆ ในโลกส่วนใหญ่มีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยในปี 2567 ทั้งสิ้น โดยมีธนาคารกลางหลักที่คาดการณ์ว่าจะเริ่มลดดอกเบี้ยในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ได้แก่ ธนาคารกลางยุโรป ที่จะลดดอกเบี้ยในเดือน มิถุนายน 2567 ประมาณ 0.25% และ ธนาคารกลางจีน ที่จะลดดอกเบี้ยในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 ปี 2567 เช่นเดียวกัน

ขณะที่ SCB CIO มองว่า กลยุทธ์การจัดพอร์ตลงทุนไตรมาส 2 ปี 2567 ช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัวแบบจัดการได้ ส่วนดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูงและลดลงช้าในพอร์ตลงทุนหลัก (Core Portfolio) ควรเน้นลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ เช่น การลงทุนในตราสารหนี้เน้นในกลุ่มพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชนที่มีคุณภาพดีมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับที่ลงทุนได้ (Investment Grade)

พร้อมเน้นเลือกตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุคงเหลือ (Duration) เฉลี่ย 2-3 ปี เพื่อเก็บอัตราผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยจ่าย (Carry Yield) ที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าตราสารหนี้ระยะยาวไว้ ก่อนที่เฟดจะตัดสินใจลดดอกเบี้ย และเมื่อลดดอกเบี้ยแล้วผู้ถือตราสารหนี้กลุ่มนี้ก็จะมีโอกาสได้รับกำไรจากส่วนต่างราคา หรือ (Capital gain) จากราคาตราสารหนี้ที่ปรับเพิ่มขึ้น

ส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นสำหรับพอร์ตระยะยาวแนะนำลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ อินเดีย และไทย โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ผ่านมาดัชนีปรับขึ้นมามากตั้งแต่ปี 2566 และจากข้อมูลของ Bloomberg วันที่ 29 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา การปรับขึ้นกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มหุ้น 7 บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ อาทิ Apple, Microsoft, Alphabet, Amazon, META, Tesla และ Nvidia เป็นต้น

อีกทั้ง สถิติหลังตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับขึ้นเกิน 10% ติดต่อกัน 2 ไตรมาส ซึ่งใน 1 เดือนถัดมาดัชนีมักจะปรับลดลง และหลังจากนั้น 3 เดือน ดัชนีจะปรับขึ้นได้ไม่มากจึงแนะนำให้รอจังหวะที่หุ้นปรับตัวลดลงแล้วทยอยเข้าไปลงทุนเน้นคัดเลือกหุ้นกลุ่มคุณภาพ หรือ (Quality Growth) เป็นหลัก

ขณะที่ ตลาดหุ้นอินเดีย กำลังจะมีการเลือกตั้งคาดการณ์ว่า นายนเรนทรา โมดี น่าจะยังได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และนโยบายรัฐบาลคงเป็นการสานต่อนโยบายเดิม เน้นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานปฏิรูประบบแรงงาน เน้นสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเข้าไปลงทุนโดยตรงในอินเดียมากขึ้น

อย่างไรก็ตามจากสถิติในอดีต 3 เดือนก่อนการเลือกตั้ง ตลาดหุ้นอินเดียมักจะปรับขึ้นแต่ในช่วง 1 เดือนก่อนการเลือกตั้งตลาดหุ้นมักจะพักฐานเพราะนักลงทุนรอให้การเลือกตั้งผ่านพ้นไปก่อนแล้วหลังจากนั้นจึงขานรับนโยบายรัฐบาลใหม่ ซึ่งทำให้ตลาดปรับตัวขึ้นต่อ

อีกทั้งตลาดหุ้นอินเดียปรับขึ้นมามากทำให้มูลค่าค่อนข้างแพง จึงเหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาวมากกว่าระยะสั้น ส่วนตลาดหุ้นไทยยังปรับขึ้นล่าช้ากว่าตลาดหุ้น (Emerging Market) ในเอเชีย แต่มีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ การท่องเที่ยวฟื้นตัว งบประมาณภาครัฐที่เบิกจ่ายเร็วขึ้น รวมทั้งแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในปี 2567 จึงลงทุนในพอร์ตระยะยาวได้

ส่วนการลงทุนในพอร์ตลงทุนเพื่อโอกาสระยะสั้น (Opportunistic Portfolio) ซึ่งผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางค่อนข้างสูง ควรลงทุนไม่เกิน 10-20% ของเงินลงทุนโดยรวม มองว่าตลาดหุ้น (Emerging Market) ในเอเชีย มีความน่าสนใจมากกว่าตลาดหุ้น (Developed Market) ที่ปรับขึ้นมาค่อนข้างมาก และเป็นการปรับขึ้นกระจุกตัวในหุ้นมาร์เก็ตแคปสูงในตลาดไม่กี่ตัว

เนื่องจากตลาด (Emerging Market) ในเอเชียมีการกระจุกตัวของหุ้นที่ปรับขึ้นน้อยกว่าราคาหุ้นยังไม่ได้ปรับขึ้นมากนัก ทำให้มูลค่าหุ้นยังถูกกว่า (Developed Market) ยกเว้นตลาดหุ้นอินเดีย ขณะที่กำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ตลาดคาดการณ์ 12 เดือนข้างหน้ามีแนวโน้มเติบโตค่อนข้างมาก อีกทั้ง เงินลงทุนต่างชาติมีแนวโน้มไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดหุ้นที่โดดเด่น คือ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้และตลาดหุ้นชายขอบ (Frontier Market) อย่างเช่นตลาดหุ้นเวียดนาม

นอกจากนี้ ช่วงที่ผ่านมาเงินลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้น (Emerging Market) เอเชียต่อเนื่อง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2563-2565 และเพิ่งจะเริ่มไหลกลับเข้ามาในปี 2566 ต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 1 ปี 2567 โดยเมื่อนำเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้าและไหลออกหักลบกัน พบว่า ยอดเงินลงทุนจากต่างชาติยังไหลออกสุทธิ อยู่ที่ 78,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.9 พันล้านบาท)

“อีกทั้ง สัดส่วนเงินที่ไหลกลับมาลงทุนที่เป็นของนักลงทุนต่างชาติ นับตั้งแต่ปี 2566 จนถึงปัจจุบัน ยังอยู่เพียง 38% ของยอดเงินที่ไหลออกทั้งหมด ดังนั้น จึงมีช่องว่างที่นักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาลงทุนใน Emerging Market เอเชียต่อโดยเฉพาะในตลาดหุ้นเกาหลีใต้ที่เงินไหลออกไปมากในช่วงที่ผ่านมา” นางสาวเกษรี กล่าว

ด้านตลาดหุ้นเกาหลีใต้ยังมีปัจจัยสนับสนุน จากเศรษฐกิจเกาหลีใต้ที่ได้อานิสงส์การส่งออกที่ดี โดยเฉพาะสินค้าเซมิคอนดักเตอร์ในวงจรต้นน้ำ เช่น DRAM ชิปหน่วยความจำในคอมพิวเตอร์ และ NAND ชิปประมวลผลในการ์ดความจำ ซึ่งจะไปสนับสนุนหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสัดส่วน 39% ของมูลค่าตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ให้เติบโตได้

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นกำไรบริษัทจดทะเบียนที่เติบโตขึ้นมาก อีกทั้งตลาดหุ้นเกาหลีใต้พยายามให้บริษัทจดทะเบียนเพิ่มมูลค่าบริษัทโดยสมัครใจด้วยการเพิ่มการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นและการซื้อหุ้นคืน เพื่อให้ผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) ของบริษัทสูงขึ้น ซึ่งหุ้นที่มีราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (P/BV) ระดับต่ำจะได้ประโยชน์จากปัจจัยนี้

ส่วนตลาดหุ้นเวียดนาม มองว่าเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2567 ยังมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากภาคการส่งออกและเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การยกระดับสถานะตลาดหุ้นเวียดนาม จากตลาด (Frontier Market) ไปสู่ตลาด (Emerging Market) มีแนวโน้มส่งผลให้เงินทุนไหลเข้ามากขึ้น

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ หุ้นกู้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่จะครบกำหนดนัดชำระหนี้ในไตรมาสที่ 2-3 ปี 2567 นี้มีค่อนข้างมากอาจส่งผลให้นักลงทุนกังวล และขายทำกำไรกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในระยะสั้น ดังนั้นควรเน้นคัดเลือกกองทุนที่มีนโยบายการบริหารเชิงรุกมีผู้จัดการกองทุนคัดเลือกหุ้นรายตัวพร้อมหลีกเลี่ยงหุ้นที่อ่อนไหวกับประเด็นในภาคอสังหาฯ

ด้าน นายธนกฤต ศรันกิตติภัทร CFP® ผู้อำนวยการที่ปรึกษาการลงทุน SCB CIO ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในส่วนของการลงทุน นักลงทุนควรลงทุนตามระดับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้ โดยการลงทุนในพอร์ตหลักนั้นตราสารหนี้ยังเป็นคำตอบที่น่าสนใจในช่วงก่อนดอกเบี้ยปรับลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งแนะนำให้เลือกพันธบัตรรัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจ

ทั้งนี้ส่วนหุ้นกู้ที่ให้หลีกเลี่ยง คือ หุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงจะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือจากระดับ (Investment Grade) ไปอยู่ในกลุ่มตราสารหนี้ความเสี่ยงสูง (High Yield) โดยควรเลือกลงทุนหุ้นกู้ Investment Grade ระดับ A ขึ้นไป ซึ่งกองทุนที่ตอบโจทย์ได้ค่อนข้างดีคือ SCBDBOND(A) ที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ธปท.รัฐวิสาหกิจในไทยเป็นส่วนใหญ่ และลงทุนในตราสารหนี้เอกชนในประเทศ

อีกทั้ง กรณีที่รับความเสี่ยงได้สูงขึ้น และต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายขึ้นในพอร์ตลงทุนหลัก แต่ยังเน้นลงทุนในประเทศ แนะนำเลือกกองทุนผสม KFYENJAI-A ซึ่งมีการลงทุนในหุ้นทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) และพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งหากพร้อมรับความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมีกองทุนผสมน่าสนใจ 2 กองทุน คือ SCBCIO(A) ซึ่งมุ่งเน้นการปรับสัดส่วนเงินลงทุนได้ยืดหยุ่น เพิ่มหรือลดสินทรัพย์เสี่ยงได้ 0-100% เพื่อรับมือทุกสภาวะตลาด ที่บริหารพอร์ตกองทุนโดย SCB CIO Office และ กองทุน SCBGA(A) ที่เงินลงทุนหลัก 70% บริหารโดยสะท้อนมุมมองการลงทุนจากจูเลียส แบร์ อีก 30% คัดเลือกลงทุนโดย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด จูเลียส แบร์

โดยทั้ง 2 กองทุน มีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน รวมถึงกรณีที่ต้องการเลือกลงทุนกองทุนหุ้นไทยในพอร์ตหลัก แนะนำกองทุน SCBDV(A) ซึ่งเน้นลงทุนในหุ้นไทยที่มีการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ และมีปัจจัยพื้นฐานที่ดีสามารถลงทุนได้ในระยะยาว  ขณะที่กองทุนที่น่าสนใจสำหรับ (Opportunistic Portfolio) ได้แก่ SCBKEQTG ซึ่งลงทุนในตลาดหุ้นเกาหลีใต้และกองทุน PRINCIPLE VNEQ-A ที่ลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม

นอกจากนี้ หากผู้ลงทุนที่มีความมั่งคั่งสูงประสบการณ์ลงทุนสูงรับความเสี่ยงได้สูงอาจเลือกลงทุนเพิ่มเติมในผลิตภัณฑ์หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝง (Structured Product) ที่ออกแบบมาให้ตอบโจทย์การป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุนในภาวะตลาดผันผวน เพื่อลดโอกาสการสูญเสียเงินต้น เช่น Double Sharkfin ซึ่งการลงทุนส่วนใหญ่ลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้แบบมีกำหนดอายุและมีโอกาสได้รับผลตอบแทนคงที่

ขณะที่ อีกส่วนหนึ่งไปลงทุนในสัญญาวอแรนท์ที่อ้างอิงกับดัชนีตลาดหุ้นต่างๆ โดยกำหนดเงื่อนไขว่า หากดัชนีเคลื่อนไหวปรับขึ้นหรือลดลงในกรอบที่กำหนด มีโอกาสได้ผลตอบแทนตามที่ระบุไว้ แต่กรณีดัชนีเคลื่อนไหวหลุดจากกรอบที่กำหนด จะได้รับผลตอบแทนน้อยลง หรือไม่ได้เลย แต่โอกาสขาดทุนก็น้อยลงเช่นกัน

Back to top button