โบรกมองเป้า SET พ.ค. ทดสอบ 1,580 จุด คัด 6 หุ้นพื้นฐานดี-กำไรฟื้น รับนโยบายรัฐหนุน

“บล.เอเซีย พลัส” มอง SET เดือนพ.ค.นี้ อัพไซด์เปิดกว้าง ให้เป้าดัชนีที่ 1,580 จุด รับงบไตรมาส 1/67 ของบริษัทจดทะเบียนฟื้น พ่วงรัฐเร่งเบิกจ่ายงบฯปี 67 ชู 6 หุ้นพื้นฐานดี กำไรฟื้น รับแรงหนุนภาครัฐ ได้แก่ CPALL, KBANK, SJWD, CK, WHA, CPF


บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ประเมินภาพเศรษฐกิจในช่วงเดือนพ.ค. 67 ระบุว่า ตลาดหุ้นไทย (Set Index) ปรับตอบกลับความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้อัพไซด์เริ่มเปิดกว้าง โดยมองเป้าหมายดัชนีไว้ที่ 1,580 จุด ประกอบกับนโยบายการคลังที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจผ่านการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 รวมถึงกำไรบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มฟื้นตัวเป็นขั้นบันได

โดยฝ่ายวิเคราะห์ประเมินภาพรวมการลงทุนของตลาดหุ้นไทยเดือน พ.ค. 67 ว่า มีโอกาสผ่านพ้นจุดต่ำสุด และเริ่มเห็นหลายปัจจัยช่วยผลักดันเศรษฐกิจ อาทิ นโยบายการคลังที่เข้มข้นผ่านการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 ภายในช่วงเวลาเพียง 5-6 เดือน ด้วยมูลค่า 3.48 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปีก่อน 9.3% รวมถึงมาตรการกระตุ้นต่างๆ ของภาครัฐ ทั้งการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท, ฟรีค่าธรรมเนียมวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยว และการแจกเงินดิจิทัล จำนวน 10,000 บาทในระยะถัดไป

ทั้งนี้ แม้ว่าทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ อาจจะคงไว้ 5.5% ยาวนานขึ้น หลังเงินเฟ้อสูงกว่าคาดการณ์  สาเหตุจากประเด็นสงครามตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อ แต่วัฏจักรดอกเบี้ยในการปรับตัวลงน่าจะเริ่มเห็นได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ อีกทั้งยังมีการสร้างความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพของตลาดหุ้นไทย เป็นแรงหนุนปริมาณการซื้อขายจะค่อยๆกลับสู่ตลาดหุ้นไทย ภายหลังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ออกมาตรการยกระดับและควบคุมการขายช็อร์ต (Short Sell) ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ช่วงปลายไตรมาส 2/67 ช่วยสนับสนุนการกลับตัวของหุ้นไทยให้มีโอกาสกลับมาสูงกว่า 70% ต่อปี

สำหรับประเด็นสำคัญที่ต้องติดตาม คือ การรายงานมวลรวมเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในช่วงไตรมาส 1/67 โดยตลาดฯ คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.6% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งจะช่วยหลบความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) ได้ และมีโอกาสฟื้นขึ้นเป็นขั้นบันใด ส่วนเศรษฐกิจโลกที่ทยอยย่อตัวลงนั้น ต้องติดตามแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบาย (กนง.) และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเป็นทิศทางอย่างไร ก่อนการประชุมช่วงกลางเดือนมิ.ย. 67

ขณะเดียวกัน นักลงทุนมีมุมมองต่อตลาดหุ้นไทยว่ามีความน่าลงทุนมากขึ้น  โดยมีปัจจัยมาจาก 1. แนวโน้มการรายงานกำไรบริษัทจดทะเบียนประจำไตรมาส 1/67 ที่มีโอกาสเติบโตโดดเด่นจากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากฐานกำไรงวดไตรมาส 4/66 ที่ต่ำกว่าปกติ พร้อมกับมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนหนุนหลังค่าเงินบาทอ่อนค่ารุนแรงกว่า 7% ในช่วงไตรมาส 1/67 ซึ่งหุ้นที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อนค่า จะเป็นหุ้นที่มีสัดส่วนมูลค่าตามราคาตลาด (Market Cap) มากกว่า 40% รวมถึงราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรงมากกว่า 15% จะช่วยสนับสนุนให้เกิดกำไรจากราคาน้ำมัน (Stock Gain) ในหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ที่มีสัดส่วนหลักในตลาดฯ

2. มูลค่าหุ้นไทย (Valuation SET) จะเห็นแนวรับสำคัญทางพื้นฐานที่บริเวณ 1,350 จุด โดยดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ระดับ 1,350 จุด มี PER ปี 67 อยู่ที่ 14.7 เท่า (- 1SD ในรอบ 10 ปี) และเป็นระดับต่ำสุดรองจากช่วงวิกฤตโควิด-19 ในปี 63 ขณะที่ในเชิง PBV มีค่าที่ 1.31 เท่า (-2SD ในรอบ 10 ปี) อีกทั้งยังเป็นบริเวณที่ส่วนต่างผลตอบแทนตราสารหนี้กับหุ้นกว้างมาก โดยมี MEYG ที่ 4.25% (สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต) หนุนให้เม็ดเงินมีโอกาสทยอยไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยงในระยะถัดไป ขณะเดียวกันตลาดหุ้นไทยยังมีอัพไซด์จากดัชนีเป้าหมายที่ 1,580 จุด อยู่พอสมควร

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน เดือนพ.ค. 67 ฝ่ายวิเคราะห์แนะนำหุ้นพื้นฐานดี กำไรฟื้น ประกอบกับได้แรงหนุนจากนโยบายภาครัฐ อย่าง บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL, ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK, บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SJWD, บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK, บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF

Back to top button