คัด 15 หุ้น รับอานิสงส์ GDP ไทยไตรมาส 1 ขยายตัว 1.5%

2 โบรกฯ คัด 15 หุ้น รับประโยชน์ GDP ไทยงวดไตรมาส 1/67 ขยายตัว 1.5% สูงกว่าคาด! หลังการบริโภค-ลงทุนเอกชน-การส่งออกเร่งตัวขึ้น หวังหนุนธุรกิจบริษัทเกี่ยวข้องเติบโต


สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจ GDP ไทยงวดไตรมาส 1/2567 ขยายตัว 1.5% สูงกว่าตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 0.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโต 1.1% จากไตรมาสก่อนหน้า และสูงกว่าตลาดคาดการณ์ที่ 0.6% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีแรงหนุนหลักๆ มาจากภาคการบริโภค เติบโต 6.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน, การลงทุนเอกชน ขยายตัว 4.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน, การส่งออกบริการ เพิ่มขึ้น 24.8%

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยกดดันภาพรวมเศรษฐกิจไทย เนื่องจากการลงทุนภาครัฐ ที่ปรับตัวลง 27.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน, การใช้จ่ายภาครัฐ หดตัว 2.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และการส่งออกสินค้า ลดลง 2.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นต้น

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ในระยะถัดไปคาดหวังเศรษฐกิจไทยเติบโตแบบขั้นบันได โดย BLOOMBERG คาดการณ์การเติบโตของ GDP ในไตรมาส 2/67 จะขยายตัว 2.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน, ในไตรมาส 3/67 จะเพิ่มขึ้น 2.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และในไตรมาส 4/67 จะเติบโต 3.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีแรงหนุนจากการเบิกจ่ายการลงทุนของภาครัฐ (G) ที่เหลืออีก 86% ของงบประมาณปี 67, โครงการ DIGITAL WALLET ในช่วงไตรมาส 4/67, การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท, ภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว (C) และ การลงทุนภาคเอกชนที่เติบโตอย่างโดดเด่นเมื่อเทียบกับปีก่อน (I) โดยตลอดปี 67 BLOOMBERG คาดการณ์การเติบโตของ GDP ไทยจะเพิ่มขึ้น 2.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ยังมีปัจจัยกดดันเล็กน้อย หลังจากเมื่อวันที่ (20 พ.ค.67) สภาพัฒน์ ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 67 ลงเหลือ 2.0– 3.0% จากเดิมอยู่ระหว่าง 2.2-3.2% โดยคาดการณ์ว่า GDP ไทยจะปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ จากการขยายตัว 1.9% ในปี 66 สาเหตุจากความกังวลผลกระทบภาคการผลิต อุตสาหกรรมชะลอตัว ประกอบกับความเสี่ยงภาคส่งออกฟื้นตัวช้า พร้อมคาดการณ์ว่า โครงการ “ดิจิทัล วอลเล็ต” จะช่วยสนับสนุน GDP ในปีนี้เติบโตเพิ่ม 0.25% โดยประเมินการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงคงไม่ได้ออกมาทั้ง 5 แสนล้านบาทในคราวเดียว แต่เป็นการทยอยใช้ ซึ่งคาดการณ์ว่า ในไตรมาสที่ 4/67 จะมีเม็ดเงินเข้าระบบราว 2 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ฝ่ายวิเคราะห์ได้คัดเลือกหุ้นเด่นน่าลงทุน โดยแนะนำหุ้นในกลุ่มค้าปลีก ได้แก่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL และ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ CPAXT

กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ SCC, บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ SCCC, บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ STEC

กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ได้แก่ บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA และ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA

กลุ่มท่องเที่ยว ได้แก่ บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ERW, บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL และบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT

ขณะเดียวกัน บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ได้ระบุว่า สำหรับการรายงานตัวเลข GDP ไทยงวดไตรมาส 1/67 ที่ขยายตัว 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโต 1.1% จากไตรมาสก่อนหน้า และดีกว่าตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งฝ่ายวิเคราะห์มองว่าเป็นจุดต่ำสุดของปี 67 และคาดว่าเป็นฐานการเร่งตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ นับตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/67  กลุ่มที่มีการเติบโตในงวดไตรมาส 1/67 มีแนวโน้มดีต่อเนื่องทั้งภาคบริการ (โมเมนตัมยังดี แม้เข้าสู่ช่วงนอกฤดูกาล), ภาคกำลังซื้อ (ท่องเที่ยว, รายได้เกษตร, งบประมาณ และโครงการ Digital Wallet ปลายปี), ภาคส่งออก (กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เริ่มให้สัญญาณภาพของการผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ประกอบกับเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัว (โดยไทยเป็นผู้ส่งออก 13% ของยอดรวม)

นอกจากนั้น การลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณเชิงทางบวกจากเงินทุนต่างประเทศ (FDI) ที่เร่งตัวขึ้น แม้ยังมีปัจจัยที่กดดันอยู่ คือ กลุ่มอิงการจับจ่ายใช้สอยและการลงทุนภาครัฐฯ เนื่องจากงบประมาณเพิ่งผ่านปลายๆเดือน เม.ย. 67 แต่ถือเป็นอีกจุดที่คาดการณ์ว่าจะดีขึ้นในระยะถัดไป

ทั้งนี้ปัจจัยดังกล่าว เป็นจิตวิทยาบวกต่อหุ้นขนาดใหญ่ (Big Cap) อาทิ กลุ่มธนาคารที่คาดการณ์ว่าตลาดฯ เริ่มประเมินความเสี่ยง (Downside Risk) ของดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลง ส่งผลประโยชน์ต่อหุ้นกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ โดยเฉพาะธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL, ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB และ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB

รวมถึงกลุ่มบริโภค โดยเฉพาะ CPALL, BJC ส่วนกลุ่มที่จะได้รับอานิสงส์จากการเข้ามาลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เร่งตัวขึ้น คือ WHA

Back to top button