กังวล “เฟด-พิษการเมือง” กดดัน! ฉุด SET ปีนี้ร่วง 7% หนักสุดใน “เอเชียแปซิฟิก”

กังวลเฟด-พิษการเมืองไทยกดดัน! ฉุด SET ร่วง 7% หนักสุดในตลาด “เอเชียแปซิฟิก” ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ด้านโบรกแนะสอยหุ้นหลบภัย เน้นพื้นฐานดี-ปันผลสูง-ต่างชาติถือครองต่ำ เพื่อหลีกความเสี่ยง “ฟันด์โฟลว์” ไหลออก อาทิ ADVANC, TU, PTTEP, BEM,KBANK,SPRC,CPALL


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ทำการสำรวจทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลกทั้งในเอเชียแปซิฟิกและในยุโรปนับตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบัน โดยพบว่า ภาพรวมดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงต่ำสุดในตลาดเอเชียแปซิฟิก ในจำนวน 11 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย ตลาดหุ้นไทย(ดัชนี SET),ตลาดหุ้นเชินเจิ้น(ดัชนี SZI), ตลาดหุ้นจีน(ดัชนี SSEC), ตลาดหุ้นฮ่องกง(ดัชนี HSI), ตลาดหุ้นออสเตรเลีย(ดัชนี XAO), ตลาดอินเดีย(India Nifty 50), ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย(ดัชนี JSX), ตลาดหุ้นมาเลเซีย(ดัชนี FBKLCI), ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์(ดัชนี PSE), ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ (ดัชนี KOSPI)  และตลาดหุ้นเวียดนาม (ดัชนีVNI)

สำหรับดัชนีตลาดหุ้นไทย(SET) นับตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบันปรับตัวลดลง 7.07% รองลงมาตลาดหุ้นเชินเจิ้นปรับตัวลดลง 6.77% ตามมาด้วยตลาดหุ้นอินโดนีเซียดัชนีปรับตัวลดลง 6.31%  และตลาดหุ้นฟิลิปปินส์ดัชนีปรับตัวลดลง 1.67%

ส่วนตลาดฯในกลุ่มเอเชียแปซิฟิกดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นโดดเด่น ได้แก่ ตลาดหุ้นเวียดนามดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 13.76% รองลงมาตลาดหุ้นมาเลเซียดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 10.73% และตามมาด้วยตลาดอินเดียดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.47%

ด้านตลาดหุ้นฮ่องกงดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.52% และตลาดหุ้นเกาหลีใต้ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.58% และตลาดหุ้นจีนดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.80% ส่วนตลาดหุ้นออสเตรเลียดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.33%

นอกจากนี้ยังสำรวจทิศทางดัชนีตลาดในยุโรปนับตั้งแต่ต้นปี2567-ปัจจุบัน จำนวน 8 แห่ง ประกอบด้วย ตลาดหุ้นอิสราเอล,อิตาลี(ดัชนี FTMIB) ,ตลาดหุ้นเนเธอร์แลนด์(ดัชนี AEX), ตลาดหุ้นปาเลสไตน์ แทร์ริทอรี,ตลาดหุ้นโปรตุเกส(ดัชนี PSI20), ตลาดหุ้นรัสเซีย(ดัชนี RTSI), ตลาดหุ้นซาอุดิอาระเบีย(ดัชนี PSE) และตลาดหุ้นสเปน (ดัชนีIBEX)

โดยประเทศที่ดัชนีปรับตัวลงแรงมากสุดตั้งแต่ต้นปี 2567-ปัจจุบัน ประกอบด้วย ตลาดหุ้นประเทศปาเลสไตน์ แทร์ริทอรีดัชนีปรับตัวลดลง 7.99% รองลงมาประเทศซาอุดิอาระเบียดัชนีปรับตัวลดลง 1.31%

ส่วนประเทศที่ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นมากสุดนับตั้งแต่ต้นปี 2567-ปัจจุบัน ได้แก่ ตลาดหุ้นเนเธอร์แลนด์ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.05%, ตลาดหุ้นอิตาลีดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 11.11%, ตลาดหุ้นสเปนดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 10.80%, ตลาดหุ้นอิสราเอลดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.74%, ตลาดหุ้นโปรตุเกสดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.66% และตลาดหุ้นรัสเซียดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.23%

อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่ต้นปี2567-ปัจจุบัน ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงแรง 7.07% ต่ำสุดในตลาดเอเชีย เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาตลาดรับปัจจัยลบทั้งต่างประเทศและในประเทศ อาทิ ภาวะสงครามในตะวันออกกลาง ทิศทางดอกเบี้ยของเฟด รวมทั้งปัจจัยทางด้านการเมืองในประเทศที่กดดันทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลและเทขายหุ้นออกมาเพื่อลดความเสี่ยงในช่วงดังกล่าว

ด้านบล.เมย์แบงก์ ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้(12 มิ.ย.67) ความไม่แน่นอนจากการเมือง ส่งผลต่อระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุนและเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลออกติดต่อกัน 14 วันทำการรวม 2.76 หมื่นล้านบาท กดดัน SET Index ทำจุดต่ำสุดรอบ 4 ปี แม้ในระยะสั้นทิศทางตลาดยังผันผวน แต่ในมุม Valuation ที่ SET Index ซื้อขายบน PER67 ที่ 13.8 เท่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว 1 S.D. ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจและกำไรบริษัทฯมีแนวโน้มฟื้นตัวจึงเชื่อว่าระดับดัชนีบริเวณ1,300-1,320 จุด เป็นโซนที่ทยอยสะสมสำหรับนักลงทุนระยะกลาง-ยาว

กลยุทธ์การลงทุนสภาวะที่มีความเสี่ยง Fund Flow ต่างชาติไหลออก ได้มีการคัดกรองหาหุ้นพื้นฐานดี Valuation ไม่แพงและแถมเงื่อนไขต่างชาติถือครองต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต เพื่อหลีกความเสี่ยง Flow ไหลออก ในทางตรงข้ามได้ประโยชน์หาก Flow ไหลกลับ ได้หุ้นน่าสนใจหลายบริษัท (รายละเอียดตามตารางประกอบ) โดยเลือกหุ้นที่ชอบมากที่สุด 3 บริษัทดังนี้

CPALL คาดกำไรปี 67 เติบโต 25% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำระดับ All Time High ระยะสั้น ได้ประโยชน์จากทศกาลฟุตบอลยูโร 2024 ดีต่อกลุ่มสินค้า Ready to Eat

KBANK มีมุมมองเชิงบวกนโยบายมุ่งเน้นไปที่คุณภาพสินเชื่อที่ดีเพื่อลด credit cost โดยคาด Dividend Yield ปี 67/68 ที่ระดับ 6% ต่อปี

SPRC ได้ประโยชน์หลักจาก GRM ฟื้นตัวจากการเข้าสู่ฤดูการขับขี่ เราคาดกำไร 67E จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่า คาดกลับมาจ่ายปันผลปีนี้สูงถึง 7%

บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์วันนี้ โดยแนะปรับกลยุทธ์รับมือความไม่แน่นอนทางการเมืองช่วงนี้ ปัจจุบันต่างชาติขายหุ้นไทยมาตลอด 14 วันทำการ ด้วยมูลค่ารวมกว่า 2.76 หมื่น ล้านบาท กดดัน SET INDEX ลดลงเกิน 5%

ดังนั้นฝ่ายวิจัยฯจึงลองเทียบเคียงกับเหตุการณ์ในอดีตพบว่าฟันด์โฟลว์ไม่ชอบความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยสะท้อนจากข้อมูลในปี 2565 เป็นปีที่ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยสม่ำเสมอเกือบทุกเดือนจากคาดหวัง PENDING DEMAND หนุนเศรษฐกิจฟื้นเร็ว หลังเกิด COVID-19  แต่ฟันด์โฟลว์กลับพลิกมาขายสุทธิช่วงอดีตนายกฯหยุดปฎิบัติหน้าที่พอดี (เดือน ก.ย.65) และในช่วงเวลานั้นกดดัน SET INDEX ปรับตัวลงมาลึกสุดที่ 77 จุด และดัชนีจะกลับตัวขึ้นมาได้ พร้อมกลับฟันด์โฟลว์ค่อยๆ ทยอยไหลเข้าหลังประเด็นการเมืองผ่อนคลาย

แต่เมื่อตัดกลับมาที่ปัจจุบันช่วงที่การเมืองมีความไม่แน่นอน (20 พ.ค.-11 มิ.ย.67) กดดันให้ SET INDEX ย่อตัวลงมาจาก 1,389 จุด เหลือ 1,316 จุด (-73 จุด) ถือว่า ตอบรับประเด็นลบทางการเมืองมาระดับหนึ่งแล้ว บวกกับ VALUATION ตลาดหุ้น ไทยค่อยๆ ถูก

โดยกลยุทธ์รับมือตลาดหุ้นไทยผันผวนในช่วงนี้ แนะนำรอเพิ่มน้ำหนักพอร์ต หลัง SET INDEX ผันผวนน้อยลง หรือฟื้นขึ้นมาเหนือ 1,330 จุด (SET ยืนเหนือ เส้น EMA 200 เดือนได้) น่าจะเห็นมูลค่าซื้อขายของนักเก็งกำไรเพิ่มเข้ามาหนุนตลาดเพิ่มอีกแรง ส่วนช่วงเวลานี้แนะนำหลบความผันผวนตลาดชั่วคราว กับหุ้นพื้นฐานดี มีปันผลสูง หรือมีปัจจัยหนุนเฉพาะตัว อย่าง ADVANC, TU, PTTEP, BEM เป็นต้น

Back to top button