“พรอนงค์” โชว์วิชั่น ดันตลาดทุนไทย รับเทรนด์ยุคดิจิทัล เร่งยกระดับหุ้น IPO

“พรอนงค์ บุษราตระกูล” เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดวิสัยทัศน์ เดินหน้าผลักดันตลาดทุนไทยสู่ “Digital Economy” ตอบรับประเทศเข้าสู่ยุคดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว จ่อยกระดับมาตรการยื่น IPO หนุนความแข็งแกร่งของบริษัทจดทะเบียน


นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า การปรับตัวในบทบาทที่ต่างกันระหว่างอาจารย์ กับตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต. นั้นมองว่าไม่ได้ปรับอะไรมากนัก เนื่องจากที่ผ่านมาเคยมีบทบาทในด้านตลาดทุนมาก่อน ไม่ว่าจะทำหน้าที่เป็นกรรมการกำกับตลาดทุน และกรรมการบริษัทจดทะเบียน ซึ่งพอเข้ามาดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต. ก็ยังคงอยู่ในแวดวงของตลาดทุนเช่นเดียวกัน

ดังนั้นตนมองว่าสามารถใช้องค์ความรู้และประสบการณ์ที่มีในตลาดทุน มาช่วยส่งเสริมการทำงานในตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต. มากขึ้น ซึ่งทำให้มีแรงจูงใจในการนำองค์ความรู้และประสบการณ์ดังกล่าว มาทำให้เกิดผลประโยชน์ที่ชัดเจนมากขึ้น โดยการดำรงตำแหน่งเลขาธิการทำให้สามารถเห็นความเคลื่อนไหวในกระบวนต่างๆ ได้ และสามารถใช้กลไกการทำงานบรรลุเป้าหมายต่างๆ ได้ดีอย่างแน่นอน

“การให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆ ช่วยส่งเสริมให้เกิดความมั่นใจและความเชื่อมั่น ในบทบาทของสำนักงาน ก.ล.ต. เป็นหน้าที่ของเลขาธิการ ก.ล.ต. และมองว่าการปรับเปลี่ยนบทบาทเป็นเรื่องของการตอบสนองต่อความคาดหวังของคน ที่มีส่วนได้เสียที่กว้างขึ้น แต่ไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงตัวตน” นางพรอนงค์ เลขาธิการก.ล.ต. กล่าว

นางพรอนงค์ เลขาธิการก.ล.ต. กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนมีทัศนคติในการทำงานโดยให้ความสำคัญกับการสร้างพลังงานในทางบวก ซึ่งในการทำงานไม่อยากได้ยินคำว่ารับดำเนินการ แต่อยากได้ยินว่ามีความคิดเห็นอย่างไร และจะรับไปศึกษาต่อ หรือสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยอยากเห็นประโยชน์ในการทำงานจากในหลายมิติ

สำหรับทิศทางการดำเนินงานในยุคของตนจะต้องดำเนินงานที่มุ่งเน้นการตอบโจทย์ Digital Economy โดยอยากให้ธุรกิจขนาดย่อม (SME) มีโอกาสเข้ามาระดมทุนโดยการออก Investment Token ได้ ซึ่งการลงทุนใน Investment Token จะได้ส่วนแบ่งทางผลประโยชน์ ซึ่งตอบโจทย์นักลงทุนในยุคดิจิทัล โดยในช่วงที่ผ่านมาได้ดำเนินงานเปิดรับฟังความคิดเห็นในหลักเกณฑ์การออกโทเคนดิจิทัล ทั้งนี้เป้าหมายดังกล่าว เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต.

ทั้งนี้ มองว่าตลาดหุ้นไทยในยุคปัจจุบัน กำลังเข้าสู่ยุคดิจิทัล และเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy โดยตลาดทุนไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำพาประเทศไปสู่ Green Economy และมองว่าจำเป็นต้องมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อดึงเม็ดเข้ามาในตลาดทุนไทย ไม่ใช่แค่ในแง่ของตัวเลขเท่านั้น แต่รวมไปถึงการกระตุ้นความสนใจในเรื่องอื่นๆ ด้วย

สำหรับการสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทยทางสำนักงาน ก.ล.ต. ยังคงดำเนินการในมาตรการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง และมองว่าต้องทำต่อไปเรื่อย ๆ แต่ในเรื่องของความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อตลาดทุนไทยจะมีเพิ่มขึ้นมากหรือไม่ ยอมรับว่าไม่สามารถตอบได้เนื่องจากการปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมา เกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน และมองว่าความเชื่อมั่นเป็นความรู้สึกส่วนบุคคล อย่างไรก็ตามสำนักงาน ก.ล.ต. ยังคงให้ความสำคัญกับการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในส่วนของการยกระดับมาตรการสำหรับบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ที่จะเริ่มใช้ในปีหน้า มองว่าสอดคล้องกับบริบทที่อยากจะให้บริษัทจดทะเบียนมีความเข้มแข็งมากขึ้น และสำหรับบริษัทที่ไม่เข้าเกณฑ์ก็ยังมีช่องทางอื่นๆ ในการเปิดให้ระดมทุน

สำหรับประเด็นความเหลื่อมล้ำในธุรกิจของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซึ่งเกิดจากรูปแบบธุรกิจที่แตกต่างกัน มองว่าในทุกธุรกิจที่มีมากกว่า 1 ธุรกิจย่อมมีความไม่เท่าเทียมกันอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามให้ความมั่นใจว่าจะไม่เกิดความไม่เท่าเทียมกันที่มาจากสำนักงานก.ล.ต. อย่างแน่นอน และใช้หลักเกณฑ์ในการตรวจสอบแบบเดียวกัน

โดยมีความเป็นห่วงบริษัทหลักทรัพย์ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ใกล้ชิดนักลงทุนมากที่สุด ซึ่งมองว่าหากบริษัทหลักทรัพย์ไม่มีความแข็งแกร่งจะส่งผลต่อการบริการให้กับนักลงทุน และหากมีสิ่งที่สามารถเอื้อต่อความแข็งแกร่งของบริษัทหลักทรัพย์ทางสำนักงาน ก.ล.ต. ก็มีความยินดีที่จะทำให้เกิดภาพดังกล่าว และอยากเห็นโอกาสในการควบรวมกันของบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งเชื่อว่าหากเกิดการควบรวมดังกล่าวจะส่งผลให้บริษัทหลักทรัพย์มีความมั่นคงแข็งแกร่งมากขึ้น

สิ่งที่อยากเห็นในยุคที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต. คือการทำหน้าที่ของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่มีประสิทธิภาพ ไม่บกพร่องในด้านใดด้านหนึ่ง ทั้งในบทบาทของการกำกับและการพัฒนาตลาดทุนไทย โดยมุ่งมั่นที่จะใช้สำนักงาน ก.ล.ต. ในการชี้นำอุตสาหกรรม และการสร้างนโยบายที่เอื้อต่อการลงทุนและมีประสิทธิภาพ โดยอยู่บนความสมเหตุสมผล ที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจและนักลงทุน พร้อมกับการกำกับดูแลให้มีความโปร่งใสเป็นธรรม ไม่ให้เกิดการเอาเปรียบและการทุจริต นางพรอนงค์ เลขาธิการ ...กล่าวทิ้งท้าย

Back to top button