BA ทุ่ม 1.5 พันล้าน เร่งขยาย “สนามบินสมุย” รับผู้โดยสารโตเท่าตัว
BA ทุ่มเงิน 1,500 ล้านบาท เดินหน้าขยายสนามบินสมุยรับผู้โดยสารเพิ่มเท่าตัว โดยมีแผนการเพิ่มเที่ยวบินเข้า-ออกสนามบินสมุยเป็นวันละ 73 เที่ยวบิน จากเดิม 50 เที่ยวบิน รวมถึงมีแผนปรับปรุงพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารจากเดิม 7 อาคาร ให้มีเพิ่มเป็น 11 อาคาร หลังยอดจองตั๋วล้นถึงไตรมาส 1/68
นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเดินหน้าโครงการพัฒนาสนามบินสมุย เพื่อขยายศักยภาพการรองรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีเส้นทางบินระหว่างสนามบินสมุยไปยังหลายประเทศ อาทิเช่น ฮ่องกง ,จีน และสิงคโปร์ โดยมีแผนการเพิ่มเที่ยวบินเข้า-ออกสนามบินสมุย จากวันละ 50 เที่ยวบินเป็น 73 เที่ยวบิน เพื่อเป็นการผลักดันอ่าวไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว (Tourism Hub) แห่งหนึ่งของภูมิภาค
นอกจากนี้ ทาง BA ยังมีแผนปรับปรุงพื้นที่ภายในอาคารผู้โดยสารจากเดิม 7 อาคาร ให้มีเพิ่มเป็น 11 อาคาร รวมถึงการเพิ่มจำนวนเคาน์เตอร์เช็คอินอีก 10 เคาน์เตอร์ พร้อมกับนำเทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น โดยจะติดตั้งระบบ CUSS : Common Use Self-Service รวมถึงสร้างพื้นที่เชิงพาณิชย์เพิ่มจาก 1,800 ตารางเมตรเป็น 4,000 ตารางเมตร ให้ครอบคลุมพื้นที่สำหรับให้บริการ อาทิเช่น ร้านค้าชั้นนำ,สินค้าของฝากจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชน, คาเฟ่-ร้านอาหาร รวมถึงร้านนวดเพื่อสุขภาพ ฯลฯ
นายพุฒิพงศ์ กล่าวอีกว่า แผนขยายศักยภาพสนามบินสมุย จะเพิ่มศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้ถึง 6 ล้านคนต่อปี โดยจะใช้งบลงทุนรวมกว่า 1,500 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างในช่วงไตรมาส 1 ถึงไตรมาส 2 ปี 2568 ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี จะแล้วเสร็จในปี 2570 โดยประเมินว่าช่วงนั้นจะมีผู้โดยสารประมาณ 4 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบันที่ 2 ล้านคนต่อปี
นอกจากนั้น ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 BA มีแผนจะเพิ่มศักยภาพที่สนามบินตราด ซึ่งเป็นสนามบินสาธารณะแห่งที่ 3 ที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัทฯ โดยจะสร้างอาคารผู้โดยสารและขยายรันเวย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรองรับเครื่องบินประเภทไอพ่นขนาดเล็ก จากเดิม 1,800 เมตร เพิ่มเป็น 2,100 เมตร ซึ่งมีงบลงทุนประมาณ 800 ล้านบาท
สำหรับ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ยังคงเดินหน้าเชื่อมสายการบินพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ ที่ปัจจุบันมีพันธมิตรแบบข้อตกลงเที่ยวบินร่วมแบบ Codeshare รวมทั้งสิ้น 30 สายการบิน ล่าสุด ได้แก่ ลุฟท์ฮันซ่า (Lufthansa) และ สวิสอินเตอร์เนชั่นนัลแอร์ไลน์ (Swiss International Airlines) ที่รวมกับ ออสเตรียนแอร์ไลน์ (Austrian Airlines) ซึ่งเป็นพันธมิตร Codeshare ตั้งแต่ปี 2559 ถือว่าบริษัทมีสายการบินพันธมิตรที่อยู่ในกลุ่มลุฟท์ฮันซ่า (Lufthansa Group) ถึง 3 สาย พร้อมทั้งมีพันธมิตรสายการบินข้อตกลงเที่ยวบินร่วมแบบ Interline มากกว่า 70 สายการบิน
ด้วยเหตุดังกล่าว บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการฝูงบินอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์สมีฝูงบินทั้งสิ้น จำนวน 23 ลำ ประกอบไปด้วย เครื่องบิน AIRBUS A320 จำนวน 2 ลำ AIRBUS A319 จำนวน 11 ลำ และเครื่องบินใบพัด ATR 72-600 จำนวน 10 ลำ โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2567 นี้จะสามารถจัดหาเครื่องบินเพิ่มเติมได้อีกจำนวน 2 ลำ สำหรับเครื่องบินประเภท AIRBUS A319 ที่ตอนนี้อยู่ระหว่างการเจรจาเงื่อนไขของการรับมอบเครื่องบินและหากเป็นไปตามแผนการดังกล่าวก็จะสามารถให้บริการเครื่องบินเพิ่มรวมทั้งสิ้นเป็นจำนวน 25 ลำ ซึ่งบริษัทฯ ยังมีแผนที่จะออกร่างข้อเสนอ (RFP)เพื่อที่จะพิจารณาการเปลี่ยนแปลงประเภทฝูงบินในอนาคตอีกด้วย
นายพุฒิพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มการท่องเที่ยวเดินทางในช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทฯ คาดการณ์ว่าจะเป็นไปในทิศทางที่น่าพึงพอใจ เนื่องจากมีปัจจัยจากสถิติการสำรองที่นั่งบัตรโดยสารล่วงหน้าของบางกอกแอร์เวย์ส ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนการเติบโตกว่า 12% จากปี 2566 ซึ่งมีการจองต่อเนื่องตลอดถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2568
โดยเฉพาะเส้นทางสมุย เป็นเส้นทางสำคัญที่ทำรายได้ให้กับสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ซึ่งสนามบินสมุยได้ให้บริการ 11 เส้นทางบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยในครึ่งปีแรกของปี 2567 มีจำนวนเที่ยวบินเข้า-ออกสนามบินสมุยเฉลี่ยวันละ 41 เที่ยวบิน รวมทุกสายการบิน และบริษัทฯมีสัดส่วนรายได้ผู้โดยสารในเส้นทางสมุยประมาณ 70% และมีสัดส่วนจำนวนเที่ยวบินประมาณ 60%
สำหรับจำนวนผู้โดยสารของสนามบินสมุยในไตรมาส 2/2567 เติบโตจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ประมาณ 15% และในรอบ 6 เดือนแรกปี 2567 เทียบกับ 6 เดือนแรกปี 2566 เติบโตประมาณ 22% และ หากเทียบกับปี 2562 (ก่อนเกิดโควิด) เติบโตมากกว่า 11% ส่วนปริมาณเที่ยวบิน ไตรมาส 2/2567 เติบโตจากช่วงเดียวกัน ปี 2566 ประมาณ 13%
นายพุฒิพงศ์ ยังกล่าวต่อว่า จากภาพรวมของทิศทางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นบวกได้ส่งผลให้ครึ่งปีแรกของปี 2567 บริษัทขนส่งผู้โดยสารแล้ว 2.26 ล้านคน สูงขึ้น 11% จากครึ่งปีแรก แต่ยังคงน้อยกว่าช่วงพรีโควิด-19 (ปี 2562 ) ประมาณ 25% ที่มีจำนวนเที่ยวบินรวม 24,314 เที่ยวบิน สูงขึ้นจากครึ่งแรกของปี 2566 ประมาณ 11% รายได้จากการขนส่งผู้โดยสารต่อหน่วย (Passenger Yield) 6.59 บาท ปรับตัวสูงขึ้นจากครึ่งปีแรกของปีที่ผ่านมา 13% และสูงขึ้นจากช่วงก่อนโควิด 49% ในขณะที่ปริมาณการบรรทุก (Load Factor) เท่ากับ 83% ดีขึ้น 13% จากช่วงก่อนโควิด
“บริษัทฯ มีความมั่นใจสำหรับเป้าหมายผลการดำเนินงานตลอดปี 2567 หรือจะมีรายได้กลับไปอยู่ที่ 70% ของรายได้ในปี 2562 โดยจะทำได้ตามที่คาดการณ์จำนวนเที่ยวบิน 48,000 เที่ยวบิน Load Factor เฉลี่ย 85% จำนวนผู้โดยสาร 4.5 ล้านคน และรายได้ผู้โดยสาร (Passenger Revenue) 17,800 ล้านบาท ที่มีจำนวนผู้โดยสารรวมทุกสายการบินกว่า 1.4 ล้านคน เติบโตขึ้น 22% จากปี 2566 และเติบโตขึ้นจากช่วงพรีโควิด 11% ในจำนวนเที่ยวบินรวมทั้งสิ้น 14,983 เที่ยวบินและบริษัทฯมีสัดส่วนรายได้ผู้โดยสารในเส้นทางสมุยประมาณ 70% และมีสัดส่วนจำนวนเที่ยวบินประมาณ 60%” นายพุฒิพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย