
CGSI คงเป้า HSI ที่ 26,300 จุด เชื่อปลายปี “หุ้นจีน” ฟื้น รับนโยบายกระตุ้น
CGSI มองหุ้นจีนยังมีอัพไซด์แม้ความเสี่ยงยังสูง แนะลงทุนแบบ barbell strategy เน้นหุ้นปันผลสูงผสมหุ้นเติบโต ด้านภาครัฐเตรียมใช้ PSL คุมความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอปลายปี
นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (CGSI) เปิดเผยในบทวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ “China Strategy” ว่า ตลาดหุ้นฮ่องกงในช่วงครึ่งปีแรก 2568 ทำผลงานได้โดดเด่นในระดับโลก และคาดว่าดัชนีฮั่งเส็ง (Hang Seng Index: HSI) จะยังมีอัพไซด์เล็กน้อยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จากแรงหนุนด้านสภาพคล่อง โดยเฉพาะเงินทุนต่างชาติและอุปสงค์จากนักลงทุนจีนผ่านโครงการ southbound trading ที่ยังคงแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง
CGSI ระบุว่า การอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ประกอบกับแนวโน้มการกลับมาลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เป็นปัจจัยส่งเสริมให้มีเงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีนซึ่งมีสัดส่วนสูงสุดในดัชนี MSCI EM Index อีกทั้งยังมีจุดแข็งในฐานะผู้นำด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง (Soft Tech) และเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotech)
ข้อมูลเพิ่มเติมระบุว่า เงินทุนจากนักลงทุนจีนที่เข้าซื้อหุ้นในตลาดฮ่องกง (southbound investor) ในครึ่งปีแรกคิดเป็น 91% ของปริมาณเงินลงทุนทั้งปี 2567 สะท้อนโมเมนตัมการลงทุนที่ยังคงแข็งแกร่ง โดยมีแรงจูงใจจากระดับมูลค่าหุ้นที่น่าสนใจ อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่สูงกว่าตลาด A-share และข้อจำกัดการลงทุนของนักลงทุนจีนแผ่นดินใหญ่จากมาตรการควบคุมเงินทุน
ทั้งนี้ การมีหุ้น IPO ใหม่เข้าสู่ตลาดน่าจะช่วยเพิ่มคุณภาพและความหลากหลายของตลาดในระยะกลางถึงยาว CGSI ยังคงประมาณการดัชนี HSI สิ้นปี 2568 ไว้ที่ 26,300 จุด คิดเป็นค่า P/E ล่วงหน้า 11.3 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีเล็กน้อย (ประมาณ 0.5 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) หรือคิดเป็นอัพไซด์ราว 8.3% จากระดับปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม CGSI เตือนว่า แม้ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ จะผ่อนคลายลงในช่วงนี้ แต่ยังมีความเปราะบาง และอาจทวีความรุนแรงขึ้นหากมีมาตรการจำกัดการส่งออกชิ้นส่วนในห่วงโซ่อุปทานเพิ่ม อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าแรงกระทบต่อตลาดจากความขัดแย้งทางการค้าจะลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง และดัชนีจะมีโอกาสฟื้นตัวช่วงปลายปี
ในด้านเศรษฐกิจ CGSI มองว่าการเติบโตของจีนในครึ่งปีแรก 2568 ส่วนใหญ่มาจากปัจจัยเฉพาะ เช่น การเร่งส่งออก มาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนในภาคการผลิต อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 3/2568 อาจเกิดช่องว่างเชิงนโยบาย (policy vacuum) เนื่องจากผู้กำหนดนโยบายอาจชะลอการออกมาตรการเพิ่มเติมในระยะสั้น แต่คาดว่าจะเริ่มใช้มาตรการที่เด็ดขาดขึ้นในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2568 เพื่อรักษาโมเมนตัมเศรษฐกิจ
หนึ่งในมาตรการที่คาดว่าจะถูกนำมาใช้อย่างจริงจังคือ “Pledged Supplemental Lending” (PSL) หรือการปล่อยกู้แบบมีหลักประกัน ซึ่งเริ่มต้นภายหลังการประชุม Politburo เมื่อเดือนเมษายน 2568 โดยประเมินวงเงินที่ 5 แสนล้านหยวน เพื่อประคองแนวโน้มเศรษฐกิจและบรรเทาแรงกดดันขาลง
ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ CGSI คาดว่า real GDP ของจีนในปี 2568 จะเติบโต 5.1% จากปีก่อน ขณะที่ nominal GDP เติบโตเพียง 4.1% จากปีก่อน ส่งผลให้ GDP deflator ติดลบที่ -1.0% สะท้อนแรงกดดันจากภาวะเงินฝืด (deflation) ซึ่งเป็นลักษณะของภาวะ “neijuan” หรือสภาพที่เศรษฐกิจไม่มีการพัฒนาอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง
CGSI จึงแนะนำให้นักลงทุนใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบ “barbell strategy” คือ การจัดสรรพอร์ตให้ประกอบด้วยหุ้นปันผลสูงที่สร้างรายได้มั่นคงควบคู่กับหุ้นเติบโตที่มีโอกาสฟื้นตัวของอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) โดยบริษัทที่มีแนวโน้มปรับ ROE ดีขึ้นมักใช้กลยุทธ์ผสมผสาน เช่น การซื้อหุ้นคืน การควบคุมต้นทุน การยกเลิกแผนขาดทุน การขยายธุรกิจสู่ตลาดมาร์จินสูง การพัฒนาเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่าง AI LLMs และยานยนต์นวัตกรรม ตลอดจนมีโมเดลธุรกิจเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม เช่น การบริโภคเชิงอารมณ์และประสบการณ์ ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตแตกต่างจากตลาดแมส