กสิกรไทย คาดเที่ยวไทยโตต่ำ! ครึ่งปีแรกขยายตัว 2.3% “พิษเศรษฐกิจ-ทัวร์นอกราคาถูก” รุมเร้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด เที่ยวไทยปี 68 โตเพียง 2.2% เหตุเศรษฐกิจซบ-เที่ยวต่างประเทศคึก ขณะที่เมืองรองได้รับความสนใจเพิ่ม แต่รายได้ยังตามหลังเมืองหลัก รวมถึงกังวลภัยธรรมชาติ


ผู้สื่อข่าวรายงาน (4 ก.ค.68) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 ขยายตัวชะลอลง โดยมีจำนวนการเดินทางรวมราว 101 ล้านคน-ครั้ง เติบโต 2.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศอยู่ที่ 574,426 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% ปัจจัยลบสำคัญที่กดดันตลาด ได้แก่ เหตุการณ์แผ่นดินไหวในบางพื้นที่ กำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวของผู้บริโภคบางกลุ่ม รวมถึงกระแสความนิยมเดินทางไปต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น

บางจังหวัดสำคัญพบการชะลอตัวของการเดินทางท่องเที่ยวจากคนไทย อาทิ กรุงเทพมหานคร กระบี่ พระนครศรีอยุธยา และจันทบุรี

สำหรับครึ่งหลังของปี ศูนย์วิจัยฯ คาดว่า การเดินทางของคนไทยในประเทศจะยังเติบโต แต่ในอัตราที่ชะลอลง เหลือ 1.4% เมื่อเทียบรายปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการเดินทางสะสม โครงการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น “เที่ยวไทยคนละครึ่ง” ที่ให้ส่วนลดค่าที่พัก และคูปองดิจิทัลสำหรับใช้จ่ายในร้านค้ากำหนด อย่างไรก็ตาม ตลาดยังเผชิญแรงกดดันจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัว ปัจจัยทางการเมือง และสภาพอากาศที่แปรปรวน

เทรนด์การเดินทางไปต่างประเทศได้รับแรงหนุนจากนโยบายยกเว้นวีซ่า และแพคเกจราคาประหยัด เช่น ทัวร์เกาหลีใต้ 4 วัน 2 คืน เริ่มต้นราว 6,000 บาท และเวียดนามในราคาเฉลี่ย 7,000 บาท ทำให้คนไทยบางกลุ่มเปรียบเทียบความคุ้มค่ากับการท่องเที่ยวภายในประเทศ

ทั้งปี 2568 คาดว่า คนไทยจะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศรวม 205 ล้านคน-ครั้ง ขยายตัว 2.2% จากปีก่อน โดยการเติบโตจะไม่กระจายเท่ากันในแต่ละพื้นที่ เมืองท่องเที่ยวรอง หรือ “เมืองน่าเที่ยว” ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวต้องการหลีกเลี่ยงความแออัด ค้นหาประสบการณ์ใหม่ ๆ และได้รับแรงหนุนจากการรีวิวผ่านโซเชียลมีเดีย รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงศาสนา

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า สัดส่วนการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในเมืองรองในปีนี้อาจเพิ่มขึ้นแตะระดับ 41.4% เพิ่มขึ้นจาก 32.3% ในช่วงเดียวกันของปี 2562 (ก่อนโควิด-19) หลายจังหวัดเมืองรองมีจำนวนผู้เดินทางเกิน 2 ล้านคน เช่น สุพรรณบุรี เชียงราย สมุทรสงคราม และอุบลราชธานี ซึ่งสูงกว่าหลายจังหวัดท่องเที่ยวหลัก เช่น สงขลา หรือพังงา

อย่างไรก็ตาม รายได้จากการท่องเที่ยวในเมืองรองยังมีสัดส่วนเพียง 28% ของรายได้รวมจากการท่องเที่ยวภายในประเทศ ขณะที่เมืองท่องเที่ยวหลักยังครองสัดส่วนรายได้สูงถึง 72%

ในด้านการใช้จ่าย ศูนย์วิจัยคาดว่าทั้งปี 2568 คนไทยจะใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวในประเทศรวม 1.14 ล้านล้านบาท เติบโต 2% จากปีก่อน โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4,100 บาทต่อคนต่อครั้ง ยังคงต่ำกว่าระดับก่อนโควิด-19 ซึ่งสะท้อนจากพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการเดินทางแบบไปเช้า-เย็นกลับ ที่มีสัดส่วนมากถึง 51% ของจำนวนผู้เดินทางทั้งหมด

ขณะเดียวกัน เมืองรองยังมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อทริปเพียง 2,800 บาทต่อคน ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายในเมืองท่องเที่ยวหลักที่เฉลี่ย 5,000 บาทต่อคน ส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างราคาที่พัก อาหาร และของที่ระลึกที่อยู่ในระดับต่ำ เช่น โรงแรมระดับ 4 ดาวในเมืองรองมีราคาคืนละประมาณ 1,850 บาท เทียบกับเมืองหลักอย่างกรุงเทพฯ หรือภูเก็ตที่อยู่ที่ราว 3,500 บาทต่อคืน

Back to top button