“วิกิจ” มอง SET ดาวน์ไซด์จำกัด แนวรับ 1,100 จุดเอาอยู่! แนะสะสมหุ้น P/BV ต่ำ-ปันผลเด่น

นายวิกิจ ถิรวรรณรัตน์ มอง SET ไม่น่าจะเกิดภาวะ Panic Sell แนวรับ 1,100 จุดเอาอยู่ รอลุ้นไทยเจรจาสำเร็จ อาจเป็นจุดเปลี่ยน พร้อมแนะลงทุนหุ้นที่มีพื้นฐานดี มี P/BV ต่ำ และให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลในระดับสูงได้ รวมถึงหุ้นที่รายได้ไม่พึ่งสหรัฐฯ


นายวิกิจ ถิรวรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นไม่น่าจะเผชิญแรงขายอย่างรุนแรงหรือเกิดภาวะ Panic Sell เหมือนในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมองว่าแนวรับบริเวณ 1,100 จุด น่าจะสามารถประคองดัชนีไว้ได้ ขณะที่หุ้นรายตัวที่ได้รับผลกระทบโดยตรงอาจมีแรงขายออกมา ขณะที่บางตัวอาจเริ่มฟื้นตัวได้บ้างจากแรงดึงกลับเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี แม้แรงขายจะจำกัด แต่ตลาดยังไม่มีปัจจัยสนับสนุนใหม่เข้ามาอย่างชัดเจน ทำให้การฟื้นตัวยังจำกัด ขณะเดียวกันยังมีโอกาสที่จะเกิดปัจจัยบวกที่ไม่คาดคิด (Positive Surprise) ภายในเดือนนี้ได้เช่นกัน

สำหรับกลุ่มหุ้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ กลุ่มส่งออกอาหาร เช่น บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU และ บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ITC ซึ่งรายหลังมีสัดส่วนส่งออกครึ่งหนึ่งของรายได้

กลุ่มถุงมือยาง เช่น บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA และบริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT ที่มีคู่แข่งจากอินโดนีเซีย

กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA, บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE, บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA ซึ่งมีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในสัดส่วนประมาณหนึ่งในสี่ของรายได้ ผลกระทบเกิดจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อสินค้าจากไทยต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าคู่แข่งจากประเทศอื่น อาทิ อินโดนีเซียและเวียดนาม

แม้ว่าสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐฯ ของบริษัทจดทะเบียนไทยรวมกันจะมีไม่ถึง 1% ของรายได้รวม แต่ผลกระทบอาจรุนแรงในระดับรายบริษัท โดยเฉพาะบริษัทที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ในระดับสูง ขณะที่ผลกระทบทางอ้อม เช่น กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ราคาหุ้นได้ปรับตัวลงสะท้อนความกังวลไปส่วนหนึ่งแล้ว

หากการเจรจากับสหรัฐฯ ไม่สำเร็จ และอัตราภาษี 36% ถูกนำมาใช้จริง อาจส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับฐานลงมาอยู่บริเวณ 980 จุด พร้อมกับการปรับลดประมาณการกำไร (EPS) ของตลาดโดยรวม โดยหุ้นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเศรษฐกิจโดยตรงอาจปรับลงต่อเนื่อง ขณะที่หุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (P/BV ต่ำ) เช่น กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ อย่าง บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC และบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL อาจได้รับผลกระทบน้อยกว่า และยังสามารถประคองตัวได้

ในอีกด้านหนึ่ง หากตลาดหุ้นปรับตัวลงมาถึงจุดต่ำสุด ก็อาจเป็นโอกาสในการรีเซ็ตตลาดใหม่ โดยนักลงทุนสามารถเลือกลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานดี มี P/BV ต่ำ และให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลในระดับสูงได้ โดยเฉพาะในช่วงที่นักลงทุนต้องการเน้นการป้องกันความเสี่ยง

ขณะที่ในเชิงเศรษฐกิจ แม้ไทยจะยังเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในระดับหลักหมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าน้อยกว่าเวียดนามมาก แต่หากไทยต้องเผชิญกับภาษีในอัตราที่สูงกว่าคู่แข่ง ความสามารถในการแข่งขันในสินค้าบางกลุ่มที่มีการแข่งขันโดยตรงอาจลดลง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่สามารถลดทอนผลกระทบดังกล่าวได้บ้าง เช่น คุณภาพของสินค้าไทย และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ซึ่งช่วยชดเชยต้นทุนการส่งออกได้บางส่วน

การปรับตัวในตลาดส่งออกไทยอาจต้องเร่งเจาะตลาดใหม่ ๆ โดยเฉพาะการเพิ่มบทบาทกับกลุ่มประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรีด้วย เช่น CPTPP, RCEP หรือขยายความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในกรอบ Bid ทั้งนี้ยังมีโอกาสในการเจรจาลดภาษีให้เหลือ 0% ก่อนวันที่ 1 สิงหาคม 2568 หากสามารถทำได้สำเร็จ สถานการณ์ในตลาดอาจกลับกลายเป็นบวกได้อย่างมีนัยสำคัญ

ในกรณีที่ไทยเลือกใช้แนวทางคล้ายเวียดนาม โดยการลดภาษีนำเข้าสินค้าบางประเภทจากสหรัฐฯ อาจช่วยสร้างประโยชน์เพิ่มเติม ทั้งในด้านการลดต้นทุนการผลิต เช่น การนำเข้าถั่วเหลือง ถั่วเปลือกแข็ง ชิ้นส่วนยานยนต์ หรือรถยนต์ไฟฟ้า และยังอาจทำให้ราคาสินค้าบางประเภทในประเทศถูกลง ผู้บริโภคได้รับประโยชน์โดยตรง นอกจากนี้ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารสัตว์ก็อาจได้รับอานิสงส์ อย่างไรก็ดี สินค้าบางประเภท เช่น ก๊าซธรรมชาติ หรือน้ำมันดิบ อาจไม่เหมาะกับการนำเข้า เนื่องจากต้นทุนการขนส่งที่สูง

ในมุมมองทางเศรษฐกิจมหภาค JP Morgan ประเมินว่า มาตรการภาษีเช่นนี้อาจส่งผลต่อการบริโภคและแนวโน้มเศรษฐกิจ โดยรวม ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงในระยะต่อไป และหากเป็นเช่นนั้น กลุ่มธุรกิจที่มีแผนลงทุนขนาดใหญ่โดยเฉพาะในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น กลุ่มโทรคมนาคมและโรงไฟฟ้า อาจได้รับผลดีจากต้นทุนการเงินที่ลดลงในฝั่งเงินกู้ต่างประเทศ

โดยสรุป สถานการณ์ในขณะนี้ยังมีทั้งปัจจัยบวกและลบที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความคืบหน้าของการเจรจากับสหรัฐฯ ก่อนวันที่ 1 สิงหาคมนี้ ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญในการประเมินทิศทางของตลาดหุ้นในระยะถัดไป สำหรับนักลงทุนในระยะสั้น ดาวน์ไซด์น่าจะจำกัดและอาจมีโอกาสในการเก็งกำไรเฉพาะกลุ่ม ขณะที่ในระยะกลางถึงยาว หากดัชนีปรับฐานลงมาระดับ 980 จุด ก็อาจเป็นจังหวะที่น่าสนใจในการทยอยเข้าสะสมหุ้นพื้นฐานดีในราคาที่น่าดึงดูดใจ

Back to top button