
THCOM เอาจริง! ใช้ “เทคโนโลยีอวกาศ” สู้ฝุ่นพิษ PM2.5 ผนึก สอน. จับตาเผาอ้อยจากนอกโลก
THCOM ประกาศทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่ Space Tech เต็มรูปแบบ! จับมือ "สอน." เปิดตัวโซลูชัน “Burn Tracking” แก้ปัญหาเผาอ้อยและ PM2.5 ต่อยอดสู่ธุรกิจคาร์บอนเครดิต พร้อมกางแผนครึ่งปีหลังสุดร้อนแรง จ่อชิงประมูลโครงการยักษ์ USO3 มูลค่ากว่า 5,100 ล้านบาท สร้าง New S-Curve หนุนการเติบโตในอนาคต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ไทยคม จํากัด (มหาชน) หรือ THCOM ร่วมกับ กระทรวงอุตสาหกรรม,สํานักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เปิดตัวแพลตฟอร์ม Burn Tracking อย่างเป็นทางการ เพื่อติดตามร่องรอยการเผาไหม้ในไร่อ้อย ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศระบบดาวเทียม(Space Technology) ผสานกับการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย AI (Artificial Intelligence) เพื่อติดตามร่องรอยการเผาไหม้ในไร่อ้อยแบบเรียลไทม์ มุ่งลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างเป็นระบบ พร้อมต่อยอดขยายผลสู่ทุกภาคเกษตรกรรม หวังยกระดับสภาพแวดล้อมและเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน
นายใบน้อย สุวรรณชาตรี เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงาน สอน. ดำเนินนโยบายภายใต้แนวคิด “Mind ใช้หัว และใจ ปั้นอุตสาหกรรมคู่ชุมชน” ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยปีการผลิต 2567/2568 มีชาวไร่อ้อยขึ้นทะเบียนกว่า 430,000 ราย ครอบคลุมพื้นที่ 11.13 ล้านไร่ มีปริมาณอ้อยเข้าหีบกว่า 92 ล้านตัน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในปี 2567 มากกว่า 184,000 ล้านบาท และเฉพาะครึ่งปี 2568 สร้างรายได้แล้วกว่า 92,500 ล้านบาท ขณะที่ในเวทีโลกไทยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 5 ของโลก และส่งออกมากเป็นอันดับ 2 รองจากบราซิล
ทั้งนี้ สอน. ได้ดำเนินมาตรการลดการเผาอ้อยอย่างเข้มข้น 6 ด้าน หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาแพลตฟอร์ม Burn Tracking ร่วมกับไทยคม ซึ่งช่วยให้สามารถตรวจจับร่องรอยการเผาไหม้ในไร่อ้อยได้อย่างแม่นยำ โดยในฤดูผลิตที่ผ่านมา อัตราอ้อยสดเข้าหีบสูงถึง 85% ลดการเผาลงเหลือเพียง 15% หรือราว 13.68 ล้านตัน จากเดิมกว่า 24 ล้านตัน เทียบเท่าลดการเผาป่ากว่า 1 ล้านไร่ และลดฝุ่น PM 2.5 ได้มากกว่า 5,000 ตันต่อปี
สำหรับแพลตฟอร์ม Burn Tracking ที่เปิดตัวในครั้งนี้ จะเป็นเครื่องมือวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์การเผาไหม้ในไร่อ้อยแบบเรียลไทม์ ด้วยระบบ Dashboard และแผนที่เชิงพื้นที่ (Geo-Map) สามารถแสดงข้อมูลตั้งแต่ระดับประเทศ จังหวัด ไปจนถึงตำบล พร้อมระบบวิเคราะห์ผลผลิตอ้อย การคาดการณ์ปริมาณอ้อยเข้าโรงงาน และแสดงจุดความร้อนในพื้นที่อย่างแม่นยำ รองรับการส่งออกข้อมูลในรูปแบบ PDF และ CSV และสามารถใช้งานผ่าน Line Official Account ได้อีกด้วย
ด้านนายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THCOM กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยคมได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่ง ในการนำเทคโนโลยีอวกาศ หรือ Space Tech มาคิดค้นนวัตกรรมและบริการเพื่อพัฒนาการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ล่าสุดครั้งนี้เดินหน้ายุทธศาสตร์สร้างรายได้จากกลุ่มเทคโนโลยีอวกาศ (Space Tech) และระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยพัฒนาแพลตฟอร์มตรวจจับการเผาในไร่อ้อยร่วมกับสอน. เบื้องต้นครอบคลุม 4 จังหวัดจากทั้งหมด 47 จังหวัดปลูกอ้อย หวังขยายผลใช้ทั่วประเทศในอนาคต พร้อมต่อยอดข้อมูลจากดาวเทียมด้วย AI วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงพื้นที่แบบ real-time เสริมศักยภาพบริหารจัดการมลพิษ PM2.5
สำหรับรูปแบบรายได้คาดว่าจะมาจากการเก็บค่าเข้าถึงและค่าบริการแพลตฟอร์ม ซึ่งอาจเป็นรายปีหรือรายเดือนคาดว่าจะสร้างรายได้จากรูปแบบสมาชิกหรือค่าบริการรายปีแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยในการบริหารจัดการปัญหาการเผาอ้อย และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบข้อมูลการเผาอ้อยได้ ปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 1 ล้านไร่ จากพื้นที่ปลูกอ้อยทั้งหมด 14 ล้านไร่
นอกจากนี้ธุรกิจ Space จากการประเมินการดูดซับคาร์บอน (Carbon Watch) โดยใช้ดาวเทียมในการประเมินการดูดซับคาร์บอน โดยได้เซ็นสัญญากับบริษัทใหญ่ๆ อย่าง CPack ของ SCG และ Global Green Chemical (GGC) ภายใต้กลุ่ม ปตท. ซึ่งธุรกิจเหล่านี้จำเป็นต้องหาทางดูดซับคาร์บอนกลับคืนบริการนี้กำลังเริ่มต้นและคาดว่าจะขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีกฎหมาย (พ.ร.บ.) เกี่ยวกับคาร์บอนเกิดขึ้น ซึ่งคาดว่าจะทำให้ทุกคนตื่นตัวและต้องดำเนินการเครื่องมือ Carbon Watch นี้ได้รับการรับรองจาก T-VER ของ อบก. (องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก).
นอกจากนี้ยังมีความสนใจที่จะขยายบริการนี้ไปยังต่างประเทศ เช่น ประเทศลาว ที่มีป่าใกล้เคียงกับประเทศไทยการวัดคาร์บอนในไทยจะรับรองวิธีการวัด ส่วนในระดับนานาชาติอย่าง Vera หรือ Gold Standard จะดูภาพรวมทั้งโครงการ
“แนวโน้มรายได้ไตรมาส 3/68 บริษัทคาดการณ์ว่าจะสูงขึ้นกว่าไตรมาส 2/68 โดยการเติบโตนี้เป็นผลมาจากโครงการที่เคยล่าช้าในช่วงไตรมาสแรกและเริ่มสร้างรายได้ในช่วงกลางไตรมาส 2 โดยจะสามารถสร้างรายได้ได้อย่างเต็มที่ อาทิ การให้บริการต่อเนื่องของโครงการ USOSAT เฟส 2 ซึ่งตอนนี้เริ่มสร้างรายได้แล้ว และการส่งผู้เชี่ยวชาญไปช่วย NT ควบคุมดาวเทียม ซึ่งทาง NT ได้อนุมัติแล้วและเริ่มดำเนินการในช่วงกลางไตรมาส 2 เช่นกัน และรายได้จากการร่วมมือกับ ฮิวจ์ คอมมิวนิเคชั่นส์ อินเดีย (Hughes Communications India Private Limited: HCI) ผู้ให้บริการดาวเทียมบรอดแบนด์ชั้นนำในประเทศอินเดีย ขณะนี้เริ่มให้บริการไทยคม 8 แล้ว โดยการใช้งานดาวเทียมไทยคม 8 ปัจจุบันมีการใช้งานประมาณ 65-70% แต่มี Commitment จากคู่ค้าว่าจะใช้เต็ม 100% และคาดว่ารายได้รวมทั้งปี 68 จะดีกว่าปีที่แล้ว” นายปฐมภพ กล่าวเพิ่มเติม
สำหรับโครงสร้างรายได้ปัจจุบันงบริษัทมาจากประเทศไทยประมาณกว่า 60% และจากต่างประเทศประมาณ 40% ส่วนรายได้จากกลุ่ม Space Tech (S-Tech) ยังคงเป็นส่วนน้อยของรายได้ทั้งหมด เนื่องจากยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและในอนาคตคาดว่าสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ด้านความคืบหน้าโครงการ USO เฟส 3 (USO 3): เป็นโครงการที่มีมูลค่ารวม 5,100 ล้านบาท บริษัทมีความตั้งใจที่จะเข้าประมูล โดยมีเป้าหมายที่จะเป็น ผู้รับเหมาหลัก (prime integrator) ในบางภูมิภาค แทนที่จะเป็นเพียงผู้ให้บริการดาวเทียมเหมือนใน USO เฟส 2 การเป็นผู้รับเหมาหลักจะทำให้บริษัทได้รับรายได้ในส่วนของ “top-line” มากขึ้น เนื่องจากต้องรวมการบริการอื่นๆ เช่น ไฟเบอร์ และระบบที่ไม่ใช่ดาวเทียมด้วย ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น(เฮียริ่ง) ครั้งที่ 2 และคาดว่าจะมีการเปิด TOR และเซ็นสัญญาได้ภายในปลายเดือนกันยายนนี้ เพื่อเร่งส่งมอบอุปกรณ์บางส่วนก่อนสิ้นปี
ส่วนการประมูลวงโคจรใหม่บริษัทลูกของไทยคมได้ยื่นข้อเสนอในการประมูลวงโคจรสุดท้าย 2 วงโคจร ได้แก่ 51 องศาตะวันออก และ 142 องศาตะวันออก ซึ่งแม้ว่าอาจจะยังไม่มีการใช้งานที่สูงมาก แต่ถือเป็นสมบัติของประเทศ และบริษัทพร้อมที่จะพัฒนาหากมีโอกาสทางธุรกิจ ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการยื่นข้อเสนอและอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กสทช. และคาดว่าจะทราบผลภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า การประมูลครั้งนี้ไม่มีคู่แข่ง นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการเปิดตัวดาวเทียมไทยคม 9 ในช่วงปลายปี 2568