“ดร.รุ่ง” เปิดใจผ่าน “บลูมเบิร์ก” ดันการเงินผ่อนคลาย จับมือรัฐ-เอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

“ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส” เปิดใจกับสื่อต่างประเทศ พร้อมขับเคลื่อนงานเชิงรุกมากขึ้น ย้ำชัดสนับสนุนนโยบาย “การเงินแบบผ่อนคลาย” หากได้รับตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. จะเปิดเวทีหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาครัฐ ภาคการเงิน และภาคเอกชนทันที เพื่อผลักดันการประสานนโยบายการเงินและการคลังอย่างใกล้ชิด


ผู้สื่อข่าวรายงาน ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้ว่าการธปท. คนใหม่ เปิดเผยผ่านการให้สัมภาษณ์กับ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก เมื่อวันอังคารที่ 15 ก.ค. 68 ที่ผ่านมาว่า ตนจะทำงานเชิงรุกมากขึ้นเล็กน้อยในการกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ย พร้อมเรียกร้องให้มีการประสานงานกันใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ระหว่างฝ่ายนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง

“เนื่องจากเรามีทรัพยากรจำกัดมาก กระสุนทุกนัดที่ใช้จำเป็นต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น สิ่งนี้อาจเกิดขึ้นได้ก็ต่อ เมื่อเราร่วมมือกันและนโยบายของเราถูกกำหนดให้ไปในทิศทางเดียวกัน อย่างสอดประสานและมีการประสานงานกันที่ดี กว่าเดิม” ดร.รุ่ง กล่าว

โดยหากตนได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเปิดให้มีการหารือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่หลากหลาย ทั้งจากรัฐบาล ภาคการเงิน และภาคเอกชน ตั้งแต่เริ่มรับตำแหน่ง

ทั้งนี้ในหลายครั้งที่เราปล่อยผ่านเรื่องต่างๆ ให้ลุกลาม จนถึงขั้นกลายเป็นการเผชิญหน้า การที่เราได้รับฟังพวกเขาตั้งแต่เนิ่น ๆ บอกพวกเขาตั้งแต่เนิ่น ๆ และพวกเขาก็รับฟังเราตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้เรามีโอกาสในการแก้ไขปัญหาและเห็นพ้องต้องกันมากขึ้น รวมถึงทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีเวลาเตรียมการมากขึ้นด้วย

ตนสนับสนุนจุดยืนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในปัจจุบันของ ธปท. ซึ่งมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงแล้ว 0.75% ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2567 และชี้ว่าความไม่แน่นอนเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยอาจทำให้ธนาคารพาณิชย์ ไม่ลดต้นทุนการกู้ยืมลง จะส่งผลให้ประสิทธิภาพโดยรวมของการลดดอกเบี้ยลดลง

อย่างไรก็ตามช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนนี้ นโยบายการเงินจำเป็นต้องสนับสนุนและทำหน้าที่เป็นสมอเรือแห่งเสถียรภาพ ตอนนี้มีความไม่แน่นอนมากเกินไปอยู่แล้ว และเราไม่ควรเพิ่มมันเข้าไปอีก ดิฉันอาจออกตัวเชิงรุกมากขึ้นเล็กน้อยในการชี้นำทิศทางอัตราดอกเบี้ย

ดร.รุ่ง กล่าวเสริมอีกว่า ตนเคยรับมือกับความท้าทายทั้งระดับมหภาคและจุลภาค ค่อนข้างคุ้นเคยกับเครื่องมือของธนาคารกลาง รวมถึงขอบเขตการทำงาน ซึ่งจริง ๆ แล้วกว้างและใหญ่มาก ๆ จึงอยากนำเสนอประสบการณ์ตรงนี้

ทั้งนี้ ยอดสินเชื่อรวมของไทยหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ขณะที่หนี้ครัวเรือนยังอยู่ระดับสูง อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ภายใต้การนำของดร.เศรษฐพุฒิ ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการรักษาขอบเขตนโยบายที่มีอย่างจำกัดนี้ไว้ เพื่อเก็บกระสุนไว้รองรับความผันผวนในอนาคต แม้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ คาดว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.50-0.75% ช่วงปีนี้

Back to top button