ภาคธุรกิจไทยรับสัญญาณบวก! หลัง “สหรัฐ” ถอดชื่อบริษัท “เมียนมา” จากบัญชีคว่ำบาตร

ภาคธุรกิจไทยและนักลงทุนเก็งโอกาสใหม่ หลังสหรัฐถอดชื่อบริษัทเมียนมาออกจากบัญชีคว่ำบาตร หนุนความเชื่อมั่นการค้า–ลงทุนฟื้นตัว จับตา! กลุ่มพลังงาน-สินค้าอุปโภคบริโภคจ่อรับอานิสงส์


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาคธุรกิจของประเทศไทย และกลุ่มนักลงทุนจับตาโอกาสใหม่ หลังสหรัฐอเมริกาประกาศถอดชื่อกลุ่มบุคคล และบริษัทที่มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลทหารเมียนมาออกจากบัญชีคว่ำบาตร ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าอาจเป็นสัญญาณความเปลี่ยนแปลงของท่าทีที่สหรัฐฯ มีต่อเมียนมา

โดยกระทรวงการคลังสหรัฐประกาศยกเลิกข้อจำกัดกับบริษัท KT Services & Logistics, MCM Group, Suntac Technologies และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของบริษัทฯเหล่านี้ เพียงสองสัปดาห์หลังจากผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาออกมาชื่นชมประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พร้อมส่งจดหมายร้องขอให้สหรัฐฯ ลดมาตรการคว่ำบาตร และอัตราการเก็บภาษีนำเข้า

บริษัทและบุคคลเหล่านี้เดิมถูกขึ้นบัญชีดำตั้งแต่หลังการรัฐประหารในปี 2564 ซึ่งโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งของเมียนมา และนำไปสู่การประณามอย่างกว้างขวางในประเด็นสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐไม่ได้ให้คำอธิบายถึงเหตุผลการปลดชื่อออกจากบัญชีคว่ำบาตรในครั้งนี้ ขณะที่ฝ่ายเมียนมายื่นข้อเสนอปรับลดโครงสร้างภาษี และผ่อนปรนกำแพงการค้า เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการเติบโตร่วมกัน

สถานการณ์นี้เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสความต้องการทรัพยากรแร่หายาก (Rare Earth) ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งเมียนมาถือเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตที่สำคัญ โดยแร่ดังกล่าวมีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมไฮเทคและป้องกันประเทศ ทำให้ชาติตะวันตกมองหาแหล่งนำเข้าอื่น ๆ เพื่อลดการพึ่งพาจากประเทศจีน

โดยการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ อาจนำไปสู่การกลับมาของการลงทุน และการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างบริษัทต่างชาติ และเมียนมาในกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม โอกาสเหล่านี้ยังมาพร้อมกับความเสี่ยง โดยบริษัทข้ามชาติที่ต้องการเข้าไปลงทุน หรือเจาะตลาดเมียนมายังต้องพิจารณาประเด็นด้านชื่อเสียง และข้อจำกัดทางกฎระเบียบอย่างรอบคอบ เนื่องจากเมียนมายังคงอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร และเป็นที่จับตามองจากนานาชาติอย่างเข้มงวด

สำหรับบริษัทไทย เช่น บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP มีรายได้จากเมียนมาในสัดส่วนราว 15-17% โดยบริษัทฯ ได้ขายโรงงานผลิตขวดในเมียนมาไปแล้ว ขณะที่ คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG มีรายได้จากเมียนมาประมาณ 9% และอีกหนึ่งบริษัทคือ บริษัท เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ MEGA ซึ่งมีสัดส่วนรายได้จากเมียนมาราว 10-12% (ข้อมูลจากรายงานเก่า)

ด้าน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ไม่ได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตร หรือสถานการณ์ในประเทศแต่อย่างใด  โดยยังคงการดำเนินงานตามเดิมในโครงการแก๊สธรรมชาติ Yanada และ Zawtika ซึ่งตั้งอยู่นอกชายฝั่งทะเลอันดามันของเมียนมา

ทั้งนี้ มูลค่าการค้าระหว่างเมียนมากับไทยในปี 2567 อยู่ที่ราว 250,000 ล้านบาท ซึ่งลดลง 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเมียนมามีมูลค่าการส่งออกมายังประเทศไทยราว 106,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.69% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มีมูลค่าการนำเข้าจากไทยอยู่ที่ 146,000 ล้านบาท ซึ่งลดลง 3.72% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เมียนมาขาดดุลการค้ากับไทยราว 39,294.65 ล้านบาท

ในปัจจุบัน หากนับรวมทุกประเทศคู่ค้าทั่วโลก เมียนมาถือเป็นคู่ค้าอันดับ 20 ของไทย และรั้งอันดับ 8 หากนับเฉพาะประเทศในอาเซียน โดยตกเป็นรองมาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และลาว

หลายประเทศกำลังจับตามองโอกาสการลงทุนในเมียนมา เนื่องจากประเทศอุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งน้ำมัน ก๊าซ อัญมณี และแร่หายาก อีกทั้งยังตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ระหว่างอินเดีย จีน และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเหมาะต่อการเป็นศูนย์กลางการค้า และการเชื่อมโยงในภูมิภาค ส่งผลให้เมียนมามีศักยภาพสูงในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และโลจิสติกส์

นอกจากนี้ ตัวแปรสำคัญอย่าง อายุแรงงาน และต้นทุนการผลิตที่ต่ำ ยังเป็นทางเลือกให้กับอุตสาหกรรมการผลิต และการเกษตรอีกด้วย การที่สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรในครั้งนี้จึงอาจถูกมองว่าเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อความพยายามลดความขัดแย้งภายในประเทศ พร้อมบทบาทของอาเซียนในฐานะคนกลาง

Back to top button