เปิด 8 หุ้นราคาดิ่งเหวไม่เลิก! 11 เดือนกระเป๋าฉีกเกิน 50%

“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์”ทำการรวบรวมหุ้นที่ปรับตัวลงแรงในรอบ 11 เดือน และสวนทิศทางดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET ที่ปรับตัวขึ้นมาจากระดับ 1542.94 จุด (30 ธ.ค. 59) มาอยู่ที่ระดับ 1697.39 จุด ( 30 พ.ย.60) บวกไป 154.45  จุด หรือ 10.01%


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ทำการรวบรวมหุ้นที่ปรับตัวลงแรงในรอบ 11 เดือน และสวนทิศทางดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET ที่ปรับตัวขึ้นมาจากระดับ 1542.94 จุด (30 ธ.ค. 59) มาอยู่ที่ระดับ 1697.39 จุด (30 พ.ย.60) บวกไป 154.45  จุด หรือ 10.01%

โดยครั้งนี้จึงได้ทำการสำรวจหุ้นที่ปรับตัวลงแรงเกิน 50% มานำเสนอ โดยหุ้นที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวมีทั้งหมด 8 ตัว คือ GL, PACE, AJA, TRITN, SMT, SOLAR, NMG และ TGPRO อย่างไรก็ตามการเสนอหุ้นกลุ่มดังกล่าวไม่สามารถนำเสนอข้อมูลให้นักลงทุนได้ครบทุกตัว ดังนั้นครั้งนี้จะขอเลือกนำเสนอหุ้นปรับตัวลงแรงเพียง 5 อันดับแรกเท่านั้น

 

อันดับ 1 บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL ปรับตัวลงแรง 87.42% มาอยู่ที่ระดับ 7.20 บาท (30 พ.ย.60) ลบไป 50.05 บาท จากระดับ 57.25 บาท (30 ธ.ค. 59) ราคาหุ้นปรับตัวแรงจากความกังวลที่บริษัทได้ให้เงินกู้ยืมแก่บริษัทย่อยในสิงคโปร์ ซึ่งบริษัทย่อยนี้ได้ให้บริษัทอื่นสองกลุ่มในเกาะไซปรัส และสิงคโปร์กู้ยืมเงินต่อ หรือ “แครี่เทรดข้ามชาติ” และได้นำหลักทรัพย์ส่วนหนึ่งที่เป็นหุ้นของบริษัทมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ยืมจากบริษัทย่อย

แน่นอนประเด็นดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ราคาหุ้น GL ร่วงหนักตลอด 11 เดือน ที่ผ่าน เนื่องจากบริษัทไม่สามารถชี้แจงข้อมูลการปล่อยกู้ได้ชัดเจน อีกทั้งช่วงที่ผ่านมามีประเด็นลบออกมากระทบอย่างต่อเนื่อง อาทิ การตรวจพบปมฉาว ก.ล.ต.ญี่ปุ่นเคยสั่งปรับฐานปั่นหุ้น และโบรกเกอร์ได้ออกมาเตือนเรื่องการเข้าลงทุน

นอกจากนี้ก.ล.ต.ได้แจ้งให้ GL แก้ไขงบการเงิน แบบรายงาน 56-1 และแบบรายงาน 56-2 ให้ถูกต้อง ตรงต่อความเป็นจริงโดยเร็ว แต่ขณะนี้  GL ยังอยู่ในช่วงการสรรหาสำนักงานสอบบัญชีที่มีความเป็นอิสระและน่าเชื่อถือเพื่อตรวจสอบพิเศษในเงินที่ให้กู้ยืมแก่ผู้กู้กลุ่มไซปรัสและผู้กู้กลุ่มสิงคโปร์ (Special Audit) ประเด็นดังกล่าวจึงทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านมา

อันดับ 2 บริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PACE  ปรับตัวลงแรง 81.85% มาอยู่ที่ระดับ 0.61 บาท (30 พ.ย.60) ลบไป 2.75 บาท จากระดับ 3.36 บาท (30 ธ.ค. 59) ราคาหุ้นปรับตัวลงแรงเนื่องจากมีหลายปัจจัย อาทิ ความกังวลในเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน เนื่องจากการพิจารณาฐานะการเงินจากงบดุล Q1/60 มีหนี้เงินกู้ที่ครบกำหนดชำระภายใน 1 ปี 15.3 พันล้านบาท แต่เป็นเงินเบิกเกินบัญชีและหุ้นกู้ครบกำหนดชำระภายในหนึ่งปี 4.5 พันล้านบาท และส่วนที่เหลือเป็นเงินกู้

อีกทั้ง ก.ล.ต. ให้ PACE ชี้แจงข้อมูลกรณีการเข้าลงทุนของกลุ่ม Partner ใน 2 บริษัทย่อย โดยในคำชี้แจงงบการเงิน Q2/60 ได้มีการทำข้อตกลง Consent conditions Undertaking (CCU) กับกลุ่มผู้ลงทุน ซึ่งมีผลให้ PACE มีภาระผูกพันที่จะต้องซื้อหุ้นบุริมสิทธิบางส่วนคืนมูลค่ารวม 3.7 พันล้านบาท

ขณะเดียวกันบริษัทมีแผนเพิ่มทุน 1.3 หมื่นล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท  แบ่งจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 7.52 พันล้านหุ้น ให้กับผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วน (RO) 1 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นใหม่ ที่ราคาหุ้นละ 0.50 บาท กำหนดจองซื้อและชำระค่าหุ้นวันที่ 9-12 ม.ค.61 และ 15 ม.ค.61

อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวแม้จะมีการออกมาชี้แจงให้นักลงทุนคลายความกังวล แต่ราคาหุ้นก็ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากนักลงทุนยังรอความชัดเจนทั้งแผนธุรกิจใหม่และการชี้แจงงบไตรมาส 2 และ 3 ปี 60

เนื่องจากบริษัทยังไม่สามารถหาข้อสรุปผลการสอบทานการประเมินมูลค่ายุติธรรมในการลงทุนในหุ้นของบริษัท เพซ โปรเจ็ค วัน จำกัด และบริษัท เพซ โปรเจ็ค ทรี จำกัด ซึ่งประเมินโดยที่ปรึกษาทางการเงินรายหนึ่ง เกี่ยวกับประมาณการรายได้ของจุดชมวิวบนอาคารโครงการมหานคร โดยใช้สมมติฐานที่ได้มาจากการคาดการณ์ตัวเลขในอนาคต โดยบริษัทได้ขอนำส่งคำชี้แจงพร้อมงบการเงินฉบับแก้ไขภายในวันที่ 15 มกราคม 2561

อันดับ 3 บริษัท เอเจ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AJA  ปรับตัวลงแรง 69.79% มาอยู่ที่ระดับ 0.58 บาท (30 พ.ย.60) ลบไป 1.34 บาท จากระดับ 1.92 บาท (30 ธ.ค. 59) ราคาหุ้นช่วง 11 เดือนปรับตัวลงแรงนับตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์ฯปลดเครื่องหมาย SP หุ้นเมื่อวันที่ 29 ก.ย.60 หลังบริษัทนำส่งงบการเงินไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ปี 60 แล้ว

ขณะที่ผู้สอบบัญชีมีข้อสังเกตเกี่ยวกับผลกระทบต่อกลุ่มบริษัทจากการเปลี่ยนแปลงทางการบัญชีเรื่องการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญและการรับรู้รายได้ดอกเบี้ย ส่วนผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 1/60 ขาดทุนสุทธิ 127 ล้านบาท ,ไตรมาสที่ 2/60 ขาดทุนสุทธิ 101 ล้านบาท และงวด 6 เดือนปี 60 ขาดทุนสุทธิ 227 ล้านบาท

โดยตลาดฯขอให้ผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลดังต่อไปนี้ด้วยความระมัดระวังเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน ทั้งในส่วนของข้อมูลในงบการเงินไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ปี 60และคำชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาส 1/60 ตามที่ ตลท.สอบถาม และมติคณะกรรมการบริษัท เรื่องการเข้าทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้และทุน การสละสิทธิ์การจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนในบริษัท เวนดิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (VDC) ซึ่งทำให้สิ้นสภาพจากการเป็นบริษัทย่อย โดยลดสัดส่วนการถือหุ้นจากเดิม 60.08% เหลือ 17.67%

ทั้งนี้แม้บริษัทจะมีแผนงานตั้งบริษัทร่วมทุน 45% นำเข้าและจำหน่ายรถ EV และให้เงินช่วยเหลือ AJV ทำธุรกิจจำหน่ายสินค้าผ่านตู้หยอดเหรียญเพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน แต่ดูเหมือนว่าราคาหุ้นยังไม่ตอบรับ เนื่องจากผลการดำเนินงานไตรมาส 3 สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2560 พลิกขาดทุน 114.75 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 104.18 ล้านบาท ราคาหุ้นจึงอ่อนตัวตลอด 11 เดือนที่ผ่านมา

อันดับ 4 บริษัท ไทรทัน โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TRITN ปรับตัวขึ้นแรง 60.42% มาอยู่ที่ระดับ 0.19 บาท (30พ.ย.60) ลบ 0.29 บาท จากระดับ 0.48 บาท (30 ธ.ค. 59) คาดนักลงทุนขายทำกำไรหลังหุ้นปรับตัวขึ้นแรงก่อนหน้านี้ อีกทั้งพื้นฐานบริษัทไม่สดใสนับตั้งแต่ขาดทุนอย่างหนักปี 59 และต่อเนื่องมาในไตรมาส 3/60 และหุ้นไม่มีปัจจัยบวกเข้ามาสนับสนุนยิ่งทำให้นักลงทุนที่เข้ามาเก็งกำไรก่อนหน้านี้เทขายหุ้นมาตลอด 11เดือนที่ผ่านมา

อันดับ 5 บริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SMT  ปรับตัวลงแรง 58.27% มาอยู่ที่ระดับ 2.90 บาท (30พ.ย.60) ลบ 4.05 บาท จากระดับ 6.95 บาท (30 ธ.ค. 59) คาดนักลงทุนขายหุ้นหลังผลงานครึ่งปีแรก 2560 ออกมาไม่สดใส

โดยไตรมาส 2/60 ขาดทุนสุทธิ 229.9 ล้านบาท เนื่องจากมีภาระต้องตั้งสำรองหนี้สินค้า set top box ของบริษัท One Box Home เพื่อให้งบการเงินสะท้อนความเป็นจริง และก่อให้เกิดความชัดเจน และความมั่นใจแก่ผู้ถือหุ้นและนักลงทุน ดังนั้น SMT ได้ตั้งสำรองลูกหนี้และสินค้าคงเหลือจากสินค้า set top box รวมกับการตั้งสำรองวัตถุดิบราว 225 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี SMT กำลังดำเนินการติดตามหนี้และสินค้าคงเหลือจากลูกค้ารายดังกล่าวอย่างจริงจังและได้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยยื่นฟ้องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา คาดว่าจะได้รับการชำระหนี้ดังกล่าวคืนมาในที่สุด

ส่วนแนวโน้มผลประกอบการครึ่งปีหลังคาดจะสามารถเติบโตได้ดีกว่าครึ่งปีแรกเริ่มจาก Q3-Q4 เป็นต้นไป เหตุหลักมาจากปัจจัยบวกจาก IC Packaging ที่เป็นธุรกิจสร้างรายได้หลัก ส่วนสินค้าทาง fiber optics ซึ่งได้ออเดอร์จากลูกค้าทั้งเก่าและใหม่ที่เพิ่มเติมมามากขึ้น

นอกจากนี้บริษัทได้วางเป้าหมายยอดขายปี 61 เติบโต 40% จากปีนี้ หลังจะรุกหนักสินค้า Optics, Wafer dicing และ IC – packaging โดยบริษัทจะเพิ่มยอดขายทั้งจากลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ โดยเฉพาะสินค้าใหม่ New Products ที่จะเป็นสินค้าตัวนำของปีหน้าที่คาดว่าจะเติบโตถึง 100% ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้กำไรเพิ่มมากขึ้น และสนันสนุนให้ผลประกอบการเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง

 

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ การตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button