BGC รุกสู่บรรจุภัณฑ์ครบวงจร ปักธงปีนี้โกยรายได้ 1.3 หมื่นล้าน โต 10%

BGC เผยแผนปี 63 เดินหน้าสู่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจร เพิ่มการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน หวังเติบโตอย่างมั่นคง


BGC เดินหน้าสู่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจร ปักธงปี 63 โกยรายได้ 1.3 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 10% แย้มไตรมาส 1/63 ยอดขายแจ่ม! อานิสงส์ออเดอร์แน่น! ไร้กระทบโควิด-19 แถมรับผลบวกจีนปิดโรงงาน ทุ่มงบ 3 พันล้านบาท ลุยลงทุนเทคโนโลยีเสริมแกร่งบรรจุภัณฑ์ และซื้อกิจการเกี่ยวเนื่อง-โรงไฟฟ้า วางเป้า 4 ปี ดันกำลังผลิตไฟฟ้าโต 4 เท่า แตะ 400 เมกะวัตต์ หนุนรายได้พุ่งทะยาน 2 หมื่นล้านบาท!

นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ BGC เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายปี 2563 มีรายได้รวม 13,000 ล้านบาท หรือเติบโต 5-10% เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่มีรายได้รวม 11,318.50 ล้านบาท ซึ่งสัดส่วนรายได้จะมาจากธุรกิจบรรจุภัณฑ์95% และธุรกิจพลังงาน 5%

สำหรับแผนการดำเนินงานของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ บริษัทจะเน้นขยายตลาดในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา, ลาว, เมียนมา และเวียดนาม เนื่องจากมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง ซึ่งมองว่าธุรกิจบรรจุภัณฑ์มีโอกาสเติบโตตามไปด้วย

ขณะที่ปัจจุบันตลาดในฝั่งยุโรป, สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย มีการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ซัพพลายในประเทศนั้นๆ ไม่เพียงพอ จึงถือเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าไปเจาะตลาดเพิ่ม โดยคาดว่าในปี 2563 สัดส่วนการส่งออกจะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 10-15% จากปี 2562 อยู่ที่ 10%

นอกจากนี้ ยังได้รับผลบวกจากการปิดโรงงานในประเทศจีน ทำให้ผู้ประกอบการมีการสั่งซื้อสินค้า (Order) จาก BGC แทน และลูกค้ารายปกติยังมีการคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่อง ทำให้ไตรมาส 1/2563 ปิดยอดขายไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประมาณ 300,000-400,000 ตัน หรือคิดเป็นประมาณ 35% ของยอดขายทั้งปี 2563 และเติบโตมากกว่าไตรมาส 1/2562

ทั้งนี้การเติบโตของยอดขายไตรมาส 1/2563 ถือว่าดีกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ท่ามกลางปัจจัยลบหลายด้าน เช่น การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ขณะที่ไตรมาส 2/2563 ยอดขายเดือน เม.ย. 2563 มีออเดอร์รองรับแล้ว แต่อย่างไรก็ดีต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ ต่อไป โดยเตรียมแผนไว้รองรับแล้ว และมั่นใจภาพรวมทั้งปี 2563 จะสามารถเติบโตได้กว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP)

ส่วนราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงในช่วงนี้ บริษัทได้รับประโยชน์ เพราะทำให้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตลดลง โดยบริษัทมีต้นทุนก๊าซธรรมชาติคิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 25% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ขณะที่ทิศทางราคาเศษแก้วยังทรงตัวประมาณ 20% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด

ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตเฉลี่ย 1 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 3,950 ล้านชิ้นต่อปี ในปี 2562 โดยมีอัตราการเดินเครื่องจักรเต็ม 100% คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) อยู่ที่ 40% จากตลาดรวมที่มีทั้งหมด 2.50 ล้านตันต่อปี และประเมินว่าในปี 2563 การผลิตต่อชิ้นจะขยับเพิ่มขึ้นเป็น 4,100 ล้านชิ้น ซึ่งเป็นไปตามการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

อย่างไรก็ตามในช่วง 2-3 ปีนี้ บริษัทยังไม่มีแผนการเพิ่มเตาหลอม แต่จะอาศัยการผลิตจากเตาผู้ประกอบการรายอื่นเสริม ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการผลิต และการลงทุนได้มาก อีกทั้งการลงทุนในเทคโนโลยีในโรงงานของบริษัทจะช่วยให้การผลิตเร็ว ผลิตได้มากขึ้น ประสิทธิภาพดี และลดการสูญเสียน้อยลงจากปัจจุบันที่ทำได้ 85%

รูปประกอบข่าว: นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BGC

นายศิลปรัตน์ กล่าวต่อว่า ในปี 2563 บริษัทวางงบลงทุนไว้ประมาณ 2,500-3,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ใช้ลงทุนในเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพในทุกกระบวนการผลิตรองรับการเติบโต และเสริมความสามารถการแข่งขันกับคู่แข่งได้ในอนาคตประมาณ 400-500 ล้านบาท รวมถึงมีแผนนำความร้อนจากเตาเผามาปรับเปลี่ยนเป็นพลังงานอีกด้วย

ส่วนอีกประมาณ 2,000 ล้านบาท จะใช้ในการควบรวมหรือเซื้อกิจการ (M&A) ในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น แพ็กเกจจิ้ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจา 2-3 ราย มูลค่าหลัก 500 ล้านบาทขึ้นไป คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในปี 2563 ธุรกิจไฟฟ้า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาซื้อกิจการ 1-2 ราย นอกจากนี้ศึกษาโครงการอื่น ๆ เพิ่มเติม หากได้ข้อสรุปที่ชัดเจนจะแจ้งให้ทราบเพิ่มเติมต่อไป

ด้านแผนงานในส่วนของธุรกิจพลังงาน บริษัทจะเน้นเพียงพลังงาน ลม แสงอาทิตย์ น้ำ และใต้พิภพ โดยภายใน 3-4 ปีข้างหน้า ตั้งเป้าหมายมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 300-400 เมกะวัตต์(MW) หรือเพิ่มขึ้น 60-100 MW ต่อปี จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวม 120 MW จากโครงการในไทย ขนาดกำลังการผลิต 20 MW และโครงการ Xuan Tho 1 และ 2 ในเวียดนาม ขนาดกำลังการผลิต 110 MW

“การที่มีธุรกิจ 2 ส่วนดังกล่าว จะช่วยให้พอร์ตสมดุลยิ่งขึ้น โดย BGC มีประสบการณ์ และทีมงานในธุรกิจพลังงานมานานกว่า 10 ปี ถือว่าไม่ได้เป็นผู้เล่นหน้าใหม่ อีกทั้งคาดว่าการเติบโตของธุรกิจพลังงานจะช่วยหนุนอัตรากำไรสุทธิปรับตัวขึ้นเป็น 15-20% ตามธรรมชาติของธุรกิจพลังงาน ซึ่งในตอนนี้ธุรกิจหลักมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 5-6%” นายศิลปรัตน์ กล่าว

นอกจากนี้ บริษัทคาดว่าสัดส่วนรายได้จากธุรกิจพลังงานจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 4 เท่า หรือมีกำลังการผลิตประมาณ 300-400 MW หรือเพิ่มขึ้นเป็น 10-15%ของพอร์ตรายได้รวม อ้างอิงการประเมินเบื้องต้นจะมีรายได้รวม 20,000 ล้านบาท ภายใน 3-4 ปีข้างหน้า จากปี 2562 ที่มีรายได้รวม 11,318.50 ล้านบาท แบ่งเป็น สัดส่วนรายได้จากธุรกิจพลังงานอยู่ที่ 5% และสัดส่วนธุรกิจบรรจุภัณฑ์อยู่ที่ 95%

ส่วนการที่หุ้น BGC ถูกคัดเลือกให้เข้าไปคำนวณในดัชนี SET 100 นั้น เชื่อว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะสร้างความน่าสนใจให้นักลงทุนทั่วไป และนักลงทุนสถาบัน (กองทุน) เข้ามาลงทุนในหุ้น BGC เพิ่มมากขึ้น

รูปประกอบข่าว: โรงงาน BGC จังหวัดราชบุรี

รูปประกอบข่าว: โรงงาน BGC จังหวัดอยุธยา

 

รูปประกอบข่าว: ผลิตภัณฑ์ และขั้นตอนการทำผลิตภัณฑ์

 

รูปประกอบข่าว: โซล่าฟาร์ม

Back to top button