เปิด 10 หุ้น ผลงานฟื้นช้า! โบรกฯหั่นกำไรปี 64-65 เซ่นโควิดระลอกใหม่

เปิด 10 หุ้น ผลงานฟื้นช้า! โบรกฯหั่นกำไรปี 64-65 เซ่นโควิดระลอกใหม่


ก่อนหน้านี้ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ทำการรวบรวมข้อมูลบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่โบรกเกอร์ชั้นนำของไทยได้วิเคราะห์และได้ปรับประมาณการณ์กำไรปี 2564-2565 และราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้น นำเสนอนักลงทุนไปแล้ว

สำหรับครั้งนี้จะขอรวบรวมกลุ่มบริษัทที่มีผลงานในปี 2563 ออกมาไม่สดใส และมีแนวโน้มธุรกิจในปี 2564-2565 ฟื้นตัวช้า เนื่องจากยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้โบรกเกอร์หลายแห่งได้ปรับลดประมาณการกำไรปี 2564-2565 รวมทั้งปรับลดราคาเป้าหมายลง

โดยกลุ่มหุ้นที่โบรกเกอร์ปรับลดประมาณการกำไรและราคาเป้าหมายลดลง ส่วนใหญ่คัดมาจากบทวิเคราะห์ล่าสุดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และเดือนมีนาคม 2564 โดยมีหุ้นที่เข้าเกณฑ์ทั้งหมด 10 ตัว ดังนี้

บล.เคจีไอ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท ซีฟโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ SEAFCO คาดการแข่งขันจะยังเข้มข้นในปีนี้ เนื่องจาก 1) การลงทุนภาคเอกชนอ่อนแอ (อุปทานโครงการใหม่ชะลอตัวจากปีที่แล้ว) และ 2) ความล่าช้าในการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ในขณะเดียวกัน จะมี backlog โครงการใหญ่ทั้งจากภาคเอกชน (คาดว่าอุปทานโครงการใหม่ปี 2564 จะเพิ่มขึ้น 11%) และโครงการภาครัฐ (รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก, รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน)

ประกอบกับคาดว่าจะเพิ่มเข้ามาในปี 2565 ซึ่งจะทำให้ความเข้มข้นของการแข่งขันลดลงคาดว่าผลประกอบการของ SEAFCO ในไตรมาส 1/2564 จะพลิกฟื้นจากที่ขาดทุนสุทธิในไตรมาส 4/2563 เนื่องจาก 1) ไม่ต้องตั้งสำรองเพิ่ม 2) ไม่มีการปรับอัตรากำไรขั้นต้น และ 3) อัตราการใช้งานอุปกรณ์เพิ่มขึ้น โดยปรับลดประมาณการปี 2564-2565 ลง 43% และ 20% ตามลำดับ แต่ปรับเพิ่มคำแนะนำหุ้น SEAFCO จากขายเป็นถือ และขยับไปใช้ราคาเป้าหมายปี 2565 ที่ 4.42 บาท

 

บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) หรือ SABINA ปรับลดประมาณการกำไรปีนี้ลง 12% จากผลกระทบของโควิดรอบ 2 ทำให้ยอดขายฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด อย่างไรก็ดียอดขายจะค่อยๆฟื้นตัวดีขึ้นจากการที่โควิด-19 คลี่คลายลง และการทำโปรโมชั่นอย่างต่อเนื่อง โดยประเมินว่ายอดขายปีนี้ฟื้นตัว 13% (เทียบกับเป้าหมายบริษัทที่ 15%) และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 27%

โดยอัตรากำไรสุทธิเพิ่มจาก 9.5% ในปี 2563 เป็น 10.7% ในด้านฐานะการเงินยังคงแข็งแกร่ง อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนเพียง 0.1 เท่า ทำให้คาดว่า SABINA ยังคงจ่ายเงินปันผล 100% ของกำไร คงคำแนะนำซื้อโดยปรับราคาเป้าหมายเป็น 24 บาท จากเดิมที่ 25 บาท

 

บล.คิงส์ฟอร์ด ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV แนวโน้มงวดไตรมาส 1/2564 คาดผลประกอบการจะกลับมาขาดทุนเพิ่ม เทียบไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากเกิดการระบาดของ COVID-19 ในประเทศรอบใหม่ตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค.2563 ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินในเดือน ม.ค.2564 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ทั้งนี้เชื่อว่าช่วงไตรมาส 1/2564 จะเป็นการทำจุดต่ำสุดของปี และจะเริ่มทยอยฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 2/2564 เป็นต้นไป

โดยในเดือน มี.ค.2564 บริษัทคาดว่าจะกลับมาให้บริการครบทุกเส้นทางเข้าออกจาก กทม.และในเดือน เม.ย.2564 ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์และอยู่ในระยะเวลาโครงการเราเที่ยวด้วยกันจะสามารถกลับมาบินข้ามภาคได้ครบทุกเส้นทาง หลังจากนั้นเมื่อสถานการณ์ระบาดของ COVID-19 ผ่อนคลายและมีการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงจะทำให้สามารถให้บริการเส้นทางบินต่างประเทศได้บางส่วนในช่วงไตรมาส 4/2564

โดยบริษัทตั้งเป้าผู้โดยสารปี 2564 ที่ 9.4 ล้านคน Seat Capacity 12.73 ล้านที่นั่ง และพยายามรักษา Load Factor ที่ระดับ 75% พร้อมกับลดจำนวนเครื่องบินในฝูงบินเหลือ 54 ลำ ดังนั้นเพื่อสะท้อนแผนกำลังการให้บริการที่ลดลง  จึงปรับลดประมาณการปี 2564 เป็นขาดทุนสุทธิ 3 พันล้านบาท ส่วนปี 2565 ขาดทุนสุทธิ 731 ล้านบาทแนะนำ ซื้อเก็งกำไร ราคาเหมาะสมปี 2564 ที่ 2.50 บาท

 

บล.คันทรี่ กรุ๊ป ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL บริษัทฯมีแผนขยาย 5 โรงแรม จำนวนห้องพักรวม 1,562 ห้องภายในปี 23  ประกอบด้วย ดูไบ (2021), ไทย (2022), มัลดีฟส์(2023) และ ญี่ปุ่น (2023)

บริษัทฯ มีแผน M&A ธุรกิจอาหารขนาดราว 100-150 ล้านบาท คาดว่าจะเสร็จภายในไตรมาส 1/2564 และมองว่าธุรกิจโรงแรมจะกลับมาอยู่ระดับก่อน COVID ในปี 2566 สนับสนุนจากการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวและการขยายโรงแรมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีการปรับประมาณการในปี 2564-2566 ลงเนื่องจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ช้ากว่าคาด ยังคงคำแนะนำถือ ที่ราคาพื้นฐาน 35 บาท

 

บล.เคทีบีเอสที ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ RT คงคำแนะนำ ซื้อ แต่ปรับลดราคาเป้าหมายเป็น 2.50 บาท (เดิม 2.70 บาท) บริษัทรายงานกำไรปกติไตรมาส 4/2563 ที่ 33 ล้านบาท ลดลง 46% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ,ลดลง 44% เทียบไตรมาสก่อนหน้า ต่ำกว่าคาดลดลง 44%

โดยหลัก ๆ กดดันโดย 1) Gross profit margin (GPM) ที่ชะลอตัวจากผลกระทบ COVID-19 ทำให้การนำเข้าชุดเครื่องกลจากต่างประเทศสะดุดและบริษัทต้องมีการผลิตเองในประเทศบางส่วนซึ่งมีต้นทุนที่สูงกว่า และ 2) SG&A/Sale เพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับ IPO

ทั้งนี้ปรับลดประมาณการกำไรปกติปี 2564 ลดลง 7% เป็น 250 ล้านบาท (+6% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ) เพื่อสะท้อนสมมติฐาน GPM ที่ลดลง ซึ่งปัญหาการนำเข้าชุดเครื่องกลเป็นเฉพาะบางโครงการเท่านั้น และมองว่าเป็นปัจจัยชั่วคราว โดยคาดการณ์ทิศทาง GPM จะทยอยปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งแรกปี 2564

  

บล.เคทีบีเอสที ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท สหมิตรถังแก๊ส จำกัด (มหาชน)  หรือ SMPC บล.เคทีบีเอสที  SMPC ปรับลดคำแนะนำเป็น ถือ จากเดิม ซื้อ และปรับราคาเป้าหมายลงเป็น 12.00 บาท รายงานกำไรสุทธิ ไตรมาส 4/2564 ที่ 110 ล้านบาท (โต 41% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน, ลดลง 39% เทียบไตรมาสก่อนหน้า) ต่ำกว่าตลาดคาด ลดลง 21% โซึ่งเป็นผลจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า และต้นทุนราคาเหล็กที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็วกว่าราคาขาย ดังนั้น กำไรสุทธิรวมปี 2563 อยู่ที่ 619 ล้านบาท (โต 65% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน)

ทั้งนี้ มีการปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2564  ลงจากเดิมลดลง 12% เป็น 612 ล้านบาท (ลดลง 1% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน) โดยปรับลดรายได้ลงเป็นเติบโต 9% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดิมโต 15% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสถานการณ์ COVID-19 ที่มีแนวโน้มดีขึ้นทำให้ความต้องการใช้ถังแก๊สเพื่อทำอาหารเองในบ้านไม่มากเหมือนปีก่อน

รวมถึงราคา LPG ที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ถังแก๊สจะไม่เติบโตมากเหมือนที่คาดก่อนหน้านี้ รวมถึงปรับลดอัตรากำไรขั้นต้นลงเป็น 22.8% จากเดิมคาดที่ 23.3%

นอกจากนี้ได้ปรับลดคำแนะนำลงเป็น ถือ จากกำไรปี 2564 ที่ประเมินว่าจะทรงตัว หลังจากที่มีการเติบโตในระดับสูงมากในปี 2563 ขณะที่ความต้องการถังแก๊สยังมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในแอฟริกา และเอเชียใต้ ซึ่งประเมินว่ากำไรปี 2565 จะกลับมาเติบโตได้

 

บล.เคทีบีเอสที ระบุในบทวิเคราะห์ว่า บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ PRM ยังคงแนะนำ ซื้อ แต่ปรับลดราคาเป้าหมายเป็น 10.00 บาท บาท จากเดิมที่ 12.00 บาท จากการปรับลดกำไรปี 2564 ลงโดยมีมุมมองเป็นลบเล็กน้อยจากการประชุมนักวิเคราะห์เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2564 ที่ผานมา

โดยมีประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) ยังคงแผนเรือ FSU ปี 2564  เท่าปี 2563 ที่ 8 ลำ (น้อยกว่าคาดที่จะเพิ่มเป็น 9 ลำ) ขณะที่อัตราค่าเช่าจะยังสูงใกล้เคียงกับปีก่อน, 2) เรือ international trading ที่เข้า dry dock ในช่วงไตรมาส 4/2563 ปัจจุบันกลับเข้ารับงานใหม่แล้ว ซึ่งค่าเช่าเรือยังดีใกล้เคียงปี 2563 และ 3) แผนการเข้าซื้อ TM คาดว่าจะเสร็จในช่วงปลายเดือน เม.ย.64 โดยคาดว่า TM จะถึงจุดคุ้มทุนได้ปลายปี 2564 และจะเริ่มมีกำไรในต้นปี 2565

ปรับลดกำไรสุทธิปี 2564 ลงจากเดิมเล็กน้อย 5% เป็น 1.6 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้น 4% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ) จากแผนขยายกองเรือ FSU ที่น้อยกว่าที่คาด และคงประมานการกำไรปี 2565 ที่ 1.86 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้น 16% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ) จากเรือ domestic trading ที่จะฟื้นตัว จากการเปิดเที่ยวบินระหว่างประเทศทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้น และแผนรับเรือใหม่ที่ชัดเจนขึ้น

 

บล. คันทรี่ กรุ๊ป ระบุในบทวิเคราะห์ว่า  บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)  หรือ ERWายงานขาดทุนสุทธิที่ 474 ล้านบาท หากไม่รวมรายการพิเศษบริษัทฯจะขาดทุนสุทธิที่ 368 ล้านบาท เทียบกับกำไรสุทธิที่ 184 ล้านบาท ในไตรมาส 4/2562  และขาดทุนสุทธิที่ 517 ล้านบาทในไตรมาส 3/2563

ผลประกอบการในไตรมาส 4/2563 ดีขึ้น เทียบไตรมาสก่อนหน้า หนุนจากการคลายล็อกดาวน์ทำให้อัตราการเข้าพักของโรงแรมในไทยปรับตัวดีขึ้นเป็น 43% จาก 35% ในไตรมาส3/2563

บริษัทฯ มีแผนเพิ่มทุน 2.4 พันล้านบาท เพื่อขยาย Hop Inn ทั้งในไทยและฟิลิปปินส์ อีกทั้งสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน โดยเราคาดว่า D/E จะลดลงอยู่ที่ 2.4 เท่าจาก 3.7 เท่า ณ สิ้นปี 21

โดยการเพิ่มทุนในครั้งนี้มีมุมมองเชิงลบต่อราคาหุ้นในระยะสั้น เนื่องจากจะทำให้ EPS dilute อยู่ที่ราว 49% มีการปรับประมาณการปี 64-66 ลง และยังคงคำแนะนำ ถือ ที่ราคาเป้าหมายใหม่ปี 22 ที่ 3.90 บาท

 

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า  บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน)  หรือ BGC  ปรับประมาณการผลประกอบการปี 2564-2566 ลง 10-15% โดยคาดกำไรสุทธิปี 2564 อยู่ที่ 545 ล้านบาท (โต 5.6%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน) กำไรสุทธิปี 2565 อยู่ที่ 570 ล้านบาท (โต 4.6% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน) และปี 2566 อยู่ที่ 590 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 3.8% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน) ตามลำดับ จาก 1) คาดรายได้บรรจุภัณฑ์แก้วปี 2564 เติบโต 8%เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 11,366 ล้านบาท จากฐานที่ต่ำในปี 2563 และลูกค้ามีคำสั่งซื้อต่อเนื่อง 2) คาดอัตรากำไรขั้นต้นปี 2564-2565 ลดลงจาก 18.7% มาที่ 17.70% จากต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2563 จนปัจจุบัน

โดยปรับคาดการณ์อัตรากำไรขั้นต้นสำหรับธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วลดลงมาอยู่ที่ 16.4% จาก 17.6% เพื่อสะท้อนแนวโน้มดังกล่าว ในขณะที่ต้นทุนอื่นๆ ทั้งเศษแก้วและ Soda Ash ยังทรงตัว ทั้งนี้ โดยประมาณการของเรายังไม่รวมการควบรวมกิจการบรรจุภัณฑ์กระดาษและพลาสติก

จากการปรับประมาณการผลประกอบการ ปรับมูลค่าที่เหมาะสมใหม่อยู่ที่ 11 บาท (จากเดิม 13.20 บาท) อิงจาก PER 14 เท่า ปี 2564

 

บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า  บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO คาดไตรมาส 1/2564 จะยังเป็นไตรมาสที่น่าท้าทายสำหรับ MAKRO เนื่องจากผลกระทบของการระบาดรอบสองแล้วฐานที่สูงในปีที่ผ่านมาาปรับประเมินเล็กน้อย เพื่อสะท้อนผลปี 2563  และทิศทาง SSSg ที่ดูอ่อนตัว โดยลดกำไร 2564-2565 ลง 4% และ 3% ตามลำดับ และลดมูลค่าเหมาะสมลง 2 บาท เป็น 40 บาท

แม้จะเริ่มมีการฉีดวัคซีนในหลายๆ ประเทศแล้ว ยังคงจับตาการฟื้นตัวของกำไรท่ามกลางความไม่แน่นอนของภาคการท่องเที่ยวในไทยซึ่งอาจล่าช้าไปอีกจากประเด็นการนำเข้าวัคซีน ทั้งนี้การระบาดรอบสองเพิ่มปัจจัยลบให้แก่ กำไรของ MAKRO โดยเฉพาะในไตรมาส1/2564 แนะนำ ถือ ด้วยมูลค่าเหมาะสม 40 บาท

*ทั้งนี้ข้อมูลที่มีการนำเสนอข้างต้น เป็นเพียงข้อแนะนำจากข้อมูลพื้นฐานเพื่อประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนเท่านั้น และมิได้เป็นการชี้นำ หรือเสนอแนะให้ซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆการตัดสินใจซื้อหรือขายหลักทรัพย์ใดๆ ของผู้อ่าน ไม่ว่าจะเกิดจากการอ่านบทความในเอกสารนี้หรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นผลจากการใช้วิจารณญาณของผู้อ่าน

Back to top button