ส่อง 5 หุ้นแบตเตอรี่ เกาะเทรนด์ EV บูม! รับเต็มมาตรการเร่งใช้รถไฟฟ้า

ส่อง 5 หุ้นแบตเตอรี่ เกาะเทรนด์ EV บูม! รับเต็มมาตรการเร่งใช้รถไฟฟ้า


สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้มีการประชุมและพิจารณาการกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า โดยกำหนดเป้าหมายการใช้ Zero Emission Vehicle (ZEV) รถยนต์ที่ปราศจากการปล่อยมลพิษ ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ BEV และรถยนต์ไฟฟ้าเซลเชื้อเพลิง (FCEV) จำนวน 3 หมื่นคัน ในปี 2565 และจะเพิ่มเป็น 2.25 แสนคัน ในปี 2568 เพิ่มเป็น 4.4 แสนคัน ในปี 2573 และเพิ่มเป็น 1.15 ล้านคัน ในปี 2578 ตามเป้าหมาย

นอกจากนั้นก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2564 ยอดขายรถยนต์กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) และรถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV)  น่าจะมียอดขายประมาณ 48,000 ถึง 50,000 คัน หรือขยายตัวกว่าร้อยละ 63 ถึง 70 ส่วนรถยนต์ BEV น่าจะมียอดขายประมาณ 4,000 – 5,000 คัน ขยายตัวกว่าร้อยละ 210 ถึง 288

ขณะที่ ในอนาคตไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า สัดส่วนยอดขายรถยนต์กลุ่ม xEV (รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด หรือ HEV, รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด หรือ PHEV และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ หรือ BEV) ในประเทศมีโอกาสขึ้นไปแตะระดับร้อยละ 55 ของปริมาณยอดขายรถยนต์รวมในปีนั้น ขณะที่การผลิตรถยนต์ในประเทศกลุ่ม xEV ของไทยก็มีโอกาสที่จะขยับส่วนแบ่งขึ้นไปสูงกว่าร้อยละ 50

ดังนั้นเพื่อให้นักลงทุนได้มีข้อมูลประกอบการลงทุน ทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงทำการรวบรวมข้อมูลบทวิเคราะห์กลุ่มหุ้นที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจแบตเตอรี่  เนื่องจากเป็น 1 ในกลุ่มหุ้นที่จะได้รับอานิสงส์จากประเด็นดังกล่าว

โดย บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ประเด็นข้างต้นถือเป็น sentiment เชิงบวกต่อกลุ่มผู้ผลิตแบตเตอรี่ประเภทต่างๆ ที่ใช้ในรถยนต์ EV รวมถึงผู้ผลิตรถยนต์ EV ถึงแม้เป้าหมายจะเป็นเป้าหมายในระยะยาวค่อยๆ เกิดขึ้นในช่วง 14 ปี ข้างหน้า อาจยังไม่เห็นผลกำไรในในระยะสั้น แต่นั่นหมายถึงการที่ผู้ประกอบการต่างๆ จะต่อยอดฐานกำไรจากธุรกิจแบตเตอรี่และรถยนต์ EV เป็นไปได้ไม่ยากจากการสนับสนุนของภาครัฐ

ทั้งนี้ผู้ประกอบการในประเทศไทยที่ผลิตแบตเตอรี่ในปัจจุบันมีจำนวนมาก แต่บริษัทที่จดทะเบียนในตลท.ที่มีภาพการลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ที่ชัดเจน ได้แก่ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA, บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC, บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG, บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU และ บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP

โดย EA ถือเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนรายใหญ่ของประเทศ และเป็นผู้นำร่องธุรกิจแบตเตอรี่ในประเทศไทย ปัจจุบันลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ผ่าน บริษัทย่อย Amita Taiwan ( EA ถือหุ้นราว 70%) ซึ่งเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ ประเภท Lithium-ion กำลังการผลิต 400 MWh โดยมีกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรม รถยนต์ไฟฟ้า และรถสาธารณะในประเทศไต้หวัน

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่าง ก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทย phase 1 (Amita Taiwan ถือหุ้น 100.0%) ขนาด 1 พัน MWh ซึ่งคาดจะแล้วเสร็จและเริ่มผลิตแบตเตอรี่ cell แรกได้ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2564 โดย EA มีแผนจะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่คาดจะเริ่มผลิตและส่งมอบให้กับลูกค้าได้ในช่วงกลางปี 2564

รวมถึงในอนาคตยังมีแผนจะนำมาใช้เป็นแบตเตอรี่กักเก็บ พลังงานสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในกลุ่มของ EA ด้วย ส่วนในระยะถัดไป มีแผนจะขยายการผลิตไปให้ถึง 4.9 หมื่น MWh หากโรงงาน phase 1 พัฒนาไปได้ด้วยดี และมีกลุ่มลูกค้ารองรับในอนาคต โดย บล.เอเซีย พลัส ขณะนี้ประเมินราคาเป้าหมายหุ้น EA ไว้ที่ 54 บาท/หุ้น

ส่วน GPSC ถือเป็นบริษัทลูกของ PTT ซึ่งเป็น flagship ในธุรกิจแบตเตอรี่ซึ่งล่าสุด ได้กำหนดให้ธุรกิจแบตเตอรี่เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ New S-Curveของบริษัท โดย เริ่มต้นจะเป็นโครงการนำร่อง (Pilot project) สร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ 30 MWh ด้วยเทคโนโลยี semi-solid ซึ่งเป็นนวัตกรรมสมัยใหม่ในการผลิตแบตเตอรี่ Lithium- ion ของบริษัท 24M Technologies (GPSC ถือหุ้น 18%) ที่ลดความซับซ้อนของกระบวนการผลิต และจะช่วยให้ประหยัดต้นทุนการผลิตลงได้

โดยในเบื้องต้นจะนำมาทดลองใช้ภายในกลุ่ม PTT โดยเน้นในการติดตั้ง เพื่อใช้กักเก็บพลังงาน (energy storage) เป็นหลัก และหากมีผลลัพธ์ที่ดีจะพัฒนาเป็นผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป โดยโรงงานดังกล่าวคาดจะก่อสร้างแล้วเสร็จ ในช่วงไตรมาส 2/64

นอกจากนี้ GPSC ยังได้เข้าถือหุ้น 11.1% ในบริษัท AXXIVA ใน ประเทศจีน กำลังการผลิตแบตเตอรี่ 1 พัน MWh ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการ ก่อสร้างและคาดจะแล้วเสร็จภายในปี 2564 และสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้กับอุตสาหกรรมกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักอยู่ในประเทศจีน ทั้งนี้ บล.เอเซีย พลัส แนะนำ “ซื้อ” หุ้น GPSC ประเมินราคาเป้าหมายที่ 82 บาท/หุ้น

ในส่วนของ BANPU และ BPP ได้เข้าถือหุ้น 50% ในบริษัทย่อย BANPU NEXT ที่ลงทุน 47% ในบริษัท Durapower Holdings Pte Ltd., ในประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ ผลิต และติดตั้งระบบแบตเตอรี่จัดเก็บ พลังงานแบบ Lithium-ionเพื่อใช้ทั้งในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และระบบกัก เก็บพลังงาน ปัจจุบันมีกลุ่มลูกค้าทั้งในประเทศจีนและยุโรป

โดยโรงงานดังกล่าว สามารถรองรับการผลิตได้ 1 พัน MWh ซึ่งปัจจุบันได้ขยายกำลังการผลิตสู่ 380 MWh จากจุดเริ่มต้นที่ 80 MWh โดย ทั้ง BANPU และ BPP เริ่มมีการรับรู้กำไรจากธุรกิจนี้ราว 1-2 ล้านบาทต่อปี โดย บล.เอเซีย พลัส ขณะนี้ประเมินราคาเป้าหมายหุ้น BANPU ไว้ที่ 10.50 บาท/หุ้น ส่วน BPP กำหนดราคาเป้าหมายไว้ที่ 16 บาท/หุ้น

ขณะเดียวกัน BCPG ถือเป็นผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนระดับแนวหน้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีโครงการต้นแบบจากการนำแบตเตอรี่ 1.4 MWh มาใช้สำหรับโครงข่ายไฟฟ้าเพื่อกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ควบคู่กับโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมกำลังการผลิตตามสัญญา 9 เมกะวัตต์ เพื่อช่วยลดความผันผวนของกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากกังหันลม และสามารถนำพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้มาใช้ในเวลาที่เหมาะสม โดยโครงการดังกล่าวเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วในเดือนเมษายน 2562 ทั้งนี้ บล.เอเซีย พลัส กำหนดราคาเป้าหมายที่ 13 บาท/หุ้น

Back to top button