NWR แย้มรายได้ไตรมาส 2 โต ตุนแบ็กล็อก 3 หมื่นล. หนุนทั้งปีขยายตัวตามเป้า 30%

NWR มองรายได้ไตรมาส 2 ใกล้เคียงกับไตรมาส 1 หนุนทั้งปีโตตามเป้า 30% หลังตุนแบ็กล็อกแน่น 3.06 หมื่นลบ. คาดรับรู้ปีนี้ 1 หมื่นลบ.


นายวิสุทธิ์ สุวรรณวิทย์เวช รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR เปิดเผยว่า บริษัทคาดแนวโน้มรายได้ในไตรมาส 2/64 น่าจะทำได้ใกล้เคียงกับไตรมาส 1/64 แม้ว่าราคาเหล็กปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่เนื่องจากมีการทำสัญญาไว้กับทางภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะมีการปรับราคาค่างานก่อสร้าง (ค่า K)

ขณะที่สมาคมรับเหมาก่อสร้างได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลเพื่อขอให้ช่วยเหลือด้วยการปรับค่า K รวมถึงเร่งรัดการเบิกจ่ายต่างๆ ก็ให้มีความรวดเร็วขึ้น ซึ่งทางภาครัฐก็ได้รับเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาแล้วอย่างไรก็ตาม สัดส่วนต้นทุนเหล็กในโครงการต่างๆ ของ NWR อยู่ที่ประมาณ 10-15% เมื่อราคาเหล็กปรับขึ้นก็อาจจะกระทบกับอัตรากำไร (มาร์จิ้น) บ้าง แต่ไม่มากนัก ส่วนงานที่ไม่มีค่า K บริษัทได้มีการล็อกราคาเหล็กไว้จำนวนหนึ่งกับทางซัพพลายเออร์

ขณะที่บริษัทอยู่ระหว่างประมูลงานใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานของภาครัฐมูลค่ารวม 34,000 ล้านบาท คาดหวังได้รับงานราว 10% โดยตั้งเป้าเซ็นสัญญาประมูลงานในปีนี้ไว้ที่ 16,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มีงานในมือ (Backlog) อยู่ที่ 30,600 ล้านบาท คาดจะรับรู้รายได้ในปีนี้ราว 10,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้ปีนี้จะเติบโต 20-30% และพลิกเป็นกำไรสุทธิ หลังไตรมาส 1/64 กลับมามีกำไรสุทธิแล้ว 52.18 ล้านบาท จากทั้งปี 63 บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 240.93 ล้านบาท ซึ่งปีนี้จะได้รับผลดีจากการรับรู้รายได้จากงานในมือ ขณะที่ภาครัฐยังคงขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมองแนวโน้มผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังก็น่าจะปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกหากมีการกระจายวัคซีนได้ตามเป้าหมาย และจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ชะลอตัวลง

ด้านปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในแคมป์คนงานก่อสร้างในขณะนี้ ปัจจุบันแคมป์คนงานก่อสร้างของ NWR ยังไม่พบผู้ติดเชื้อว เนื่องด้วยบริษัทมีมาตรการป้องกันอย่างรัดกุม และโครงการต่าง ๆ ที่บริษัทได้รับงานมาค่อนข้างกระจายตัว จึงลดความเสี่ยงลงได้บ้าง

ส่วนประเด็นในเรื่องการแข่งขันนั้น ยอมรับว่ามีสูงเนื่องจากภาคเอกชนมีการชะลอการลงทุน ทำให้ผู้รับเหมารายกลางเริ่มหางานจากทางภาครัฐเข้ามาเสริม แต่อย่างไรก็ดี ในส่วนของภาครัฐนั้นมีข้อจำกัดในเรื่องของขนาดงาน และคุณสมบัติต่างๆ ดังนั้นเราก็พยายามเลือกในโครงการที่มีการแข่งขันไม่สูงมาก

Back to top button