RBF เร่งสปีดต่างแดน เปิดโรงงานใหม่ – ผนึก JV รัสเซีย ปั้นรายได้โตยั่งยืน

RBF เปิดเกมรุกตลาดต่างประเทศเต็มสูบ ครึ่งหลังปีนี้เตรียมขยายไลน์ผลิตใน 3 ประเทศ อินเดีย อินโดนีเซียและเวียดนาม พร้อมพัฒนาโปรเจกต์ใหม่ในรัสเซีย หวังหนุนยอดขายต่างประเทศโตต่อเนื่อง


นายสุรนาถ กิตติรัตนเดช ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีและการเงิน ร่วมกับ พ.ท.พญ.จัณจิดา รัตนภูมิภิญโญ กรรมการบริษัท บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ RBF เปิดเผยข้อมูลภาพรวมธุรกิจของ บริษัทฯ ผ่านงาน Opportunity Day ที่จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 ว่ามีรายได้รวมทั้งสิ้น 1,050.27 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 104.44 ล้านบาท ซึ่งยอดขายมาจากต่างประเทศยังเติบโตได้ในระดับที่ดี

สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 2/2568 บริษัทฯ ระบุว่ามีการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งในรัสเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ปากีสถาน และออสเตรเลีย โดยมีโปรเจกต์ใหม่ๆ ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาสินค้า อีกทั้งยังมีการเตรียมกระจายไปยังตลาดต่างประเทศเพิ่มเติม ได้แก่ ปากีสถาน โปแลนด์ และเวียดนาม ซึ่งยังคงเป็นประเทศที่ให้การตอบรับสินค้าไทยอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สำหรับเวียดนาม แม้ยอดขายในไตรมาสแรกอาจดูลดลง เนื่องจากสินค้าจากในไตรมาสแรกไม่สามารถจำหน่ายได้ทันกาล ทำให้ต้องโยกย้ายเข้ามาจำหน่ายในไตรมาสที่ 2 แทน บริษัทฯ มั่นใจว่าภาพรวมทั้งปีเวียดนามจะปิดบวกอย่างแน่นอน

ในส่วนของการลงทุนในต่างประเทศ บริษัทฯ ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งโรงงานในอินโดนีเซีย เวียดนาม และอินเดีย มีการดำเนินงานที่เป็นไปด้วยดี โดยมีแผนลงทุนเพิ่มในโรงงานเวียดนามประมาณ 75 ล้านบาท และในอินโดนีเซียประมาณ 20–30 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต และในส่วนของอินเดียจะเริ่มเตรียมการทดลองผลิตในไตรมาส 3 เป็นต้นไป หากสามารถผลิตและดำเนินการธุรกิจไปได้ด้วยดีในอินเดีย จะเป็นการประหยัดต้นทุนมากขึ้น เนื่องจากสามารถใช้วัตถุดิบจากในประเทศอินเดียได้เลย

สำหรับโรงงานในประเทศไทยที่ตั้งอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทั้งในด้านภาษีนิติบุคคล อากรนำเข้าเครื่องจักร และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตและส่งออก ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดภาระภาษีในช่วงครึ่งปีหลังได้ และสามารถเดินเครื่องได้ภายในไตรมาส 3 นี้

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังประกาศแผนซื้อหุ้นคืนในจำนวนไม่เกิน 100 ล้านหุ้น ภายในวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 2 มิถุนายน ถึง 28 พฤศจิกายน 2568 สะท้อนความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือหุ้นได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ บริษัทฯ เตรียมร่วมการค้ากับบริษัท CANWILLON LLC. จากประเทศรัสเซีย ซึ่งเป็นพันธมิตรสำคัญ โดยมี Central Food Trade LLC. เข้ามาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ให้ พร้อมเดินหน้าทำธุรกิจโดยแบ่งสัดส่วน 50:50 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจา โดยใช้งบลงทุนประมาณ 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 50.8 ล้านบาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน) สำหรับเช่าโรงงานและดำเนินการวิจัยและพัฒนาสินค้า ทั้งนี้ แม้โปรเจกต์ดังกล่าวยังไม่ใช่ธุรกิจหลัก แต่เริ่มมีออเดอร์เข้ามาราว 10 ล้านบาทแล้ว

โดยรวมแล้วภายในปีนี้คาดการณ์ว่า บริษัทฯ จะมียอดขายราว ๆ 8-12% หากประเมินจากสถานการณ์ ประเทศไทยอาจจะไม่ได้สูงตามเป้า เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศยังไม่คงที่ คนจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ในส่วนของสินค้าฟุ่มเฟือยจะมีการย่องตัวลง ส่วนสินค้าราคาถูกจะไม่ค่อยได้รับผลกระทบเท่าไร เนื่องจากคนหันมาซื้อสินค้าราคาถูก เน้นสินค้าใช้สอยและจำเป็น แม้อัตราการซื้อสินค้าราคาถูกจะเพิ่มขึ้นก็ยังไม่มากพอที่จะมาทดแทนในส่วนยอดที่หายไป

ปัจจุบัน บริษัทมีรายได้หลักมาจากตลาดต่างประเทศ โดยในจำนวนนั้นราว 10% มาจากประเทศจีน หากขาดรายได้จากจีน บริษัทอาจอยู่ในภาวะทรงตัว อย่างไรก็ตาม ตลาดต่างประเทศจากประเทศอื่น ๆ ยังคงมีบทบาทสำคัญในการช่วยพยุงรายได้โดยรวมให้อยู่ในระดับใกล้เคียงเดิม

ปัจจัยที่ทำให้โตได้ในประเทศ ต้องมาจากสินค้าจำเป็นหรือของถูก ถึงจะสามารถหนุนให้บริษัทคงตัวต่อไปได้ ในส่วนต่างประเทศสินค้าใหม่อาจมีลุ้นให้โตเพราะยังไม่ได้เป็นรายใหญ่ในแต่ละประเทศ อย่างอินเดียอาจจะได้เห็นการเติบโตที่ดีขึ้น

Company Snapshot

Back to top button