สรรหากสทช.ใหม่สายฟ้าแลบ! “วิสัยทัศน์ 5 นาที” กลิ่นคลุ้ง 2 มาตรฐาน “ล็อคสเปก-เด็กฝาก”

สรรหากสทช.ใหม่สายฟ้าแลบ! “วิสัยทัศน์ 5 นาที” กลิ่นคลุ้ง 2 มาตรฐาน "ล็อคสเปก-เด็กฝาก"


รายงานจากแหล่งข่าวเกี่ยวข้องกับกิจการโทรทัศน์และโทรคมนาคม เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการสรรหา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกบอร์ดกสทช.ชุดใหม่ ได้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงคุณสมบัติของผู้ผ่านการคัดเลือกว่าเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงตั้งข้อสงสัยถึงความโปร่งใสของกระบวนการคัดเลือก

โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า กรรมการสรรหา กสทช. ได้เรียกผู้สมัครทั้ง 80 ราย เข้ามาแสดงวิสัยทัศน์ โดยใช้เวลาสัมภาษณ์เพียง 5 นาที ก่อนที่จะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นบอร์ดกสทช. รอบแรก 14 ราย เพื่อเสนอให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) คัดเหลือ 7 ราย เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมานั้น ไม่มีชื่อผู้สมัครตัวเต็งที่มากประสบการณ์อย่างที่ควรจะเป็น

สำหรับรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกคณะกรรมการสรรหา กสทช. รอบแรก 14 ราย ใน 7 ด้าน ประกอบด้วย

1.ด้านกิจการกระจายเสียง

พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาท

นางอรษา มุขเตียร์ เปอร์ตี

2.ด้านกิจการโทรทัศน์

ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต

น.ส.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร

3.ด้านโทรคมนาคม

นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ

ดร.อธิคม ฤกษบุตร

4.ด้านวิศวกรรม

นายอานนท์ ทับเที่ยง

นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์

5.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

พล.ต.ท.เกียรติพงศ์ ขาวสำอางค์

นายต่อพงศ์ เสลานนท์

6.ด้านกฎหมาย

นายจิตรนรา นวรัตน์

ร้อยโทธนกฤษฏ์ เอกโยตยะ

7.ด้านเศรษฐศาสตร์

นายภักดี มะนะเวศ

นายอารยะ ปรีชาเมตตา

ขณะที่ เมื่อดูรายชื่อผู้ผ่านการสรรหารอบแรกที่ประกาศ จำนวน 14 ราย เห็นได้ชัดว่าผิดจากที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ เช่นบุคคลที่อยู่ในแวดวงโทรคมนาคมและที่เกี่ยวข้องอยู่แล้วเดิม อย่าง พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด หรือ “เสธ.ไก่อู” อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการ กสทช. ซึ่งปรากฏว่าไม่ผ่านการสรรหา

โดยแหล่งข่าวรายเดียวกันนี้ ระบุถึงสาเหตุที่ 2 ตัวเต็งข้างต้นตกรอบ เนื่องจากขาดคุณสมบัติ เพราะเคยเป็นผู้บริหารองค์กรสื่อ และพ้นจากตำแหน่งไปในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี ซึ่ง พ.ร.บ.กสทช. กำหนด ลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 7 ข. ข้อ 12) ว่า ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ผู้บริหาร ที่ปรึกษา พนักงาน ผู้ถือหุ้น หรือหุ้นส่วน ในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลอื่นใด บรรดาที่ประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ในระยะเวลา 1 ปีก่อนได้รับการคัดเลือกตามมาตรา 15

ทั้งนี้ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นเวลาเกือบ 9 ปี ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า กสทช.มีสถานีวิทยุ 1 ปณ. อยู่ภายใต้การบริหารของสำนักงาน ขณะที่ “เสธ.ไก่อู” ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็น อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ถือเป็นหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลไทย ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และมีสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 รวมถึงสถานีวิทยุกระจายเสียง ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอยู่ภายใต้สังกัดกรมประชาสัมพันธ์

เกิดการตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อกฎหมายหรือข้อกำหนดระบุเช่นนี้ และปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้บุคคลทั้ง 2 ไม่ผ่านคุณสมบัติแล้ว แต่เหตุใดจึงมีกรณีการคัดเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติ หรือคุณลักษณะคล้ายคลึงกับนายฐากร และพล.ท.สรรเสริญ เข้าสู่รอบสุดท้ายของการสรรหาที่จะมีคณะสว.เป็นผู้พิจารณาตัดสิน

ยกตัวอย่าง กรณีของ นายภักดี มะนะเวศ ที่ปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ และจะครบวาระในวันที่ 7 เมษายน 2564 สามารถผ่านเข้ารอบได้ โดยไม่ได้ถูกนำเรื่องคุณสมบัติมาเป็นประเด็นในการตัดสินให้ถูกคัดรายชื่อออกแต่อย่างใด

เช่นเดียวกับกรณีของ พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ ซึ่งเพิ่งเกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 ในระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน ก็ลงสมัครรับคัดเลือกบอร์ด กสทช. และได้รับคัดเลือกให้เข้ารอบ พร้อมกับถูกวางตัวให้เป็นประธาน กสทช. ด้วย

โดยกรณีนี้ หากมองภายใต้ข้อกำหนดเดียวกัน กองทัพอากาศก็มีสถานีวิทยุกระจายเสียงจำนวนมากและแข่งขันในตลาดที่มีโฆษณา รวมถึงการให้สัมปทานเพื่อจัดสรรเวลาออกอากาศ และมีสถานะเป็นนิติบุคคล แม้จะไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ โทรคมนาคม เพราะเป็นหน่วยงานรัฐที่ได้รับการยกเว้นชั่วคราว แต่ปัจจุบันต้องมาขอใบอนุญาตประกอบกิจการฯ ขณะเดียวกัน เรื่องการเกษียณอายุราชการของ พล.อ.อ.มานัต เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งยังเว้นวรรคไม่ถึง 1 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด ก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ส่งผลให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับหลักการในการคัดเลือกครั้งนี้ ว่าสรุปแล้วเงื่อนไขที่ถูกใช้เป็นสาเหตุให้ผู้สมัครหลายรายไม่ผ่านการคัดเลือกนั้น แท้จริงแล้วมีการพิจารณากันอย่างไร

ทั้งนี้ เนื่องจากมีการระบุเงื่อนไขและข้อกำหนดด้านคุณสมบัติของผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกไว้อย่างชัดเจน จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า การที่ผู้สมัครหลายรายซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายคลึงกัน หรือเหมือนกัน แต่บางรายผ่านการคัดเลือกในขณะที่บางรายไม่ผ่านการคัดเลือกนั้น ถือเป็นการบังคับใช้ข้อกำหนดด้วยวิธี 2 มาตรฐานหรือไม่ ซึ่งนั่นอาจส่งผลให้การคัดเลือกคณะกรรมการ กสทช. ครั้งนี้ ไม่สามารถคัดสรรบุคคลที่มีความเหมาะสม ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์อย่างแท้จริง เพื่อเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในการสร้างและรักษาประโยชน์ด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ของประเทศชาติและประชาชนได้

คลิกอ่านรายละเอียด ประกาศสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เรื่องการรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

https://opsd.mod.go.th/information-news/File/28963.aspx

Back to top button