กทม. แจงฉีดวัคซีนโควิดตามแผน ผลข้างเคียงน้อย 0.4% วางเป้าลงเข็มกลุ่มเสี่ยงอีก 2,568 คน

กทม. แจงฉีดวัคซีนโควิดตามแผน ผลข้างเคียงน้อย 0.4% วางเป้าลงเข็มกลุ่มเสี่ยงอีก 2,568 คน ก่อนถึงคิวพิจารณาประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนผ่านแอปฯ "หมอพร้อม"


ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่ 2 ของแผนการบริหารจัดการวัคซีน จะเริ่มฉีดวัคซีนให้แก่บุคคลที่มีอาชีพเสี่ยง 2,568 คน ที่มีโอกาสสัมผัสกับผู้ที่อาจจะติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเมื่อฉีดให้กับกลุ่มนี้ครบแล้ว จึงจะเป็นการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มประชาชนทั่วไป

“ระบบไลน์หมอพร้อม จะพร้อมใช้วันพฤหัส หรือศุกร์นี้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะแถลงรายละเอียด ส่วนผู้ที่ได้รับการแจ้งจากกทม.ว่าเข้ากลุ่มที่จะได้รับการฉีด ก็ใช้ไลน์หมอพร้อมได้เลย แต่หากไม่สามารถตรวจสอบผ่านหมอพร้อมได้ ก็ไปที่สาธารณสุขใกล้บ้านเพื่อตรวจสอบสิทธิ แต่หากยังไม่สะดวกเดินทางไปตรวจสอบสิทธิ จะมีเจ้าหน้าที่จากกทม.ไปช่วย เพื่อถามความประสงค์ในการรับการฉีดวัคซีน” โฆษก กทม.ระบุ

ส่วนกรณีการฉีดวัคซีนของซิโนแวคที่จะฉีดให้กับผู้มีอายุไม่เกิน 60 ปีนั้น เป็นเพราะการทดสอบวัคซีนของบริษัทซิโนแวคกับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นบุคคลสูงอายุ ยังทำได้ไม่มากเพียงพอ เนื่องจากมีการเร่งใช้วัคซีนในช่วงภาวะฉุกเฉิน ดังนั้นจึงได้กำหนดให้ผู้ที่รับวัคซีนของซิโนแวคต้องมีอายุไม่เกิน 59 ปี 10 เดือนเพื่อความปลอดภัย

“หลายคนก็สงสัยอีก 59 ปี 10 เดือน จะนับตั้งแต่วันไหน ทางกทม.จะกำหนดวันไว้ให้ว่าผู้จะได้รับวัคซีนต้องเกิดตั้งแต่วันที่เท่าไร ถึงวันที่เท่าไร จึงจะสามารถรับวัคซีนได้ เราจะพิจารณาในเร็วๆ นี้” โฆษก กทม.ระบุ

ส่วนผู้ที่มีอายุสูงกว่า 60 ปี จะได้รับวัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนกา โดยจะเริ่มฉีดวัคซีนให้กับผู้ป่วยที่อายุเกิน 60 ปีใน 7 กลุ่มโรคก่อนเป็นลำดับแรก จากนั้นจึงค่อยเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีโรคประจำตัว โดยกทม.จะแจ้งไปยังกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เข้ามารับบริการฉีดวัคซีนได้ตามสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้าน

สำหรับการจัดกิจกรรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น ต้องมีการพิจารณาสถานการณ์อย่างรอบคอบ ซึ่งขณะนี้ กทม.อยู่ระหว่างการหารือกับรัฐบาล และ ศบค.ถึงแนวทางในการบริหารจัดการร่วมกันทั้งประเทศ เพราะโควิดไม่ใช่เรื่องเฉพาะของจังหวัด แต่ต้องประเมินสถานการณ์ร่วมกันในภาพรวมทั้งประเทศ

“คาดว่าอีกไม่นาน จะมีแนวทางออกมาว่าจะจัดอย่างไร มากกว่าจะจัด หรือไม่จัด” โฆษก กทม. ระบุ

ด้าน พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยถึงแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ตามที่ประชาชนมีความกังวลว่ากทม.มีการบริหารจัดการวัคซีนที่ล่าช้าเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ นั้น ขอชี้แจงว่าคณะอนุกรรมการบริหารจัดการวัคซีน ของกทม. มีแนวทางในการให้วัคซีน โดยเน้นวัตถุประสงค์หลักคือ ลดความรุนแรงของโรค และลดการเสียชีวิตเป็นลำดับแรก รองลงมา คือการปกป้องระบบสุขภาพของกรุงเทพฯ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถทำงานให้บริการผู้ป่วยได้

การให้วัคซีนกับกลุ่มเป้าหมาย จะพิจารณาจากปัจจัยของพื้นที่เสี่ยงที่มีการแพร่ระบาดเข้ามาเป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งพื้นที่ของ กทม.ที่จะได้รับวัคซีนในช่วงแรกก่อน คือ พื้นที่ 6 เขตทางฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ ที่ติดกับ จ.สมุทรสาคร หลักการบริหารจัดการวัคซีน ยึดหลักความโปร่งใสและเท่าเทียม

รองผู้ว่าฯ กทม. ยืนยันว่า การบริหารจัดการวัคซีนให้แก่กลุ่มเป้าหมาย เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ โดยในสัปดาห์แรกได้ กำหนดกลุ่มเป้าหมายรับวัคซีนเป็นบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ในพื้นที่ 6 เขตของกทม. ซึ่งมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 91% จากเป้าหมาย ส่วนจำนวนที่ขาดอีกกว่า 8% หรือประมาณ 200 คนที่ไม่ได้รับวัคซีนนั้น เป็นจากเหตุผลส่วนตัวของแพทย์หรือพยาบาลเอง เช่น ติดงาน หรือมีไข้ทำให้ไม่สามารถรับวัคซีนได้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เหตุผลของการบริหารจัดการวัคซีนที่ล่าช้าแต่อย่างใด

“เราเชื่อว่าในระยะเริ่มแรกของการให้วัคซีนซิโนแวค ซึ่งเป็นการให้ครั้งแรกของไทยและของกทม. ถ้าหากดำเนินการด้วยความรอบคอบ รัดกุม แล้วดูว่ามีอาการข้างเคียงหรือไม่พึงประสงค์มากน้อยเพียงใด เราจึงได้ให้วัคซีนในช่วงวันที่ 1-2 ไม่มากนัก จนมั่นใจว่าการให้วัคซีนมีผลข้างเคียงน้อย จึงได้เพิ่มจำนวนการให้วัคซีนในวันที่ 3 4 5 6 7 ต่อมา จนถึง 91%” พล.ต.ท.โสภณ กล่าว

ทั้งนี้ ผลข้างเคียงจากผู้ที่ได้รับวัคซีนไปแล้วในสัปดาห์แรก 3 พันกว่าคนนั้น พบว่ามีอาการไม่พึงประสงค์ หรือมีอาการข้างเคียงที่ไม่รุนแรง 11 คน และอาการรุนแรง 2 คน รวมเป็น 13 คน คิดเป็น 0.4% เท่านั้น

ส่วนการจัดลำดับผู้ป่วยเรื้อรัง 7 โรคให้เข้ารับวัคซีนนั้น จะเรียงตามอายุจากมากไปหาน้อย โดยอายุมากจะได้รับวัคซีนก่อน เช่น กลุ่มแรก เป็นผู้มีอายุ 59 ปี 10 เดือน- 55 ปี กลุ่มสอง อายุ 54-50 ปี กลุ่มสาม อายุ 49-45 ปี เป็นต้น เนื่องจากผู้มีอายุมากจะมีความเสี่ยงสูงกว่า

“ข้อแนะนำในการรับวัคซีนของซิโนแวค คือ ไม่ควรใช้กับผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี ดังนั้น เราจึงกำหนดอายุไว้ที่ไม่เกิน 59 ปี 10 เดือน เนื่องจากเมื่อรับโดสแรกไปแล้ว จะต้องทิ้งระยะเวลาสำหรับการรับโดสสอง ซึ่งจะทำให้การได้รับวัคซีนในโดสสอง อายุจะไม่เกินกำหนดที่ 60 ปี” รองผู้ว่าฯ กทม.ระบุ

Back to top button