ทีมแพทย์ ยันยังไร้ข้อบ่งชี้ ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ผลข้างเคียงวัคซีน “แอสตราฯ”

คณะแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันยังไร้ข้อบ่งชี้ ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เกี่ยวข้องฉีดวัคซีน “แอสตราฯ” รอผลสอบสวนจากทางยุโรป


นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวว่า การผลิตวัคซีนออกมาใช้งานหลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อได้ไม่เกิน 1 ปี ถือเป็นพัฒนาการที่รวดเร็วมาก ส่วนผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นในต่างประเทศจากการฉีดวัคซีนของบริษัท แอสตราเซเนกา ในกลุ่มสหภาพยุโรปไปแล้ว 3 ล้านโดส พบว่ามีผู้ที่มีปัญหาลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือดดำ 22 ราย หรือคิดเป็น 7.3 รายต่อล้านโดส แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นผลจากการฉีดวัคซีน ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจมาจากหลายสาเหตุ คือ 1.เป็นผู้สูงอายุ 2.เป็นปัญหาเรื่องเผ่าพันธุ์ โดยยุโรปมีความเสี่ยงมากกว่าเอเซีย 3-5 เท่า และ 3.มีโรคประจำตัว

“เราจะรอผลสอบสวนทางยุโรปว่าเป็นอย่างไร ถ้าให้เดาน่าจะมาจากปัญหาเรื่องเป็นผู้สูงอายุ โดยเฉพาะเป็นผู้ป่วยติดเตียง แต่ถ้าเป็นคนหนุ่มสาวจะน่ากังวล สถานการณ์ของบ้านเราขณะนี้ยังรอได้” นพ.ทวี กล่าว

นพ.ทวี กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของวัคซีนของบริษัท แอสตราเซเนกา เพราะมีการกระจายไปใช้งานอย่างแพร่หลายทั่วโลกมากถึง 34 ล้านโดส โดยวัคซีนล็อตที่นำเข้ามานี้มาจากประเทศเกาหลีใต้ และผู้ที่รับวัคซีนแล้วจะช่วยป้องกันการแพร่เชื้อ และลดอาการหากได้รับเชื้อ

สำหรับกรณีเรื่องเชื้อกลายพันธุ์นั้นถือเป็นเรื่องปกติของการเอาตัวรอดเหมือนเชื้อไข้หวัดใหญ่ แต่การที่เรามีโรงงานผลิตในประเทศจะสามารถผลิตวัคซีนที่ปรับปรุงประสิทธิภาพได้อย่างรวดเร็ว

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จังหวัดสมุทรสาครยังพบผู้ป่วยต่อเนื่อง ดังนั้นจึงต้องดำเนินการตรวจค้นหาอย่างเข้มข้นต่อไป…ตอนนี้ต้องขอให้ประชาชนและแรงงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครงดการเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ

อย่างไรก็ตาม สำหรับเขตสุขภาพที่ 5 (สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี) มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมรวม 17,064 ราย แยกเป็นคนไทย 3,351 ราย และเมียนมา 13,675 ราย เสียชีวิต 8 ราย โดยผู้ป่วยยืนยันสะสมส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร

ส่วนการลดจำนวนวันกักตัวของผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศนั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)กำหนด เช่น การมีวัคซีนพาสปอร์ต, การเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง เป็นต้น

Back to top button