ครม. ไฟเขียวแนวทางจัดสรร “งบรายจ่ายปี 65” 3.1 ล้านลบ. “ศึกษาธิการ” ได้รับวงเงินมากสุด

ครม. ไฟเขียวแนวทางจัดสรร “งบรายจ่ายปี 65” 3.1 ล้านลบ. “ศึกษาธิการ” ได้รับวงเงินมากสุด


นายสมหมาย ลักขณานุรักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแนวทางจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 3,100,000 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้

– รายจ่ายประจำ 2,360,543.0 ล้านบาท ลดลง 177,109.3 ล้านบาท หรือลดลง 6.98% จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และคิดเป็นสัดส่วน 76.15% ของวงเงินงบประมาณ

– รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 596.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100% จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เนื่องจากในปีงบประมาณปี 2564 ไม่มีรายการที่ต้องเสนอตั้งงบประมาณ คิดเป็นสัดส่วน 0.02% ของวงเงินงบประมาณ

– รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย 24,978.6 ล้านบาท เพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่ายที่ได้นำไปใช้จ่ายตามนัยมาตรา 45 ของพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 เพิ่มขึ้น 100% จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และคิดเป็นสัดส่วน 0.81% ของวงเงินงบประมาณ

– รายจ่ายลงทุน 624,399.9 ล้านบาท ลดลง 24,910.3 ล้านบาท จากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และคิดเป็นสัดส่วน 20.14% ของวงเงินงบประมาณ

– รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 100,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 1,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.01% และคิดเป็นสัดส่วน 3.22% ของวงเงินงบประมาณ (รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุน กรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 10,518.2 ล้านบาท)

สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 หากจำแนกตามยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ และ 1 รายการ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคง 387,852 ล้านบาท คิดเป็น 12.51%

ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 338,547 ล้านบาท คิดเป็น 10.92%

ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 548,185 ล้านบาท คิดเป็น 17.68%

ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 733,749 ล้านบาท คิดเป็น 23.67%

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 119,600 ล้านบาท คิดเป็น 3.86%

ยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ 559,357.8 ล้านบาท คิดเป็น 18.05%

และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ 412,706 ล้านบาท คิดเป็น 13.31%

สำหรับกระทรวงหรือหน่วยรับงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในปีงบ 65 สูงสุด 5 อันดับแรก คือ

1.กระทรวงศึกษาธิการ

2.กระทรวงมหาดไทย

3.กระทรวงการคลัง

4.กระทรวงกลาโหม

5.ทุนหมุนเวียน

ขณะที่กระทรวงหรือหน่วยรับงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยสุด 5 อันดับแรก คือ

1.หน่วยงานของรัฐ

2.กระทรวงพลังงาน

3.กระทรวงอุตสาหกรรม

4.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

5.กระทรวงพาณิชย์

เมื่อจำแนกการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามยุทธศาสตร์แล้ว พบว่า ยุทธศาสตร์ที่มีสัดสรรงบประมาณสูงสุด คือ ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม อยู่ที่ 733,749.6 ล้านบาท คิดเป็น 23.67% ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับการจัดสรร 709,866.98 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับแนวทางปฏิรูปรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถพึ่งพาตนเอง รวมทั้งยังให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณานำเงินนอกงบประมาณหรือเงินสะสมมาใช้สมทบเพื่อดำเนินโครงการลงทุนในท้องถิ่นมากขึ้น

ทั้งนี้ สำนักงบประมาณได้เสนอแนวทางการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยขอให้หน่วยรับงบประมาณ รักษาสัดส่วนรายจ่ายลงทุน ไม่ควรเปลี่ยนแปลงรายจ่ายลงทุนไปเพิ่มในรายจ่ายประจำ และไม่ควรเปลี่ยนแปลงงบประมาณในแผนงานบูรณาการหรือแผนงานยุทธศาสตร์ไปเพิ่ม ในแผนงานพื้นฐาน รวมทั้งไม่ควรเพิ่มรายการใหม่ที่มีภาระผูกพัน โดยให้หน่วยรับงบประมาณปรับปรุงรายละเอียดตามแนวทางดังกล่าวและส่งผลการปรับปรุงให้สำนักงบประมาณส่งสำนักงบประมาณภายในวันที่ 18 มีนาคม 2564 เพื่อให้สำนักงบประมาณนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในสัปดาห์ต่อไป (23 มี.ค.)

โดยส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปี ให้พิจารณาเพิ่มรายจ่ายลงทุนจากแหล่งเงินลงทุนของประเทศในช่องทางอื่นนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่าย เช่น การร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน (PPP) และการลงทุนของหน่วยงาน ในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (THAILAND FUTURE FUND) รวมทั้งพิจารณาการใช้เงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติมด้วย

Back to top button