“ศาลปค.กลาง” ยกคำร้อง ชี้ “คมนาคม-รฟท.” ต้องจ่ายค่าโง่ “โฮปเวลล์” 2.5 หมื่นล้าน!

“ศาลปกครองกลาง” ยกคำร้อง “คมนาคม-รฟท.” ขอทุเลาบังคับคดี ชี้้ต้องจ่ายค่าโง่ “โฮปเวลล์” 2.5 หมื่นล้าน!


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (21 เม.ย. 2564) ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับคดี ในคดีที่กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งงดการบังคับหรือทุเลาการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีโฮปเวลล์ ที่ให้กระทรวงคมนาคมและร.ฟ.ท.ต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2551 โดยให้ 2 หน่วยงานรัฐจ่ายค่าเสียหายแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด รวมประมาณ 25,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ เนื่องจากศาลปกครองกลางเห็นว่าคดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาแล้วในคดีหมายเลขดำที่ อ.410-412/2557 คดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223/2562 พิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 119/2547 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 64/2551 โดยให้กระทรวงคมนาคมและร.ฟ.ท.ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 180 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด

ผลแห่งคำพิพากษาดังกล่าวจึงผูกพันทั้ง 2 หน่วยงานต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวในมาตรา 70 วรรคหนึ่งพระราชบัญญัติ ( พ.ร.บ) จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 แม้กระทรวงคมนาคมและร.ฟ.ท.จะอ้างว่าขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการทางศาลก็ตาม โดยกระทรวงคมนาคมยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่ามติที่ประชุมใหญ่ของตุลาการในศาลปกครองสูงสุดครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2545 ขัดต่อรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 หรือไม่

ขณะที่ ร.ฟ.ท.ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนทะเบียนบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด อีกทั้ง 2 หน่วยงานได้ดำเนินการสอบสวน เพื่อหาผู้รับผิดชอบทางแพ่งและทางวินัยจากการกระทำความผิดในโครงการนี้ แต่ในชั้นนี้กรณีดังกล่าวไม่เป็นเหตุที่จะเข้าเงื่อนไขในการงดการบังคับคดีตามข้อ 131 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2543

ส่วนการทุเลาการบังคับคดีนั้น ไม่มีกฎหมายให้อำนาจศาลในการทุเลาการบังคับคดี ประกอบกับคดีนี้ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ตามมาตรา 73 วรรค 4 แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง 2542 ศาลจึงไม่อาจมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับคดีได้เช่นกัน จึงมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง

Back to top button