
แก้เกมเทรดวอร์! ครม.เคาะแผน IP Work Plan “ไทย-สหรัฐ” อุดช่องโหว่ละเมิดลิขสิทธิ์-สิทธิบัตร
ครม.เห็นชอบแผน IP Work Plan ไทย-สหรัฐฯ ดันไทยหลุดบัญชี PWL พร้อมเดินหน้าปรับกฎหมายรองรับ WPPT และอุดช่องโหว่ระบบ IP โดยเฉพาะการสวมสิทธิ์เครื่องหมายการค้า-สิทธิบัตร เพิ่มความมั่นใจให้นักลงทุนต่างชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (27 พ.ค.68) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบร่างแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Thailand Intellectual Property Work Plan: IP Work Plan) ระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญา กับสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (United States Trade Representative: USTR) ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เพื่อเป็นกรอบความร่วมมือในการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีเป้าหมายเพื่อนำไทยออกจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List: PWL)
สาระสำคัญของร่างแผนงานฯ ประกอบด้วย 4 หัวข้อ ได้แก่
- ลิขสิทธิ์ ยกระดับมาตรการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะในระบบออนไลน์ แก้ไขปัญหาการใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน ปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และส่งเสริมการเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO)
- เครื่องหมายการค้า แก้ไขปัญหาค้างสะสม และเพิ่มจำนวนผู้ตรวจสอบเครื่องหมายการค้า เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการ
- สิทธิบัตรและเภสัชภัณฑ์ ปรับปรุงกฎหมายสิทธิบัตรให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ แก้ไขปัญหาคุณภาพการออกสิทธิบัตร และลดงานค้างสะสม
- การบังคับใช้สิทธิ เสริมประสิทธิภาพมาตรการทางแพ่งและอาญาในการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงการผลิตและจำหน่ายสินค้าปลอม โดยเฉพาะกลุ่มเภสัชภัณฑ์
พร้อมกันนี้ ครม. ยังมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เพื่อให้สอดคล้องกับสนธิสัญญาว่าด้วยการแสดงและสิ่งบันทึกเสียงขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO Performances and Phonograms Treaty: WPPT) และเห็นชอบการสมัครเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาดังกล่าว ตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ
การเข้าร่วม WPPT มีเป้าหมายเพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิของนักแสดงและผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล สนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย ขยายโอกาสการเข้าถึงตลาดระหว่างประเทศ และเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา
ตามพันธกรณีภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับปรุงและให้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 มกราคม 2570 โดยกระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำกรอบเวลาและสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรอง 3 ฉบับ ซึ่งจะต้องประกาศใช้ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้
ทั้งนี้ การเดินหน้าแผนความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญากับสหรัฐฯ ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือเชิงยุทธศาสตร์ที่ไทยใช้ในการรับมือแรงกดดันทางการค้าจากประเทศคู่ค้า และส่งสัญญาณถึงความจริงจังของรัฐบาลไทยในการยกระดับมาตรฐานทรัพย์สินทางปัญญา ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจ