
หุ้นยุโรปปิดลบ กังวลนโยบายภาษี “ทรัมป์” ฉุดความเชื่อมั่น – จับตาประชุม Fed-BoE
ตลาดหุ้นยุโรปปิดในแดนลบ นักลงทุนวิตกนโยบายภาษีของ “ทรัมป์” กดดันบรรยากาศลงทุนทั่วโลก พร้อมจับตาการประชุมเฟดและธนาคารกลางอังกฤษในสัปดาห์นี้
ตลาดหุ้นยุโรป ปิดในแดนลบเมื่อวันอังคาร (6 พ.ค. 68) ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากท่าทีด้านภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ที่ยังคงสร้างแรงกดดันต่อบรรยากาศการลงทุนในวงกว้าง ขณะที่นักลงทุนรอความชัดเจนจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ในสัปดาห์นี้
- ดัชนี STOXX 600 ของยุโรป ปิดที่ 536.35 จุด ลดลง 0.96 จุด หรือ -0.18%
- ดัชนี CAC-40 ของฝรั่งเศส ปิดที่ 7,696.92 จุด ลดลง 31.01 จุด หรือ -0.40%
- ดัชนี DAX ของเยอรมนี ปิดที่ 23,249.65 จุด ลดลง 94.89 จุด หรือ -0.41%
- ดัชนี FTSE 100 ของอังกฤษ ปิดทรงตัวที่ 8,597.42 จุด เพิ่มขึ้น 1.07 จุด หรือ +0.01%
กลุ่มหุ้นที่กดดันตลาดหลักมาจากภาคสุขภาพ โดยเฉพาะหุ้นโนโว นอร์ดิสค์ (Novo Nordisk) ที่ร่วงลงถึง 4% หลังความวิตกเกี่ยวกับนโยบายเก็บภาษียาในสหรัฐฯ ขณะที่หุ้นฟิลิปส์ (Philips) ดิ่ง 2.7% หลังบริษัทปรับลดคาดการณ์อัตรากำไรประจำปี 2568
บรรยากาศการลงทุนทั่วโลกยังเผชิญแรงสั่นสะเทือนจากท่าทีของผู้นำสหรัฐฯ โดยล่าสุด ทรัมป์ประกาศเมื่อวันจันทร์ว่า จะจัดเก็บภาษียาในช่วง 2 สัปดาห์ข้างหน้า ต่อเนื่องจากการประกาศเก็บภาษีนำเข้าภาพยนตร์ต่างประเทศ 100% เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
นักวิเคราะห์เตือนว่า “สิ่งที่ตลาดกลัวที่สุดไม่ใช่ภาษีสูง แต่คือความไม่แน่นอน” ซึ่งมักส่งผลลบต่อทิศทางของตลาดหุ้นโดยรวม ขณะที่ท่าทีของจีนยังไม่มีความเคลื่อนไหวเพิ่มเติม หลังจากสัปดาห์ที่แล้วส่งสัญญาณบวกเล็กน้อย
เจาะไปที่ตลาดหุ้นเยอรมนี ดัชนีลดช่วงติดลบลงในช่วงท้ายการซื้อขาย หลังจากนายฟรีดริช แมร์ซ ผู้นำพรรคอนุรักษนิยม ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี จากการลงคะแนนเสียงรอบที่ 2 ในรัฐสภา หลังพ่ายแพ้ในรอบแรก
ขณะที่ผลสำรวจล่าสุดจากภาคเอกชนชี้ว่า เศรษฐกิจยูโรโซนยังขยายตัวในเดือนเมษายน แต่ในอัตราที่ชะลอลง โดยเฉพาะภาคบริการที่แทบไม่เติบโต สะท้อนถึงแนวโน้มการฟื้นตัวยังอยู่ในระดับเปราะบาง
ตลาดกำลังรอฟังท่าทีของ Fed ในการประชุมวันที่ 7 พ.ค.นี้ โดยมีการคาดการณ์ว่า Fed จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม พร้อมจับตาคำแถลงเกี่ยวกับผลกระทบของนโยบายภาษีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ขณะที่ BoE จะประชุมในวันพฤหัสบดีที่ 8 พ.ค.นี้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจสร้างความเคลื่อนไหวต่อสินทรัพย์เสี่ยงในระยะสั้น