หุ้นไทยผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ!!

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ เราได้เห็นกันแล้วว่าตลาดหุ้นไทยเกิดความผันผวนขึ้นอย่างไรบ้าง จากเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ โดยถือเป็นความผันผวนที่มีส่วนต่อเนื่องมาจากสัปดาห์ที่แล้ว ดังนั้น “ตามกระแสโลก” สัปดาห์นี้ เราคงต้องมาดูกันหน่อยแล้วว่า ในอดีตที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์อะไรบ้างที่ส่งผลกระทบมาถึงตลาดหุ้นบ้านเรา


–ตามกระแสโลก–

 

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ เราได้เห็นกันแล้วว่าตลาดหุ้นไทยเกิดความผันผวนขึ้นอย่างไรบ้าง จากเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ โดยถือเป็นความผันผวนที่มีส่วนต่อเนื่องมาจากสัปดาห์ที่แล้ว ดังนั้น “ตามกระแสโลก” สัปดาห์นี้ เราคงต้องมาดูกันหน่อยแล้วว่า ในอดีตที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์อะไรบ้างที่ส่งผลกระทบมาถึงตลาดหุ้นบ้านเรา

เริ่มต้นกันที่ผลกระทบประเภทแรก “ผลกระทบจากเศรษฐกิจ” ซึ่งประกอบไปด้วยหลากหลายเหตุการณ์สำคัญ อาทิ การออกมาตรการกันสำรอง 30% ของ “อุ๋ยร้อยจุด” เมื่อปี 49 การล้มละลายของเลย์แมนบราเธอร์ เมื่อปี 51 การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือสหรัฐฯจาก AAA เป็น AA+ โดย S&P เมื่อปี 54 และ การเกิดความกังวลว่า “เฟด” จะปรับลด QE เมื่อปี 56

ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงจากเหตุการณ์เหล่านี้ โดยเฉลี่ยราว 21.85% ในช่วงระหว่างปี 49 ถึงปี 56 และต้องใช้เวลาถึงราว 118 วัน ก่อนที่ดัชนีจะเด้งกลับขึ้นสู่ระดับเดิมได้ โดยเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดคือตอนที่ “เลย์แมนบราเธอร์” ประกาศล้มละลาย ซึ่งกดดัชนีตลาดบ้านเราลงถึง 41.29% และต้องใช้เวลาถึง 221 วัน ก่อนที่ SET จะฟื้นตัวได้

ถัดมาผลกระทบประเภทที่สอง “ผลกระทบจากการเมือง” ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้นด้วยกันคือ การปฏิวัติรัฐประหารโดย “บิ๊กบัง” เมื่อปี 49 การปิดล้อมสนามบินโดยกลุ่มพันธมิตร เมื่อปี 51 การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เมื่อปี 53 การคาดการณ์ว่าผลเลือกตั้งของกรีซจะส่งผลต่อแผนแก้ปัญหาเศรษฐกิจยุโรปและการคงไว้ซึ่งสมาชิกยูโรโซนของกรีซ เมื่อปี 55 และสุดท้ายคือ การชุมนุมต่อต้าน พรบ. นิรโทษกรรมโดย “กลุ่มคนดี” เมื่อปี 56

โดยผลกระทบจากเหตุการณ์ทางการเมืองเหล่านี้ ส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง เฉลี่ยราว 7.49% ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน และใช้เวลาแค่เพียง 30 วันโดยเฉลี่ย ในการกู้ดัชนีให้ฟื้นกลับมายืนอยู่ที่ระดับเดิมได้ ส่วนเหตุการณ์ทางการเมืองที่มีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุดคือ การชุมนุมต่อต้าน พรบ.นิรโทษฯ และขับไล่ “รัฐบาลปู” ซึ่งมีส่วนทำให้ดัชนีทรุดฮวบลงกว่า 15.13% และต้องใช้เวลาราว 41 วัน สำหรับการฟื้นฟู

 

ส่วนผลกระทบประเภทสุดท้าย “ผลกระทบจากภัยธรรมชาติ” ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้น 2 ครั้ง ด้วยกัน สำหรับช่วงระยะเวลาดังกล่าว ประกอบไปด้วย มหันตภัยสึนามิ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 54 และ น้ำท่วมใหญ่ในบ้านเรา เมื่อราวกลางเดือนกันยายน ปี 56 โดยทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ ส่งผลทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง เฉลี่ยราว 9.55% และใช้เวลาราว 32 วัน ในการฟื้นฟู

จากผลกระทบทั้ง 3 ประเภท เห็นได้ชัดว่า เหตุการณ์ทางเศรษฐกิจมีผลต่อตลาดหุ้นมากที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย อีกทั้งยังส่งผลในระยะยาวที่สุดอีกด้วย ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นแล้ว มันก็เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ว่า พื้นฐานที่แท้จริงของหุ้นขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจเป็นหลักที่สุด ส่วนสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนใหญ่นั้นเกิดขึ้นจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ

 

อย่างไรก็ตาม หากมองภาพรวมของบริษัทจดทะเบียนสัญชาติไทยทั้งหลายจะเห็นได้ว่า ประสบการณ์ที่ผ่านมาอย่างโชกโชน ส่งผลให้เหล่า บจ. ต่างสามารถปรับตัวเพื่อให้เข้ากับภาวะการณ์ในปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาการบริหารจัดการองค์กร การนำเครื่องมือทางการเงินมาใช้ปรับปรุงโครงสร้างทุนให้มีศักยภาพสูงขึ้น รวมไปถึงการกระจายความเสี่ยงทางการลงทุนเพื่อให้เกิดประสิทธิผลเพิ่มขึ้น อีกทั้งเป็นการลดการพึ่งพาลูกค้าหรือซัพพลายเออร์รายใดรายหนึ่งจนมากเกืนไป         

พื้นฐานหุ้นไทยทุกวันนี้ ต้องยอมรับเลยว่าแข็งแกร่งมากจริงๆ โดยข้อมูลตัวเลขที่สามารถชี้วัดกรณีนี้ได้ก็คือ ผลประกอบการในไตรมาส 2 รวมไปถึงช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งในภาพรวม บจ.ไทย สามารถทำผลงานออกมาได้ดีเกินคาด ท่ามกลางภาวะชะงักงันของเศรษฐกิจทั่วโลก

มิหนำซ้ำเครื่องยนต์ที่คอยทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจบ้านเราทั้ง 4 ตัว ดันตกอยู่ในสภาพที่ไม่ต่างอะไรกับ “เครื่องยนต์หัวเทียนบอด” ภาครัฐก็ดีแต่อนุมัติโครงการนู้นนี้ แต่ไม่เห็นมีอะไรออกมาเป็นชิ้นเป็นอันให้สามารถเซ็นเบิกจ่ายออกมาได้ซะที ไม่รู้ว่าเป็นเพราะกรรมที่เคยทำมาในอดีตนั้น หวนกลับมาเป็นเชือกมัดคอตัวเองเสียแล้วมั้ง

กำไรรวมของ 530 บริษัทในตลาดใหญ่ สำหรับงวดไตรมาส 2 อยู่ที่ 2.12 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 10% จากงวดเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงราว 7.3% เทียบกับไตรมาส 1 ปีนี้ ส่วนกำไรสุทธิรวมสำหรับครึ่งปีแรก อยู่ที่ระดับ 4.41 แสนล้านบาท

โดยสาเหตุหลักที่ทำให้กำไรงวดไตรมาส 2 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากราคาน้ำมันในตลาดโลกมีการปรับตัวลดลง ซึ่งตรงนี้แน่นอนว่า ย่อมส่งผลกระทบต่ออัตรากำไรของหุ้นในกลุ่มพลังงานอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ อีกหนึ่งตัวเลขที่บ่งบอกได้ว่า หุ้นไทยยังคงแข็งแกร่งอยู่เป็นอย่างมากคือ ยอดเงินปันผลสำหรับ 6 เดือนแรกนั่นเอง

ซึ่งข้อมูลล่าสุด มีการประกาศจ่ายปันผลออกมาแล้วจาก 120 บริษัท ไม่รวมกองทุนอสังหาฯ คิดเป็นเม็ดเงินรวมได้ราว 9.53 หมื่นล้านบาท และเมื่ออีกประมาณ 20-30 บริษัท ทยอยประกาศปันผลกันออกมา จะทำให้ยอดปันผลงวดนี้สูงถึง 1.30 แสนล้านบาท ถือเป็นตัวเลขที่มีพัฒนาการไปในทางที่ดี เพราะคิดเป็นอัตราปันผล หรือ Payout Ratio ที่สูงถึง 60% สูงกว่าตลาดอื่นๆในอาเซียนที่จ่ายอยู่ราว 40-55%

 

การเล่นหุ้นช่วงนี้ จะว่าไปแล้วอาจถือเป็นโอกาสเข้าซื้อของถูกก็ได้เหมือนกันนะ โดยเฉพาะหุ้นไซส์ขนาดใหญ่ในกลุ่มบลูชิพบางตัว ได้ปรับตัวลงมาอยู่ในระดับต่ำจนชวนน้ำลายสอทีเดียว แต่อาจต้องย้ำไว้ตรงนี้ก่อนว่า ตอนนี้ของบางตัวอาจถูกจริง แต่ในช่วงระหว่างทางสู่ฝั่งฝันอาจต้องเผชิญกับภาวะที่เรียกว่า ถูกแล้วยังมีถูกกว่า อยู่บ้างเป็นครั้งคราว ดังนั้นการจะเข้ามาช้อนซื้อหุ้นในกลุ่มนี้อาจต้องใช้เงินเย็นมากจริงๆ ชนิดว่า แช่ไว้ซัก 2 ปี ก็ไม่เป็นไร

ส่วนท่านใดไม่มีเงินทุนประเภทนี้อยู่ในมือ อาจต้องพิจารณาไปเล่นหุ้น “สไตล์ติ๊ดชึ่งๆ” แทน!!

พวกหุ้นแบบ ขึ้น-ลง วันหนึ่งซัก 40-50 สตางค์ ถ้าหาจังหวะดีๆ เข้าไปติ๊ดซักสองชึ่งสามชึ่งได้ ก็ถือเป็นทางเลือกที่ไม่เลวเหมือนกันนะ

Back to top button