สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 8 มี.ค. 2564

สรุปภาวะตลาดต่างประเทศ ประจำวันที่ 8 มี.ค. 2564


ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 300 จุดเมื่อคืนนี้ (8 มี.ค.) ขานรับความคืบหน้าในการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยปัจจัยดังกล่าวช่วยหนุนหุ้นกลุ่มที่คาดว่าจะได้ประโยชน์เมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ซึ่งรวมถึงหุ้นกลุ่มธนาคาร กลุ่มสายการบิน และกลุ่มโรงแรม อย่างไรก็ดี ดัชนี Nasdaq ร่วงลงกว่า 2.4% เนื่องจากนักลงทุนเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 31,802.44 จุด เพิ่มขึ้น 306.14 จุด หรือ +0.97% ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,821.35 จุด ลดลง 20.59 จุด หรือ -0.54% ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,609.16 จุด ลดลง 310.99 จุด หรือ -2.41%

ตลาดหุ้นยุโรปปิดบวกเมื่อคืนนี้ (8 มี.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงเข้าซื้อหุ้นที่ปรับตัวตามภาวะเศรษฐกิจจากความหวังที่ว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งจากผลกระทบของโรคโควิด-19

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดตลาดที่ระดับ 417.25 จุด เพิ่มขึ้น 8.57 จุด หรือ +2.10%

ดัชนี CAC 40 ปิดที่ 5,902.99 จุด เพิ่มขึ้น 120.34 จุด หรือ +2.08%, ดัชนี DAX ปิดที่ 14,380.91 จุด เพิ่มขึ้น 460.22 จุด หรือ +3.31% และดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 6,719.13 จุด เพิ่มขึ้น 88.61 จุด หรือ +1.34%

 

ตลาดหุ้นลอนดอนปิดบวกเมื่อคืนนี้ (8 มี.ค.)  เนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในอังกฤษ

ดัชนี FTSE 100 ปิดที่ 6,719.13 จุด เพิ่มขึ้น 88.61 จุด หรือ +1.34%

 

สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบเมื่อคืนนี้ (8 มี.ค) เนื่องจากนักลงทุนเทขายทำกำไรหลังราคาพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในระหว่างวัน อันเนื่องมาจากรายงานข่าวที่ว่า กลุ่มกบฏฮูตีของเยเมนได้ใช้โดรนและขีปนาวุธโจมตีอุตสาหกรรมน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย

สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 1.04 ดอลลาร์ หรือ 1.6% ปิดที่ 65.05 ดอลลาร์/บาร์เรล

สัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 1.12 ดอลลาร์ หรือ 1.6% ปิดที่ 68.24 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือนเมื่อคืนนี้ (8 มี.ค.) โดยได้รับแรงกดดันจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ และการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์

สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนเม.ย. ร่วงลง 20.5 ดอลลาร์ หรือ 1.21% ปิดที่ 1,678 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 2563

สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. ลดลง 1.8 เซนต์ หรือ 0.07% ปิดที่ 25.269 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 24 ดอลลาร์ หรือ 2.13% ปิดที่ 1,152.3 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ร่วงลง 14.90 ดอลลาร์ หรือ 0.6% ปิดที่ 2,314.20 ดอลลาร์/ออนซ์

 

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (8 มี.ค.) โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ หลังจากวุฒิสภาสหรัฐมีมติผ่านร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน

ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.36% แตะที่ 92.3144 เมื่อคืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินเยน ที่ระดับ 108.86 เยน จากระดับ 108.33 เยน และแข็งค่าเมื่อเทียบกับฟรังก์สวิส ที่ระดับ 0.9351 ฟรังก์ จากระดับ 0.9308 ฟรังก์ แต่เมื่อเทียบกับดอลลาร์แคนาดา ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแตะระดับ 1.2655 ดอลลาร์แคนาดา จากระดับ 1.2664 ดอลลาร์แคนาดา

ยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ที่ระดับ 1.1858 ดอลลาร์ จากระดับ 1.1912 ดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์อ่อนค่าลงแตะที่ระดับ 1.3837 ดอลลาร์ จากระดับ 1.3840 ดอลลาร์ ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียอ่อนค่าลงสู่ระดับ 0.7662 ดอลลาร์สหรัฐ จากระดับ 0.7689 ดอลลาร์สหรัฐ

Back to top button