“พาณิชย์” เปิดตัวเลข “ดัชนีราคาผู้ผลิต” เม.ย. หดตัว สะท้อนการแข่งขันสูง

“พาณิชย์” เผยดัชนีราคาผู้ผลิตของไทยเดือนเม.ย. หดตัวตามการแข่งขันที่สูงขึ้น และภาวะการค้าโลกที่ไม่แน่นอน


วันนี้ (2 พ.ค.68) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิตของไทยในเดือนเมษายน 2568 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี ก่อน หดตัวจากราคาสินค้าในทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่เผชิญกับการแข่งขันที่สูงในตลาดโลกและอุปทานส่วนเกินที่สูง ส่งผลให้ราคาผู้ผลิตปรับตัวลดลง ขณะเดียวกันราคาผลิตภัณฑ์จากเหมืองและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมีทิศทางลดลง ตามต้นทุนการผลิตที่ลดลงและอุปสงค์ที่ลดลงจากภาวะการค้าโลกที่ไม่แน่นอน

โดยดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนเมษายน 2568 อยู่ที่ 110.2 ซึ่งลดลง 3.2% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2567 โดยเป็นผลจากการลดลงของราคาสินค้าหมวดผลิตภัณฑ์การเกษตรและการประมง ที่ลดลง 6.5% สินค้าสำคัญที่มีราคาลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้า, อ้อย, ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์, หัวมันสำปะหลังสด, ยางพารา, พืชผัก เช่น มะนาว พริก กระเทียม และโคมีชีวิต โดยปัจจัยที่ทำให้ราคาสินค้าเหล่านี้ลดลง คือการลดลงของราคาผลผลิตในตลาดโลก และความต้องการบริโภคที่ลดลงจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สำหรับสินค้าที่ราคาปรับสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเหนียว, ผลปาล์มสด, ผลไม้ เช่น ทุเรียน มะพร้าว สับปะรด, สุกรมีชีวิต และกุ้งแวนนาไม โดยมีความต้องการเพิ่มขึ้นจากตลาดต่างประเทศ

ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองลดลง 3% โดยราคาน้ำมันปิโตรเลียมดิบและก๊าซธรรมชาติปรับลดตามทิศทางตลาดโลก ส่วนหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมลดลง 2.8% เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม เช่น น้ำมันดีเซล, น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันเตา ปรับลดลงตามทิศทางราคาตลาดโลก รวมทั้งผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น เม็ดพลาสติก, ยางสังเคราะห์ และผลิตภัณฑ์โลหะที่ปรับราคาตามต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง

คาดการณ์ว่าในเดือนพฤษภาคม 2568 ดัชนีราคาผู้ผลิตอาจทรงตัวหรือลดลงเล็กน้อย โดยได้รับแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก เช่น สินค้าราคาถูกจากต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการระบายสินค้าคงคลังส่วนเกินของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ และการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดผู้ส่งออกสินค้าเกษตร นอกจากนี้ ราคาพลังงานที่ลดลงและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นยังเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าส่งออก

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่อาจสนับสนุนการปรับตัวของราคาผู้ผลิต ได้แก่ มาตรการช่วยเหลือราคาผลผลิตทางการเกษตรของภาครัฐ แม้ว่าจะมีความไม่แน่นอนจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการค้าของไทยและประเทศคู่ค้าสำคัญ

นายพูนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่ดัชนีราคาผู้ผลิตในเดือนเมษายน 2568 ปรับลดลงในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ เป็นผลจากปัจจัยภายนอกที่สำคัญ ได้แก่ การแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาดโลกและคำสั่งซื้อจากตลาดปลายทางที่ลดลง ดังนั้นควรมีมาตรการ หรือแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาห่วงโซ่การผลิตภายในประเทศ เพื่อรับมือกับความผันผวนในตลาดโลกต่อไป

Back to top button