“พิชัย” เปิด 5 แกนหลักเจรจา “สหรัฐ” หวังลดภาษี-ปูทางหุ้นส่วนเศรษฐกิจ

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง ชี้จังหวะเหมาะสมเจรจาไทย-สหรัฐฯ มาถึง ยื่นข้อเสนอ 5 แกนหลัก หนุนเศรษฐกิจดิจิทัล พลังงาน และยานยนต์


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (14 พ.ค. 2568) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาการค้ากับสหรัฐอเมริกา แถลงความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ โดยเปิดเผยว่า ฝ่ายไทยได้ยื่นข้อเสนออย่างเป็นทางการถึงคณะผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ผ่านนายเจมีสัน เกรียร์ (Jamieson Greer) เมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยหนังสือข้อเสนอส่งผ่านนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

ข้อเสนอดังกล่าวผ่านการพิจารณาร่วมกันโดยคณะทำงานนโยบายการค้าของไทย และได้รับความเห็นชอบจากนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีรายละเอียดสำคัญ 5 ข้อ ดังนี้

1. ส่งเสริมความร่วมมือเชิงลึกสู่ “หุ้นส่วนเศรษฐกิจ” ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ โดยเน้นอุตสาหกรรมการแปรรูปและเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ดาต้าเซนเตอร์ (Data Center) และอุตสาหกรรม AI พร้อมพิจารณาการลดอุปสรรคทางการค้าทั้งภาษีศุลกากร (Tariffs) และอุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariffs)

2. เพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เช่น พลังงาน สินค้าเกษตร เครื่องบิน และส่วนประกอบอุปกรณ์บริการ โดยล่าสุด ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมผู้บริหารจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO ได้เดินทางไปหารือความร่วมมือด้านพลังงาน ที่รัฐอะแลสกา สหรัฐฯ

3. เปิดตลาดสินค้าเกษตรไทย อาทิ ผลไม้ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อขยายช่องทางส่งออกและเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานโลก

4. บังคับใช้กฎหมายถิ่นกำเนิดสินค้าอย่างเข้มงวด ป้องกันการแอบอ้างที่มาของสินค้า ซึ่งเป็นประเด็นที่ทางเจ้าหน้าที่ศุลกากรของสหรัฐฯ แสดงความพึงพอใจในระดับหนึ่ง

5. ส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนไทยในสหรัฐฯ มากขึ้น โดย ดร.นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย และ ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานหอการค้าไทย พร้อมคณะเอกชนชั้นนำ ได้เข้าร่วมงาน SelectUSA Investment Summit 2025 เพื่อสำรวจลู่ทางลงทุนในภาคส่วนที่ไทยมีศักยภาพ

นายพิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อเสนอของไทยได้รับท่าทีเชิงบวกจากนายสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ซึ่งได้กล่าวถึงประเทศไทยในเวที Saudi-U.S. Investment Forum เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยข้อเสนอของไทยอยู่ในระดับเดียวกับอินโดนีเซียและไต้หวัน สะท้อนสัญญาณบวกจากฝ่ายนโยบายของสหรัฐฯ

“เราคาดว่าจะมีการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ (Working Level) พิจารณารายละเอียดต่อไป ซึ่งอาจใช้เวลาสักระยะก่อนเข้าสู่การหารืออย่างเป็นทางการ” นายพิชัยกล่าว

พร้อมกันนี้ นายพิชัยได้ประเมินสถานการณ์ภาษีของสหรัฐฯ ว่า “วันนี้ทุกคนคงคาดเดาและมองเห็นตัวเลขว่าสหรัฐฯ คงต้องการรายได้ทางภาษีมากขึ้น มองเห็นตัวเลข 10% อยู่ไหว ๆ ว่าน่าจะใช้ขั้นต่ำเท่านี้ สินค้าบางประเภทก็คงมีอัตราที่เปลี่ยนไป ในส่วนของไทย สินค้าที่จะเกี่ยวข้องจริง ๆ คือยานยนต์ และซัพพลายเชน ตัวนี้คงมาดูว่า คงได้ใกล้เคียงกับประเทศอื่น ส่วนอื่น ๆ ผมก็ไม่เห็นว่าเราจะแตกต่างจากคนอื่นเมื่อจบแล้ว”

ในช่วงท้าย รองนายกฯ และ รมว.คลัง ยังกล่าวถึงประเด็น “จังหวะเวลา” ของการเจรจาว่า “เวลาที่เขายังไม่คุย เราก็จะรู้สึกว่าทำไมเขายังไม่คุยสักที แต่ถ้ามองไปแล้ว ขอให้คุยให้ทัน และให้รู้ว่าคุยกับคนอื่นอะไรบ้างจะดี การคุยในจังหวะเวลาที่เหมาะสม น่าจะดีที่สุด ถ้าผมว่าช้าไปไหม ไม่ช้าหรอกครับ และก็คงจะจบไล่ ๆ กัน ผมมองทางโน่น เขาก็คงอยากจะเห็นว่าทุกอย่างจบในเวลาไล่เลี่ยกัน”

Back to top button