
“พิชัย” เตรียมชงดีลใหม่ “สหรัฐ” พุ่งเป้าลดดุลการค้า 70% แลกปลดล็อกภาษีนำเข้า
ไทยเร่งยื่นข้อเสนอใหม่ก่อน 9 ก.ค. หวังลดภาษีนำเข้าสหรัฐจาก 36% เหลือไม่เกิน 20% พร้อมซื้อ LNG และ Boeing หนุนสมดุลการค้าใน 8 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาภาษีการค้ากับสหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบลูมเบิร์กเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2568 ว่า ไทยเตรียมยื่นข้อเสนอการค้าใหม่ ต่อสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรตอบโต้ ที่อัตรา 36%
นายพิชัย กล่าวว่า ไทยกำลังพยายามครั้งสุดท้ายเพื่อหลีกเลี่ยงการจัดเก็บภาษีส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ ที่ 36% ตามที่รัฐบาลวอชิงตันประกาศไว้ในวันที่ 2 เมษายน 2568 โดยข้อเสนอสำคัญให้ขยายการเข้าถึงตลาดสำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ รวมถึงเพิ่มการซื้อพลังงานและเครื่องบินโบอิ้ง
ข้อเสนอล่าสุดของรัฐบาลไทยมีเป้าหมายลดดุลการค้า 46,000 ล้านดอลลาร์กับสหรัฐฯ ลง 70% ภายใน 5 ปี และเข้าสู่สมดุลภายใน 7-8 ปี เร็วกว่าข้อเสนอเดิมที่ใช้เวลา 10 ปี
นายพิชัย คาดว่าจะยื่นข้อเสนอแก้ไขใหม่ก่อนวันที่ 9 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการระงับการขึ้นภาษีนำเข้า 90 วัน ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศไว้ หากได้รับการยอมรับ ไทยจะสามารถยกเว้นภาษีนำเข้า หรืออุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าส่วนใหญ่ได้ทันที และจะค่อย ๆ ยกเลิกข้อจำกัดสำหรับสินค้ากลุ่มเล็กลง
การแก้ไขดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่นายพิชัย ได้ประชุมร่วมกับนายจามีสัน กรีเออร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) และนายไมเคิล ฟอลเคนเดอร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 ซึ่งเป็นการเจรจาระดับรัฐมนตรีเกี่ยวกับภาษีศุลกากรระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เป็นครั้งแรก
นายพิชัย กล่าวอีกว่า เนื่องจากสินค้าของสหรัฐฯ จำนวนมากที่สามารถเข้าถึงตลาดของไทยได้มากขึ้นนั้น มีปริมาณน้อยในประเทศ จึงไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรหรือผู้ผลิตในประเทศ
“สิ่งที่เรานำเสนอให้พวกเขาเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน” นายพิชัยกล่าว พร้อมระบุว่า สหรัฐฯ จะสามารถค้าขายกับไทยได้มากขึ้น และไทยมีโอกาสที่จะปรับปรุงกระบวนการและลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น
ไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่เร่งทำข้อตกลงกับสหรัฐฯ และหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรที่สูง หากไม่สามารถลดภาษีศุลกากรกับตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทยได้ อาจส่งผลให้ปริมาณการขนส่งสินค้าลดลงอย่างรวดเร็ว และเศรษฐกิจของไทยที่คาดการณ์ไว้อาจลดลงถึง 1%
เวียดนามซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านบรรลุข้อตกลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยทรัมป์ประกาศเก็บภาษี 20% สำหรับสินค้าส่งออก และ 40% สำหรับสินค้าที่อาจเป็นการขนส่งผ่านประเทศที่สาม
นายพิชัย กล่าวว่า ไทยพยายามตั้งอัตราภาษีที่ดีที่สุดไว้ที่ 10% และแม้จะอยู่ที่ 10-20% ก็ยังถือว่ายอมรับได้ “สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นคือ เราจะได้รับข้อตกลงที่แย่ที่สุดจากประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค” รองนายกฯ และ รมว.คลัง ระบุ
นายพิชัย กล่าวด้วยว่า ไทยได้ปรับแผนการซื้อพลังงานจากสหรัฐอย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติเหลวและเครื่องบินโบอิ้ง ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดความไม่สมดุลทางการค้าสหรัฐฯ ได้อย่างมาก
ทั้งนี้บริษัทปิโตรเคมีของไทย รวมทั้ง บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC และบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ได้ประกาศว่า จะนำเข้าเอเทน (ethane) จากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น โดย PTTGC ระบุว่า สามารถซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากโครงการก๊าซธรรมชาติในรัฐอะแลสกาได้ปีละ 2 ล้านตัน เป็นระยะเวลา 20 ปี ขณะที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI สายการบินประจำชาติ ระบุว่า สามารถซื้อเครื่องบินโบอิ้งได้มากถึง 80 ลำในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
สำนักข่าวบลูมเบิร์กวิเคราะห์ว่า การขอลดอัตราภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ถือเป็นกุญแจสำคัญในการปกป้องเศรษฐกิจของไทยที่พึ่งพาการค้าไม่ให้ตกต่ำลงอีก ท่ามกลางแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือน ซึ่งสูงเป็นอันดับหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และการบริโภคภายในประเทศที่ซบเซา ข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ยังช่วยบรรเทาความกังวลของนักลงทุนที่เกิดจากความวุ่นวายทางการเมืองหลังจากศาลสั่งพักงานนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าประพฤติมิชอบทางจริยธรรมในการจัดการข้อพิพาทชายแดนกับกัมพูชา
ทั้งนี้การส่งออกของไทยขยายตัวประมาณ 15% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี ซึ่งส่วนใหญ่มาจากคำสั่งซื้อล่วงหน้าระหว่างช่วงหยุดชะงัก 90 วันจากข้อเสนอภาษีนำเข้าสูง