
BOI ออกมาตรการชุดใหญ่ หนุน SMEs–เร่ง Local Content รับมือภาษีสหรัฐ
บอร์ดบีโอไอออก 5 มาตรการรับมือ “ภาษีทรัมป์” เสริมแกร่งธุรกิจไทย พร้อมเพิ่ม Local Content ป้องกันความเสี่ยงอุตสาหกรรมหลัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (16 ก.ค.68) นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ (BOI) เปิดเผยว่าตั้งแต่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเริ่มประกาศนโยบายเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) นักลงทุนเกิดความกังวล ประกอบกับในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา สถานการณ์การแข่งขันทางธุรกิจในประเทศมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ทางบีโอไอได้หารือกับกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อเข้าใจปัญหาและหาแนวทางบรรเทาผลกระทบ
นายนฤตม์ กล่าวว่า คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบอร์ดบีโอไอ ซึ่งมีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้ออกมาตรการชุดใหญ่คือ มาตรการส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทย เพื่อรองรับโลกยุคใหม่ เพื่อตอบโจทย์ 2 เรื่องสำคัญ คือ
- สนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเสริมสร้าง Supply Chain ในประเทศให้แข็งแกร่ง พร้อมรองรับสถานการณ์เปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
- ลดความเสี่ยงจากมาตรการการค้าของสหรัฐฯ และจัดระเบียบการลงทุนในบางสาขา เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ และรักษาสมดุลการแข่งขันทางธุรกิจให้เหมาะสม
โดยมี 5 มาตรการย่อย ดังนี้
- เพิ่มสิทธิประโยชน์แก่ SMEs ไทย ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นพิเศษ จากเดิมยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในวงเงิน 50% ของเงินลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ปรับเพิ่มขึ้นเป็นยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี ในวงเงิน 100 % ของเงินลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ เช่น เปลี่ยนเครื่องจักรให้ทันสมัย ใช้ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยยกระดับกิจการประหยัดพลังงาน
- ส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนในประเทศไทย (Local Content) สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทจะต้องได้รับการรับรอง Made in Thailand (Mit) จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อาทิ การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ไม่น้อยกว่า 40% ของมูลค่าวัตถุดิบทั้งหมด, รถยนต์ไฟฟ้าแบบ PHEV ที่ 45% ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า 15% และเครื่องใช้ไฟฟ้า 40% โดยจะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติมอีก 2 ปี จากเกณฑ์ปกติ โดยทำควบคู่กับกิจกรรมจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่กับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย
- เพิ่มความเข้มข้นพิจารณากระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญ สำหรับบางกิจการที่มีความเสี่ยงต่อการสวมสิทธิ และอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการการค้าของสหรัฐฯ เช่น ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์โลหะ สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ กระเป๋า เป็นต้น
- จัดระเบียบการลงทุนในบางสาขาเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ และรักษาสมดุลในการแข่งขันทางธุรกิจให้เหมาะสม
– กิจการใช้เทคโนโลยีไม่สูงและเสี่ยงต่อมาตรการการค้าของสหรัฐฯ โดยยกเลิกการส่งเสริมผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ อุปกรณ์เสริมและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ รวมทั้งกำหนดหุ้นไทยข้างมากในกิจการผลิตเฟอร์นิเจอร์ กระเป๋าและสิ่งพิมพ์
– กิจการที่มีปริมาณผลิตเกินความต้องการ (Oversupply) และกระทบกับผู้ผลิตในประเทศ โดยยกเลิกการส่งเสิรมผลิตเหล็กขั้นปลาย เช่น เหล็กทรงยาวทุกชนิด เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นหนา ท่อเหล็ก และกิจการตัดโลหะ
– กิจการที่มีความเสี่ยงด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือชุมชน เช่น การผลิตผลิตภัณฑ์โลหะเคมีภัณฑ์ พลาสติก การรีด ดึง หล่อหรือทุบโลหะ โดยงดให้สิทธิถือครองที่ดินเพื่อประกอบกิจการ เพื่อให้กิจการเหล่านี้ต้องไปตั้งในนิคมอุตสาหกรรมและได้รับการดูแลที่รัดกุมมากขึ้น
- ปรับปรุงเงื่อนไขจ้างบุคลากรต่างชาติ โดยกำหนดว่า หากเป็นกิจการผลิตที่มีการจ้างงานทั้งบริษัทตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป จะต้องจ้างคนไทยไม่น้อยกว่า 70% พร้อมกำหนดรายได้ขั้นต่ำของบุคลากรต่างชาติที่จะใช้ขอสิทธิด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงานกับบีโอไอ เช่น ระดับผู้บริหารต้องมีรายได้ไม่น้อยกว่า 150,000 บาทต่อเดือน, ระดับผู้เชี่ยวชาญ ไม่น้อยกว่า 50,000 บาทต่อเดือน
เลขาธิการบีโอไอ กล่าวเพิ่มเติมว่า เตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ อีกทั้งทำให้ประเทศไทยยังคงสามารถแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ด้านดึงดูดการลงทุน โดยจะเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น กลุ่มอาหาร ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร อัญมณีและเครื่องประดับ