พาราสาวะถีอรชุน

พลิกไปพลิกมาท้ายที่สุดปรากฏว่า “บิ๊กหมู” พลเอกธีรชัย นาควานิช เข้าวินในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก แล้วปล่อยให้ “บิ๊กติ๊ก” พลเอกปรีชา จันทร์โอชา น้องชายของบิ๊กตู่ไปหลบเลียแผลใจในตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม งานนี้เป็นบทพิสูจน์เลือดไม่ได้ข้นกว่าน้ำ อำนาจและการบริหารอำนาจเป็นเรื่องสำคัญกว่า


พลิกไปพลิกมาท้ายที่สุดปรากฏว่า “บิ๊กหมู” พลเอกธีรชัย นาควานิช เข้าวินในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก แล้วปล่อยให้ “บิ๊กติ๊ก” พลเอกปรีชา จันทร์โอชา น้องชายของบิ๊กตู่ไปหลบเลียแผลใจในตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม งานนี้เป็นบทพิสูจน์เลือดไม่ได้ข้นกว่าน้ำ อำนาจและการบริหารอำนาจเป็นเรื่องสำคัญกว่า

ส่วนคนที่สุขใจเป็นที่สุดหนีไม่พ้น “บิ๊กป้อม” พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ผลักดันเก้าอี้สำคัญได้ทั้งสองตำแหน่งทั้งผบ.ทบ.และผบ.ตร. ว่ากันว่า การตัดสินใจเลือกแม่ทัพบกรอบนี้ต้องวัดใจกันจนวินาทีสุดท้าย เมื่อคำนวณว่าได้ไม่คุ้มเสีย บิ๊กตู่จำเป็นต้องยอมใส่เกียร์ถอย เป็นเหตุให้เก้าอี้ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 39 จึงยังอยู่ในไลน์ของกลุ่มบูรพาพยัคฆ์ต่อไป

ขณะที่ปีหน้าจะไม่มีปัญหาเรื่องสายเลือด แต่ยังมีแคนดิเดตอยู่แค่ 2 คนนั่นก็คือ “บิ๊กเจี๊ยบ” พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้ช่วยผบ.ทบ.ที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งมาจากผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ กับ  “บิ๊กแกละ” พลเอกพิสิทธิ์ สิทธิสาร เสนาธิการทหารบก ผู้มีบทบาทสำคัญในคสช.คือผู้อำนวยการศปป.ที่เรียกบรรดานักการเมือง นักวิชาการ กลุ่มการเมืองที่เห็นต่างทั้งหลายไปหารือบ่อยๆ นั่นแหละ

ถ้ายึดตามหลักอาวุโสและอายุการเกษียณราชการ บิ๊กแกละน่าจะมีโอกาสมากกว่าเพราะเกษียณในปี 2560 ส่วนบิ๊กเจี๊ยบเกษียณปี 2561 อย่างไรก็ตาม หลังการแต่งตั้งผบ.ทบ.ในปีหน้านั้น หนึ่งในสองรายที่พลาดหวังอาจจะไม่มีโอกาสได้ลุ้นอีก เพราะจะมีคนที่เบียดแทรกเข้ามาเป็นทหารสายบูรพาพยัคฆ์ที่ชื่อว่า พลโทเทพพงศ์ ทิพยจันทร์ แม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่งเดิมทีในการโยกย้ายเมื่อเดือนเมษายนคาดหมายกันว่าจะมีการผลักดันให้ดาวรุ่งพุ่งแรงรายนี้ก้าวพรวดขึ้นมาสู่ไลน์ 5 เสือทบ.ในการแต่งตั้งโยกย้ายรอบนี้

เป็นอันว่าจบกันไปแบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่นสำหรับขุนพลทหารที่จะมาช่วยค้ำยันเก้าอี้ของผู้นำประเทศและหัวหน้าคสช.เวลานี้ สอดรับกับการแต่งตั้งผบ.ทบ.คนใหม่ ก็มีข่าวตำรวจพร้อมทหารสนธิกำลังบุกเข้าจับกุมชายชาวต่างชาติที่อพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่งย่านหนองจอก โดยข่าวที่ออกมาในช่วงแรกระบุว่าเป็นชาวตุรกีและน่าจะเกี่ยวพันกับเหตุระเบิดแยกราชประสงค์พร้อมบริเวณท่าเรือสะพานสาทร

แต่ล่าสุด พลตำรวจโทประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แถลงความคืบหน้าพบว่า ผู้ต้องสงสัยคนดังว่าให้การปฏิเสธไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดทั้งสองแห่ง ขณะเดียวกันสถานทูตตุรกีประจำประเทศไทยก็ได้ออกมายืนยันจากการตรวจสอบผู้ต้องสงสัยไม่ใช่คนสัญชาติตุรกีแต่อย่างใด ทำให้จนถึงเวลานี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าชายคนดังกล่าวเป็นคนสัญชาติใด

เป็นงานใหญ่ที่ฝ่ายความมั่นคงจะต้องขยายผลและสอบสวนเพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดให้ได้ว่า เมื่อผู้ต้องสงสัยยืนยันไม่เกี่ยวกับเหตุระเบิดรุนแรงที่ราชประสงค์ แล้ววัตถุระเบิดต่างๆ ที่พบในห้องพักผู้ต้องสงสัย มีไว้เพื่ออะไร คงไม่ใช่สิ่งของสะสมอย่างแน่นอน เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องรีบด่วนสรุปต้องค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้ทุกอย่างโปร่งใส ชี้แจงได้ทุกฝ่าย

ความเปราะบางที่ว่าด้วยการนำเสนอข่าวนั้น ยังมีสื่อทีวีบางสำนักที่พยายามจะชี้นำหรือโน้มเอียงไปในทำนองให้เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ระเบิดต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในกรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วงสถานการณ์ความขัดแย้ง ถือเป็นความชั่วร้ายและไร้สำนึกของผู้บริหารสถานีแห่งนั้น ซึ่ง พลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ที่ออกอาการฉุนนักข่าวที่ถูกถามเรื่องจับแพะ ต้องรอบคอบและทำทุกอย่างให้เคลียร์

เพราะหากมองย้อนไปยังปูมหลังสายสัมพันธ์ที่มีกับผู้บริหารสื่ออคติดังว่าแล้ว เกรงว่าผบ.ตร.จะถูกชักจูงให้หลงทิศผิดทางไปด้วย สรุปว่าเวลานี้นอกจากดีใจที่จับกุมผู้ต้องสงสัยพร้อมวัตถุระเบิดที่คาดว่าจะเชื่อมโยงกับเหตุแยกราชประสงค์แล้ว ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม เอาแค่บอกให้ได้ก่อนว่าชายคนนี้สัญชาติใดและมีวัตถุระเบิดไว้เพื่อเป้าหมายอะไรก็ปวดขมับกันแล้ว

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดอกเตอร์ปื๊ด นอกจากประธานกรรมาธิการยกร่างอย่าง บวรศักดิ์ อุวรรณโณ จะเที่ยวขออโหสิกรรมให้สมาชิกสปช.คนนั้นคนนี้แล้ว กรรมาธิการยกร่างฯคนอื่นๆ ก็เที่ยวแก้ต่างแก้ตัวว่าด้วยปมคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติหรือคปป. ที่หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่านั่นเป็นการรัฐประหารโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ล่าสุด โคทม อารียา จากสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาแห่งชาติ ก็ฟันธงตีแสกหน้าบวรศักดิ์กับพวก ระบุการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการยกร่างฯเปรียบเสมือนองค์อธิปัตย์ใหม่ ที่สร้างแนวคิดประหลาดสร้างองค์กรต่างๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งพอถูกวิจารณ์มากๆ ก็ยินยอมถอดออก แต่ก็กังวลว่าอาจจะไปปรากฏในกฎหมายลูกหรือไม่

โดยที่การกำหนดการปฏิรูปประเทศขณะนี้ ถูกกำหนดและครอบงำโดยอำนาจนำ ไม่ใช่อำนาจปกติในสังคมประชาธิปไตย โดยเฉพาะปล่อยให้มีคปป.ที่มีอำนาจใหญ่กว่าคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ถือเป็นการถอยหลัง และขอชวนให้จับตาว่าอำนาจดังกล่าวจะตกอยู่กับผู้มีอำนาจในปัจจุบันหรือไม่ ซึ่งความจริงแทบไม่ต้องจับตาเพราะน่าจะเป็นไปในรูปนั้นอยู่แล้ว

สอดรับกับความเห็นของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐที่มองว่า การบัญญัติให้มีคปป.ถือเป็นการยัดไส้ในช่วงสุดท้ายของการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเจตนาที่ให้มีการสืบทอดอำนาจและใส่การรัฐประหารไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะจะทำให้สถาบันกองทัพ รัฐราชการ และชนชั้นนำ อยู่เหนืออำนาจเลือกตั้งของประชาชนอย่างโจ่งแจ้ง กรรมการชุดที่จะตั้งขึ้นจะมีอำนาจมหาศาล โดยไม่มีรากฐานจากประชาชน

สอดคล้องกับที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯให้ส.ว.จำนวน 200  คน มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน 123 คน ที่เหลืออีก 77 คนมาจากการเลือกตั้ง รวมทั้งยังให้องค์กรอิสระชุดเดิมทำหน้าที่ต่อไป ซึ่งเป็นการชี้ว่าการเลือกตั้งหากจะมีขึ้นในปีหน้าจะไม่มีความหมายใดๆ เลย เหตุผลสำคัญคือชนชั้นนำยังวิตกว่าถ้ามีการเลือกตั้งครั้งใหม่จะเปลี่ยนใจประชาชนได้ยาก

ประชาชนยังจะเลือกพรรคการเมืองฝ่ายทักษิณเข้ามาด้วยเสียงจำนวนมากเช่นเดิม จึงเป็นโจทย์ใหญ่ตั้งแต่ต้นว่าคณะกรรมาธิการยกร่างฯจะนำเสนออย่างไรเพื่อไม่ให้ฝ่ายทักษิณชนะ หรือถ้าชนะก็ต้องเป็นรัฐบาลและรัฐสภาที่มีอำนาจน้อยมากจนไม่สามารถดำเนินนโยบายใดตามใจตนเองได้ ท้ายที่สุด จึงได้เห็นหน้าตากฎหมายสูงสุดของประเทศที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไทยในรูปแบบเผด็จการอย่างที่เห็น

Back to top button