“จิตตะ เวลธ์” แนะลงทุนระยะยาวเอาชนะ “เงินเฟ้อ”

“จิตตะ เวลธ์” มองเงินเฟ้อโลกยังไปไม่ถึงจุดสูงสุด แนะยึดหลักเลือกหุ้นดีราคาถูก เดินหน้าลงทุนระยะยาว ทั้งหุ้นพื้นฐานดีและ ETF ในสหรัฐฯ ที่ราคาลงแรง แนะเลือกลงทุนหุ้น Defensive และมองโอกาสในตลาดหุ้นเอเชียจีน-เวียดนาม


นายตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด (บลจ.) เปิดเผยว่า ปัญหาเงินเฟ้อยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ และทั่วโลก โดยในขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณว่าเงินเฟ้อจะผ่านจุดสูงสุดทั่วโลก อย่างเช่นเงินเฟ้อฝั่งสหรัฐฯ ที่เพิ่งประกาศออกมาที่ 8.6% จากปีก่อน ก็ยังอยู่ในช่วงขาขึ้นจากเดือนก่อนๆ และปัจจัยที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อในรอบนี้ยังไม่ถูกแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันดิบ ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ราคาธัญพืช อาหารสัตว์ ปุ๋ยเคมี สินค้าอุตสาหกรรม ฯลฯ จากทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังโควิด-19 ที่ทำให้อุปสงค์ของหลายสินค้าสูงขึ้น รวมถึงการล็อกดาวน์ในจีนที่ยังไม่คลี่คลายเต็มที่

ล่าสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ตามที่ตลาดคาดการณ์ ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สูงที่สุดในรอบ 28 ปี โดยประธานเฟดส่งสัญญาณชัดเจนในการต่อสู้วิกฤตเงินเฟ้ออย่างเต็มที่ ซึ่งเชื่อว่าเฟดจะสามารถประคองให้เศรษฐกิจจะชะลอตัวในลักษณะ Soft Landing ได้สำเร็จในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้ เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลายตัวที่ประกาศออกมาแสดงให้เห็นว่าการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่ผ่านมายังไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถึงขั้นหดตัว และ เฟดมีการสื่อสารตลอดว่าได้ติดตามดูตัวเลขทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดเวลาจะปรับขึ้นดอกเบี้ย

ส่วนของประเทศไทยนั้น ตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ระดับ 7.1% ถือเป็นระดับที่สูงเกินกว่าที่คาดไว้ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คาดว่า เงินเฟ้อจะแตะจุดสูงสุดช่วงไตรมาสที่ 3 แต่จะไม่น่าจะไปถึง 2 หลัก จากนั้นจะทยอยปรับลดลงตามราคาน้ำมัน

ด้าน นายตราวุทธิ์ มองว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลกเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้คือ การลงทุนต่อเนื่อง โดยนักลงทุนสามารถยึดหลักการลงทุนแบบเน้นคุณค่าตามแนวทางของนักลงทุนระดับโลกอย่าง “วอร์เรน บัฟเฟตต์” ด้วยการคัดเลือกสินทรัพย์ที่ดีมีคุณภาพ ในราคาที่เหมาะสม เพื่อลงทุนระยะยาว โดยไม่ต้องสนใจว่าภาวะตลาดจะขึ้นหรือลง ซึ่งหลักการนี้จะช่วยให้นักลงทุนสามารถฝ่าความผันผวนไปได้

“หากนักลงทุนต้องการลงทุนระยะยาว การลงทุนเพิ่มเพื่อเฉลี่ยราคาสินทรัพย์ก็เป็นอีกทางเลือก เพื่อขจัดความผันผวนระยะสั้นออกไป อดทนและรอให้ตลาดหุ้นกลับมาเป็นขาขึ้น ซึ่งสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคตได้แน่นอน” นายตราวุทธิ์ กล่าว

สำหรับ “หุ้นดีราคาถูก” ในจังหวะนี้มีให้เลือกมากมาย หากนักลงทุนพยายามมองหาเช่นการที่อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ กดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทั้งราคาหุ้นและดัชนีต่างปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง แต่นั่นกลับเป็นข้อดี เพราะหุ้นพื้นฐานดีและ ETF ที่มีโอกาสเติบโตจะมีราคาถูกลงมาก

ขณะเดียวกันในภาวะเงินเฟ้อเช่นนี้นักลงทุนสามารถเลือกจัดพอร์ตลงทุน กระจายความเสี่ยงให้พอร์ต ด้วยการลงทุนในหุ้น Defensive หรือหุ้นเชิงรับที่มีความผันผวนต่ำ ทนทานต่อสภาวะเงินเฟ้อ เพราะอยู่บนพื้นฐานของปัจจัย 4 เช่นเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ก็เป็นที่ต้องการเสมอ อย่างหุ้นสุขภาพหรือเฮลท์แคร์

นอกจากนี้หากนักลงทุนจะหันกลับมามองตลาดหุ้นเอเชียบ้างก็จะพบว่ามีหลายประเทศที่ค่อนข้างน่าสนใจกว่าฝั่งตะวันตก เช่นตลาดจีนและตลาดเวียดนาม โดยหลังจากเริ่มนโยบายเปิดเมือง หนุนให้ตลาดหุ้นจีนมีสถานะซื้อสุทธิติดต่อกันเป็นเวลา 10 วัน  ทำผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาดตะวันตกในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ +6.63% ดัชนี Hang Seng +5.88% (ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2565) ตัวเลขเศรษฐกิจจีนเดือนพฤษภาคมปรับตัวดีขึ้น

ส่วนตลาดหุ้นเวียดนามนั้นสามารถสร้างผลตอบแทนในรอบ 1 เดือนอยู่ที่ 4.02% (ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2565) ธนาคารโลกระบุว่าเศรษฐกิจเวียดนามฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ตลาดหุ้นเวียดนามเริ่มฟื้นตัว หลังจากเผชิญกับแรงกดดันข่าวการปั่นหุ้นของรายใหญ่ในตลาด

“เงินเฟ้อไม่ใช่เรื่องใหม่ ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป เป็นวัฏจักรที่คุณต้องเจออยู่เรื่อยๆ หากลงทุนในระยะยาว หุ้นเติบโตราคาถูกที่คุณสะสมในช่วงเวลานี้จะสร้างผลตอบแทนได้ดีในอนาคต หากคุณยังยึดมั่นกับหลักการลงทุนที่ถูกต้อง ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น” นายตราวุทธิ์ กล่าว

Back to top button