GUNKUL รับข่าวลบมากพอ Downside จำกัดได้โอกาสดีเข้าลงทุน จังหวะราคาหุ้นอ่อนตัว

ผู้บริหารชี้แจงความเห็นของที่ปรึกษาอยู่ภายใต้หลักความระมัดระวังเกินไป หากเทียบกับโครงการอื่นๆของ GUNKUL ราคาหุ้นปรับฐานบนความกังวลด้านลบมากเกินไปเป็นโอกาสที่ดีในการสะสมเพื่อลงทุนระยะยาวอีกครั้ง


บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ (8 ส.ค.) ว่า วานนี้ได้เกิดประเด็นที่ทางกลต.ได้แจ้งเตือนต่อนักลงทุนเพื่อทราบผลการศึกษาของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ (IFA) ที่ให้ความเห็นต่อผู้ถือหุ้นของบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ว่าไม่ควรออกเสียงเพื่อลงมติอนุมัติลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รางเงิน ที่ได้รับใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 11 โครงการกำลังการผลิตรวม 87 เมกะวัตต์ (ซึ่งฝ่ายวิจัยได้รวมไว้แล้วในประมาณการปัจจุบัน)

เนื่องจากการประเมินของที่ปรึกษาฯภายใต้หลักความระมัดระวังด้วยการพิจารณาปริมาณค่าพลังงานไฟฟ้าสุทธิที่ผลิตได้ต่อปีที่ความเชื่อมั่น 90 (P90) ประกอบกับการคำนวณตามทฤษฎี CAPM พบว่าอัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นที่ได้รับจากการดำเนินโครงการรางเงินเท่ากับ 11.63% ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังของผู้ถือหุ้นทางทฤษฎีที่เท่ากับ 13.35%

 

จากการสอบถามไปยังผู้บริหารบริษัทฯถึงประเด็นดังกล่าวพบว่า ทางคณะกรรมการตรวจสอบและคณะกรรมการบริษัทฯยังคงมีมติเห็นชอบอนุมัติให้ GUNKUL เข้าซื้อหุ้นในบริษัทอินฟินิท อัลเทอร์เนทีฟ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด สัดส่วน 67% ซึ่งถือหุ้นอยู่ในบริษัทรางเงิน โซลูชั่น จำกัด เนื่องจากหลักๆ เห็นว่าการประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ GUNKUL ในช่วงที่ผ่านมา จำนวน 13 โครงการ บริษัทสามารถบริหารจัดการให้ได้รับค่าพลังงานเป็นหน่วยไฟฟ้าที่จำหน่ายได้ที่ระดับความเชื่อมั่น 50 (P50) ทุกโครงการ

ดังนั้นหากพิจารณาปริมาณค่าพลังงานไฟฟ้าสุทธิที่ผลิตได้ ณ ระดับ P50 พบว่าอัตราผลตอบแทนของผู้ถือหุ้นที่ได้รับจากการดำเนินโครงการรางเงินเท่ากับ 14.19% ซึ่งมากกว่าอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังของผู้ถือหุ้นทางทฤษฎีที่ 13.35% อย่างไรก็ตามฝ่ายวิจัยแนะนำให้นักลงทุนใช้ข้อมูลมาพิจารณาเปรียบเทียบเป็นกรณีศึกษาเพื่อเป็นมุมมองในแง่ Downside ของโครงการที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกโครงการ

 

ฝ่ายวิจัยประเมินมูลค่าพื้นฐานสิ้นปี 2558 เท่ากับ 31.54 บาทต่อหุ้น คงคำแนะนำซื้อ โดยเชื่อว่าราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมากว่า 15% สะท้อนปัจจัยลบต่างๆที่เกิดขึ้นในระดับหนึ่งจนมี Downside ที่จำกัดแล้ว อีกทั้งหากพิจารณาแนวโน้มกำไรในระยะยาวยังคงเห็นการเติบโตโดดเด่น และต่อเนื่อง ซึ่งสามารถหักล้าง Dilution Effect ที่เกิดขึ้นจากการเพิ่มทุนได้

Back to top button