มายาคติของตลาดพลวัต 2017

นักวิเคราะห์ตลาดค้าเงินตรา กับนักวิเคราะห์หุ้นในไทย มีคำอธิบายที่ต่างกันคนละขั้วอีกครั้ง


นักวิเคราะห์ตลาดค้าเงินตรา กับนักวิเคราะห์หุ้นในไทย มีคำอธิบายที่ต่างกันคนละขั้วอีกครั้ง

กลุ่มแรกมองว่าค่าเงินบาทวานนี้ ที่เคลื่อนไหวแข็งค่า เป็นเรื่องชั่วคราวของการเก็งกำไรตามปกติ แต่วันนี้เป็นต้นไป จะอ่อนค่าลงจากแนวทางบริหารเศรษฐกิจของว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่สหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ และการคาดเดาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐซึ่งคาดว่าจะออกมาดี ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทโดยตรง

กลุ่มหลังมองอีกอย่างว่า การแสฟันด์โฟลว์ของเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้าหนุนหุ้นในกลุ่มแบงก์, สื่อสาร, พลังงาน อย่างต่อเนื่อง จะทำให้ตลาดฯยังมีลุ้นขึ้นไปได้ต่อ แม้อาจมีแรงขาย LTF-RMF ถ่วงตลาด จากปัจจัยบวก ในเรื่องของการลงทุนภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง ราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นจะช่วยให้การบริโภคในประเทศปรับตัวขึ้นด้วย โดยเชื่อว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ปีนี้จะดีกว่าปีก่อน

มุมมองที่ต่างกันดังกล่าว เป็นมุมมองจากภายในเป็นสำคัญ ต่างจากมุมมองระดับโลกที่กองทุนข้ามชาติทั้งหลาย  ต่างพากันประเมินใกล้เคียงกันว่า เอกสารการประชุมเฟดเดือนธันวาคมที่ระมัดระวังการแสดงท่าทีของกรรมการสายเหยี่ยวที่ระบุว่า หากจะขึ้นดอกเบี้ยคราวต่อไป (ที่ยังไม่กำหนดเวลา) จะขึ้นอีกไม่เกิน 0.125% เท่านั้น เพราะเกรงกระทบกับการจ้างงาน จะส่งผลให้ขาขึ้นของดัชนีดาวโจนส์จำกัดลงไป ไม่สามารถทะลวงแนวต้านสำคัญ 20,000 จุดได้ 

ทางด้านนักวิเคราะห์หลายสำนักของบรรดาวาณิชธนกิจข้ามชาติ ก็เริ่มอาการตาสว่าง ออกมาพูดย้ำว่าตลาดควรจับตาดู สมาชิกพรรครีพับลิกันในรัฐสภาจะเล่นเกมเดียวกับทีมงานของทรัมป์ในทำเนียบขาวหรือไม่ และราบรื่นแค่ไหน

ท่าทีระวังระไวของเฟด และการทบทวนมายาคติของนักวิเคราะห์ในวอลล์สตรีท ส่งสัญญาณเบื้องต้นถึงขีดจำกัดของขาขึ้นตลาดหุ้น แล้วส่งผลทำให้มีคนเริ่มพูดกันมากขึ้นว่า ปีนี้อาจจะไม่ใช่ปีทองตลาดหุ้น แต่เป็นปีทองของตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากเป็นช่วงเวลา ตลาดเริ่มต้นยุคเงินเฟ้อ-ดอกเบี้ยขาขึ้น หากถือตามทฤษฎีว่าด้วย “นาฬิกาแห่งการลงทุน” หรือ Investment Clock 

ภายใต้ทฤษฎีนี้ ถือว่า สินทรัพย์แต่ละประเภท มีช่วงเวลาที่ดีและช่วงเวลาที่แย่แตกต่างกันไป และมันจะหมุนเวียนเป็นวงจรอย่างนั้นไปเรื่อยๆ ตามภาวะเศรษฐกิจและเงื่อนไขของตลาด ณ ตอนนั้น โดยแบ่งช่วงวงจรการลงทุนออกเป็น 4 ช่วงด้วยกัน นั่นก็คือ

  1. Reflation Stage ช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจมีปริมาณเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้น เกิดขึ้นในช่วงหลังจากเกิดวิกฤต ทุกคนดึงเงินเข้ากระเป๋า ไม่ยอมลงทุน มีกำลังการผลิตเหลือ เพราะกลัวความเสี่ยง…แต่ขณะเดียวกัน ก็จะมีผู้ประกอบการที่เห็นโอกาส จากต้นทุนการผลิตต่ำ (ราคาสินค้าตกต่ำ) ใช้โอกาสนี้ในการลงทุน ช่วงนี้ การลงทุนใน “พันธบัตร” ถือว่ามีความน่าสนใจ เพราะให้ผลตอบแทนที่สูง ในจังหวะที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำและพร้อมจะปรับตัวขึ้น
  2. Recovery Stage หรือช่วงของการฟื้นตัวอย่างเต็มรูปแบบ ช่วงนี้ บริษัทจะกล้าลงทุน คนจะเริ่มจับจ่ายใช้สอย โดยรัฐบาลจะเข้ามามีบทบาทในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนโยบายต่างๆ และการลดดอกเบี้ย หรือคงดอกเบี้ยในระดับต่ำ ซึ่งช่วงนี้ล่ะครับ ที่การลงทุนใน “หุ้น” จะให้ผลตอบแทนที่ดีมากๆ
  3. Bubble Stage หรือเริ่มส่งสัญญาณก่อตัวเป็นฟองสบู่ เกิดจากเศรษฐกิจโตเต็มที่ บริษัทไม่สามารถขยายกำลังการผลิตได้ทันความต้องการ เงินเฟ้อเริ่มขยับตัวขึ้นจากการที่ต้นทุนสินค้า และราคาสินค้าในตลาดเพิ่มขึ้น ช่วงนี้เอง เราจะเริ่มเห็นรัฐบาลส่งสัญญาณว่าจะเข้ามาควบคุมเพื่อให้เศรษฐกิจไม่ร้อนแรงมากเกินไป และการลงทุนที่สอดรับกับ Bubble Stage ก็คือ “สินค้าโภคภัณฑ์” นั่นเอง
  4. Stagflation คือระยะสุดท้าย ก่อนเริ่มต้นวงจรเศรษฐกิจครั้งใหม่ ระยะนี้ GDP จะเริ่มปรับตัวลดลง แต่เงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูง หลังค่าครองชีพแพงขึ้น และตัวบริษัทเองก็ต้องการปกป้องผลกำไรไม่ให้แย่กว่าเดิม ก็ตามมาด้วยการขึ้นราคาสินค้า ซึ่งสิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นก็คือ การฟุบตัวลงของเศรษฐกิจ และแน่นอน ถ้าเศรษฐกิจไม่มีการลงทุนที่น่าสนใจในช่วงนี้ก็คือ “การถือเงินสด

ข้อเท็จจริงดังกล่าวสอดคล้องกับสถานการณ์ของตลาดหุ้นไทยอย่างเหมาะเจาะ เพราะภาพรวมทางเศรษฐกิจของไทย ยังเริ่มต้นเข้าเขตช่วงเงินเฟ้อแค่ผงกหัว จากการต่ำติดพื้นยาวนาน ไม่ใช่การฟื้นตัวเต็มที่ ยังต้องดูแลใกล้ชิด ไม่ให้กลับไปสู่ภาวะเงินฝืดระลอกใหม่

ตัวอย่างที่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่พิจารณาขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อสกัดเงินเฟ้อตามอย่างของเฟดของสหรัฐ ก็เพราะตระหนักถึงความเปราะบางของการฟื้นตัวของดอกเบี้ยขาขึ้นระยะแรกนั่นเอง

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น สามารถอนุมานได้ว่า ตลอดปีนี้ นักลงทุนในตลาดหุ้นไทย ที่มีเหตุผล ไม่ควรคาดหวังมากมายว่า การถือหุ้นยาวๆ เพื่อกินปันผล หรือรอหุ้นขึ้นกินส่วนต่างราคามากๆ เพราะถือว่า ช่วงเวลาของการลงุทนยังอยู่ในช่วงที่ 1 ตามทฤษฎีข้างต้นที่ยกมาเท่านั้น 

กลยุทธ์ที่เหมาะในการลงทุนตลาดหุ้นปีนี้ยังต้องถือหลักเน้นส่วนต่างราคาเป็นสำคัญ ยึดถือสูตร “กำไรน้อย ดีกว่าติดหุ้น” ต่อไป 

ปีระกา ไก่ทอง ที่เริ่มต้นร้อนแรงในวันเปิดตลาดหุ้น 2 วันแรกของปี จึงเป็นแค่จิตวิทยาที่เป็นมายาคติที่ต้องรอการพิสูจน์ ไม่ควรถือเป็นพลังขับเคลื่อนยั่งยืน

Back to top button