ปัญหาเบสท์รินลูบคมตลาดทุน

กำลังติดตามดูว่า ขสมก.จะหาทางออกกับรถเมล์เอ็นจีวีแบบใด


ธนะชัย ณ นคร

 

กำลังติดตามดูว่า ขสมก.จะหาทางออกกับรถเมล์เอ็นจีวีแบบใด

ประเด็นของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่ว่า เบสท์ริน จะนำรถเมล์เอ็นจีวีออกมาจากท่าเรือที่แหลมฉบังได้หรือไม่(เบสท์รินสั่งซื้อรถเมล์เอ็นจีวีผ่าน บริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด)

เพราะนั่นไม่ใช่ปัญหา

หากเบสท์รินต้องการนำออกมา ก็เพียงแค่นำเงินไปจ่ายภาษี พร้อมกับค่าปรับให้กับทางกรมศุลกากร(ล็อตแรก) เพียงแค่นี้ก็จบแล้ว

ส่วนล็อตที่ 2 และ 3 ที่มีข่าวว่า เบสท์รินแจ้งว่า รถเมล์ นำเข้ามาจากประเทศจีน

2 ล็อตหลังนี้ ก็เพียงแต่จ่ายอัตราภาษี 40% ของมูลค่ารถเมล์ฯที่นำเข้า ก็เท่านั้น

ส่วนกรมการขนส่งทางบก ก็ตรวจสอบรถไปตามหน้าที่

ตรงนี้ก็ไม่ได้มีประเด็นอะไรที่จะต้องไปสนใจ

ประเด็นรถเมล์เอ็นจีวีที่เป็นปัญหา ก็คือ จะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้การรับมอบรถเมล์ฯ ของ “ขสมก.”นั้น ไปขัดกับร่างขอบเขตของงาน(Terms of Reference :TOR) โครงการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ(NGV) ที่ ขสมก.เป็นฝ่ายเขียนขึ้นมาเอง

หรือเรียกสั้นๆ กันว่า “ทีโออาร์”

ทีโออาร์ที่ว่านี้ ให้ผู้ชนะการประกวดราคาบอกแหล่งที่มาของรถเมล์ฯ ด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น

ในสัญญาที่ทำขึ้นระหว่าง ขสมก.กับเบสท์ริน ก็มีการระบุไว้ด้วยว่า รถเมล์ที่เบสท์รินจะนำเข้ามานั้น มาจากประเทศมาเลเซีย

ทั้งหมดเขียนไว้ในสัญญาอย่างชัดเจน

มีคำถามว่า การที่เอกชนทำผิดตามที่ระบุไว้ในร่างทีโออาร์ และในสัญญาที่ทำกับภาครัฐ จะเป็นเหตุให้ทางราชการบอกเลิกสัญญาได้หรือไม่

คำตอบคือ “ได้”

สมมุติทางการบอกว่า หรือตีความว่า กรณี “ทำผิดสัญญา” นั่นไม่ใช่สาระสำคัญ

เรื่องนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐาน(ใหม่)ทันที

หรืออาจจะกลายเป็นเรื่องของ “สองมาตรฐาน” ตามมาในภายหลัง

ย้อนกลับไปในช่วงที่รถเมล์ฯ ล็อตแรกเข้ามา และทางเบสท์รินแจ้งว่า ได้นำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย

ขณะนั้นมีข่าวลือออกมาว่า ทางกรมศุลกากรเอง ก็มีการแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง

ฝั่งแรกบอกว่า ให้มีการรับรถเข้ามาเลย ไม่ต้องเสียภาษี

แต่อีกฝั่งบอกว่า แหล่งที่มา หรือประเทศที่ผลิตรถเมล์ฯไม่ใช่มาจากมาเลเซีย และน่าจะมาจากประเทศจีน จึงไม่เข้าเงื่อนไขการยกเว้นภาษี

แน่นอนว่า หากมีการปล่อยรถเมล์ฯออกไป

งานนี้มีข้าราชการระดับสูง ถูกสั่งสอบฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทันทีตามมาตรา 157

และยังดีที่คนใหญ่คนโตในกระทรวงการคลัง ให้ยึดแนวทางที่ถูกต้องไว้

และเช่นเดียวกับ ขสมก. ตอนนี้

ทุกฝ่ายก็กำลังดูว่า จะยึดแนวทางที่ถูกต้องของกฎหมายไว้หรือไม่

หรือพยายามที่จะหาทางช่วยเบสท์รินต่อไป โดยไม่สนใจกับข้อสัญญาที่ได้ทำระหว่างกันไว้

ว่ากันว่าเบสรินทร์นั้นหลังจากมอบรถเมล์ฯให้กับ ขสมก.แล้ว จะได้รับเงินจาก ขสมก.ทั้งหมด 1,700 ล้านบาท

แต่จำนวนเงินค่าปรับ บวกกับเงินที่ต้องจ่ายภาษีจากจำนวนรถเมล์ฯ รวมถึงรายจ่ายอื่นๆ ทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 1,800 ล้านบาท

สรุปง่ายๆ เบสท์ริน อาจขาดทุนจากโครงการนี้อย่างแน่นอน

ปัญหาของรถเมล์ฯในรอบนี้ ก็ยังแอบสงสัย

เมื่อเอกชนเข้าข่ายทำผิดสัญญา แต่เพราะเหตุใดทางรัฐบาล หรือหน่วยงานราชการ พยายามหาช่องทางเข้าช่วยเหลือ

และหลายๆ ครั้ง ก็พยายามออกหน้ารับแทน

 

 

 

 

 

 

Back to top button