ก.ล.ต.โยนให้ศาลเป็นคนตัดสิน หากผู้บริหารบจ.ยังกัดกันไม่เลิก

ก.ล.ต. เล็งให้ศาลฯ มีอำนาจชี้ขาดกรณีผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนเกิดความขัดแย้ง เตรียมนำเข้าพิจารณาในที่ประชุม 30 มี.ค.นี้


นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า สำนักงาน ก.ล.ต.มีแนวคิดที่จะให้ศาลเป็นผู้มีอำนาจชี้ขาดในการแก้ไขปัญหาบริษัทจดทะเบียนที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายใน จากเดิมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะให้สำนักงานก.ล.ต.เป็นผู้ชี้ขาด ซึ่งคาดว่าจะสามารถเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ ก.ล.ต.ได้ในวันที่ 30 มี.ค.นี้

อนึ่งเมื่อวันศุกร์ที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้หารือกับ สำนักงาน ก.ล.ต.เพื่อร่างกฏหมายเพื่อเพิ่มอำนาจให้กับ ก.ล.ต. สามารถเข้าไปแก้ปัญหาความขัดแย้งผู้ถือหุ้น-กรรมการ ของบริษัทจดทะเบียนได้ เพื่อป้องกันความเสียหายของผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ เนื่องจากปัจจุบันก.ล.ต.ทำหน้าที่แค่ออกกฎระเบียบ แต่ไม่มีอำนาจแก้ไขปัญหากรรมการทะเลาะกัน

“สำนักงานก.ล.ต.อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นของแต่ละภาคส่วนว่ามีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งในเบื้องต้น แนวทางที่อาจจะเป็นไปได้ คือการให้ศาลเป็นผู้มีอำนาจในการเรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของบริษัท” นายรพีกล่าว

ทั้งนี้ในแนวคิด สำนักงานก.ล.ต. นั้น ต้องการจะแก้ไขปัญหาบริษัทจดทะเบียนที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ มีความขัดแย้งของผู้ถือหุ้น รวมถึงคณะกรรมการบริษัทและก่อให้เกิดความเสียหายกับตัวบริษัทเอง และระบบของตลาดทุนโดยรวม ต้องเป็นกรณีที่หนักมากๆ  อย่างในช่วงที่ผ่านมา เห็นว่ามีบางบริษัทมีปัญหาความขัดแย้ง ของกรรมการและผู้ถือหุ้นจนส่งผลเสียให้กับบริษัท และเสียหายกับอุตสาหกรรมแต่ไม่มีช่องที่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งในต่างประเทศแม้จะไม่มีกฏหมายในลักษณะเดียวกันแต่จะมีกฏหมายที่ใกล้เคียงโดยหลักใหญ่คือให้อำนาจการบริหารบริษัทกลับไปอยู่ที่ผู้ถือหุ้น

สำหรับในแนวทางที่ก.ล.ต. มองไว้คือ จะให้ศาลเป็นผู้มีอำนาจในการชี้ขาดและสามารถให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างการเรียกประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อแก้ไขปัญหา โดยให้ผู้ถือหุ้นซึ่งถือว่าเป็นเจ้าของบริษัทตัวจริงเป็นผู้สนใจ โดยก.ล.ต.จะบรรจุไว้ในกฏหมายว่า ศาลจะต้องเป็นผู้ชี้ขาดซึ่งคาดว่าจะช่วยให้การดำเนินการมีความรวดเร็วมากขึ้น

 

Back to top button