TPIPP – WHAUP เสียหน้า แต่ได้เงิน

หุ้นขนาดใหญ่ 2 รายการ เข้ามาเผชิญกับ “คำสาปของไตรมาสสอง” ในเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้งที่ไม่มีอะไรเหมือนกันเลยคือ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP และ บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)หรือ WHAUP


แฉทุกวันทันเกมหุ้น

 

หุ้นขนาดใหญ่ 2 รายการ เข้ามาเผชิญกับ “คำสาปของไตรมาสสอง” ในเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้งที่ไม่มีอะไรเหมือนกันเลยคือ บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP และ บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)หรือ  WHAUP

TPIPP ทำธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานขยะและความร้อนทิ้ง และสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ ปัจจุบันโรงไฟฟ้ามีกำลังการผลิตติดตั้ง 150MW จะเพิ่มเป็น 440MW ในปี 2017 ซึ่งทำให้กำไรใน 3 ปีข้างหน้า (60-62) โตก้าวกระโดด เราคาด +50.4% CAGR

จุดเด่นของโรงไฟฟ้าขยะของ TPIPP คือมีกำลังการผลิตสูงสุดในประเทศ มีที่ตั้งอยู่ใกล้โรงปูนซีเมนต์ของ TPIPL ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ทำให้ TPIPP สามารถนำความร้อนที่ถูกปล่อยทิ้งจากกระบวนการผลิตปูนฯมาผลิตไฟฟ้าได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ

ธุรกิจหลักกลุ่มที่สอง (ซึ่งไม่มีนัยสำคัญทางรายได้เลย) คือธุรกิจสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ (NGV) ภายใต้เครื่องหมายการค้า’ทีพีไอพีแอล’ (TPIPL) รวม 12 แห่ง นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีรายได้จากการขายอินทรียวัตถุที่เหลือใช้จากสถานประกอบการผลิตเชื้อเพลิง RDF ให้แก่บริษัท ทีพีไอ โพลีน ชีวะอินทรีย์ จำกัด ในเครือ บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยชีวภาพ โปรไบโอติกส์เพื่อการเลี้ยงสัตว์และการกำจัดสิ่งปฏิกูลในน้ำอีกด้วย

ส่วน WHAUP ประกอบธุรกิจหลัก 2 อย่างคือ  1) ธุรกิจสาธารณูปโภค โดยจำหน่ายน้ำดิบ ผลิตและจำหน่ายน้ำเพื่ออุตสาหกรรม และบริหารจัดการน้ำเสีย ให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอุตสาหกรรม (โดยได้รับสิทธิแต่เพียงผู้เดียวเป็นระยะเวลา 50 ปี มีกำลังการผลิตน้ำรวม 2.81 แสน ลบ.ม./วัน และบำบัดน้ำเสีย 1.17 แสน ลบ.ม./วัน) เป็นมรกดมาจาก HEMRAJ   2) ธุรกิจพลังงาน ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยใช้ทั้งพลังงานเชื้อเพลิงเชิงพาณิชย์และพลังงานทางเลือก (กำลังการผลิตปัจจุบันตามสัดส่วนการถือหุ้น 349.55 MW และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 190.07 MW)

โครงการอนาคต ปัจจุบัน WHAUP มีโรงไฟฟ้าที่เข้าร่วมทุนกำลังก่อสร้างอยู่ 6 แห่ง (มีสัญญาขายไฟกับ กฟผ. จำนวน 90 MW) กำลังการผลิตรวมตามสัดส่วนการถือหุ้น 190.07 MW ซึ่งจะสร้างเสร็จในปี 60 จำนวน 4 แห่ง คิดเป็นกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นราว 130 MW และกำลังการผลิตไอน้ำราว 30 TPH โดยเป็นโรงไฟฟ้าความร้อนร่วม และมีโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมกำลังการผลิตติดตั้ง 8.63 MW (ถือหุ้น 33%)

ดูตามพื้นฐานแล้ว บริษัททั้งสองมีอนาคตยาวไกล ด้วยมีคุณสมบัติครบ ไม่อยู่ในสภาพ “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” กับภาระหนี้ที่แบกเอาไว้จนหลังแอ่นเหมือนหุ้นบางรายการ

อาจจะมีแตกต่างกันไปบ้างก็แค่วิธีการระดมทุน และรายละเอียดอื่นเล็กน้อยๆ รวมถึงจำนวนเงินที่ระดมทุน ซึ่งตามปกติแล้ว”ไม่ควร”มีปัญหาอะไร

TPIPP ออกหุ้นเพิ่มทุนใหม่ทั้งหมด เสนอขายหุ้นสามัญ 2,500 ล้านหุ้น แบ่งเป็นผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ จำนวนไม่เกิน 125 หุ้น จะนำมาขายให้แก่ประชาชนทั่วไปเฉพาะกลุ่มซึ่งเป็นผู้ที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้นดังกล่าวตามสัดส่วนการถือหุ้นของตน (ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้น) ที่เหลือให้กับกองทุน และอื่นๆ

หลังจากการระดมทุนที่จะได้เงินไปมากถึง 17,500 ล้านบาท สัดส่วนของหุ้นเพิ่มทุนใหม่จะไม่เกิน 30% ของทุนจดทะเบียนของ TPIPP และอีก 70% จะอยู่ในมือของ TPIPL ที่เป็นบริษัทแม่มีอำนาจควบคุมต่อไป

TPIPP มีที่ปรึกษาการเงินใหญ่ คือ  บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่รับฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายร่วมกันอีก 2 รายหลักคือ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด และ บริษัทหลักทรัพย์ ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด

ส่วน WHAUP ขายหุ้นราคาพาร์ 5 บาท จำนวน 765 ล้านหุ้น โดยเอาหุ้นสามัญเดิม 640 ล้านหุ้น และ หุ้นสามัญเพิ่มทุน 125 ล้านหุ้น เสนอขายหุ้นสามัญในราคาหุ้นละ 26.25 บาท มูลค่าระดมทุนรวม 3,281.25 ล้านบาท โดยแบ่งออกอย่างซับซ้อน ให้หุ้น 229.50 ล้านหุ้น ขายต่อผู้ถือหุ้นเดิมกลุ่มต่างๆ โดย 1) แบ่งหุ้น 57.29 ล้านหุ้น ของ WHA เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับ ในสัดส่วน 250 หุ้น WHA ต่อ 1 หุ้น WHAUP  2) แบ่งให้ ผู้มีอุปการคุณของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์และบริษัทฯ 57.46 ล้านหุ้น  3) แบ่งให้นักลงทุนสถาบันในประเทศและต่างประเทศ 114.75 ล้านหุ้น

ทั้งหมดนี้ ธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และมีบริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด เป็นผู้จัดการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย เรียกว่าเหมาเบ็ดเสร็จที่เดียว ไม่ต้องแบ่งใคร

ดูตามเนื้อผ้า ก็ไม่ควรมีปัญหาอะไร แต่…ในโลกนี้มีข้อยกเว้นเสมอ “คำสาปหุ้นของไตรมาสสอง” ก็ตามมารังควานจนได้

ทฤษฎี “หงส์ดำ” ของนัสซิม ทาเล็บอันโด่งดัง (ที่ดัดแปลงจาก เบนวา แมนเดอโบลท์ เจ้าของทฤษฎี ความไร้เหตุผลของตลาด) ก็ให้บทบทเรียนสำคัญกับทั้งนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ และ นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ว่า ความมั่นใจที่สูงเกินนั้น..อาจะให้ผลลัพธ์ตรงกันข้าม

ถือเสียว่าฟาดเคราะห์ ..เสียหน้า แต่ได้เงิน เต็มกระเป๋า…ยังไงก็คุ้ม

อิ อิ อิ

Back to top button