อนาคตที่ติดหล่ม

ดัชนีตลาดหุ้นไทยหลังธนาคารประกาศงบไตรมาสแรกอันน่าผิดหวังผ่านไป (แม้จะถึงกับต้องงัดวิชามารสารพัดมาทำให้งบดูไม่ขี้เหร่เกินควร) มีอาการไปต่อไม่เป็น จะขึ้นเหนือ 1,600 จุดก็เกินไป จะลงใต้ 1,550 จุด ก็ไม่สมเหตุผล เพราะสภาพ "อมโรค" เศรษฐกิจไทย ปิดไม่มิดชัดเจนยิ่งขึ้น


พลวัตปี 2017 : วิษณุ โชลิตกุล

ดัชนีตลาดหุ้นไทยหลังธนาคารประกาศงบไตรมาสแรกอันน่าผิดหวังผ่านไป (แม้จะถึงกับต้องงัดวิชามารสารพัดมาทำให้งบดูไม่ขี้เหร่เกินควร) มีอาการไปต่อไม่เป็น จะขึ้นเหนือ 1,600 จุดก็เกินไป จะลงใต้ 1,550 จุด ก็ไม่สมเหตุผล เพราะสภาพ “อมโรค” เศรษฐกิจไทย ปิดไม่มิดชัดเจนยิ่งขึ้น

มีคำถามจากคนที่ช่ำชองด้านเศรษฐศาสตร์ว่า ทำไมฟันด์โฟลว์ต่างชาติไม่ยอมไหลออก ทั้งที่ตัวเลขเศรษฐกิจไทยดูไม่ดีเอาเสียเลย และรัฐบาลทหารกำลังดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่าง “ตาบอดคลำช้าง” สะเปะสะไป โดยไม่รู้ว่าทำไปทำไม หรือมีเป้าหมายเพื่อบรรลุอะไรกันแน่

คำตอบง่ายๆ แบบกำปั้นทุบดิน คือ ฟันด์โฟลว์เองก็เข้าตาจนเช่นกัน เพราะความบ้าๆ บอๆ ของโดนัลด์ ทรัมป์ในเรื่องค่าดอลลาร์และปฏิบัติการทางทหารในหลายภูมิภาค ทำให้จุดเด่นของสหรัฐฯ ในด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นช่วงไตรมาสแรกของปี ถูกบั่นทอนลงไปอักโข

ผลลัพธ์ที่เป็นปรากฏการณ์ที่เห็นคือ หุ้นพื้นฐานเด่นราคาขึ้นไม่ได้ หุ้นเน่ามีการลากขึ้นลงช่วงสั้นๆ ฆ่าเวลา และหุ้นพื้นๆ ไม่ดีไม่เลวไม่ได้รับความนิยม มูลค่าซื้อขายตลาดช่วงดีสุดคือ 4.0 หมื่นล้านบาทต่อวัน นานๆ ครั้ง

ภาวะเช่นนี้ เป็นมากกว่าดัชนีขึ้นไม่ได้แล้วหาทางลง แต่เป็นภาวะที่ลงไม่ได้ เพราะไม่มีทางไปที่อื่น

จะผ่าทางตันจากภาวะผิดปกตินี้ได้อย่างไร

คำตอบคือ โจทย์หลักของประเทศ ว่าด้วยการก้าวข้ามภาวะ “กับดักชาติรายได้ปานกลาง” หรือ middle-income trap แม้เพียงแค่เห็นความชัดเจนทางยุทธศาสตร์ ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ไม่ใช่มายากลของ  “นักการตลาดจอมปลอม” และ “การเมืองเชิงคุณธรรม” ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศที่ยัดเยียดด้วยกระบอกปืนของรัฐบาลเผด็จการทหาร

โจทย์ว่าด้วยการก้าวข้ามกับดักชาติรายได้เป็นกลาง ไม่ใช่โจทย์ใหม่ แต่การตีความต่อปัญหาและทางออกโดยเฉพาะ “กระบวนทัศน์” ที่ทำให้ความสามารถในการรับมือเพื่อก้าวข้าม ยืดเยื้อหรือล้มเหลวในชาติต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งไทยด้วย

ดังที่ทราบกันดี โจทย์เรื่องนี้เริ่มปรากฏในงานวิจัยของธนาคารโลกในปี ค.ศ. 2007 หลังจากนั้นมีบทความและการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ปรากฏออกมาจำนวนมาก แต่แรกสุดท่าทีต่อเรื่องนี้ค่อนข้างเป็นมุมมองทางวิชาการ จนกระทั่งเมื่อเกิดปรากฏการณ์ซ้ำซ้อนถึงการชะลอตัวของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการหดตัวของการส่งออก จึงได้รับความใส่จริงจัง

โดยข้อเท็จจริง ประเทศไทยได้เข้าสู่สถานะชาติมีระดับรายได้ปานกลาง (middle-income country)  ตั้งแต่ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจในปี 1997 แต่สภาวะติดกับดักเกิดขึ้นหลังจากนั้น นับแต่ฟื้นตัวหลังวิกฤติต้มยำกุ้งโดยไม่มีความพยายามปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างเชิงสถาบัน

จนกระทั่งหลังวิกฤติซับไพรม์ ค.ศ. 2008 เป็นต้นมา การชะลอตัวลงอย่างมากทางเศรษฐกิจ เพราะโมเดลการเติบโตแบบเดิมที่เคยใช้มายาวนานหลายทศวรรษ เริ่มทำงานไม่ได้เหมือนเดิมจากภาคการส่งออกที่เคยเป็น “กลจักรขับเคลื่อนหลัก” ทางเศรษฐกิจมานานกว่า 30 ปี เริ่มกลายเป็นภาระมากกว่า ในขณะที่กลจักรใหม่ทดแทนยังไม่สามารถทดแทนได้ ท่ามกลางความขัดแย้งทางกลุ่มผลประโยชน์ทางสังคมอันซับซ้อน

ผลลัพธ์ที่ยังคงงมโข่งมองหาทางออกไม่เจอ ทำให้มีการคาดเดาว่า ประเทศไทยคงต้อง “ติดหล่ม” อยู่ในสภาพรายได้ปานกลางอีกยาวนาน โดยไม่มีแนวโน้มที่จะก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง เหตุผลเพราะในโลกนี้ มีเพียงไม่กี่ประเทศที่สามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง อย่างเช่น ญี่ปุ่น เกาหลีและไต้หวัน

แม้ในทางทฤษฎี หากไม่ได้ระบุระยะเวลาที่ชัดเจนแล้ว ประเทศที่มีรายได้ปานกลาง สามารถพัฒนาก้าวสู่ฐานะประเทศรายได้สูง โดยไม่มีกับดัก เนื่องจากเกิดภาวะการชะงักงันของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ส่งผลให้ความมั่งคั่งมวลรวมของประชาชาติลดลงโดยเปรียบเทียบ

เป็นที่ยอมรับโดยปริยายว่า พื้นฐานหลักของกับดักชาติรายได้ปานกลาง เกิดจากการสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะชาติที่พึ่งพาการส่งออกในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เสริมด้วยอื่นๆ เช่น ความสามารถทางการผลิตในสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าเกษตร และบริการมีคุณภาพ

ชาติที่ติดกับดักรายได้เป็นกลาง ต้องประสบอุปสรรคและข้อจำกัดทางด้านเทคโนโลยี คุณภาพของกำลังคน การขาดแคลนสิ่งสาธารณูปโภค และการไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ในขณะที่ต้นทุนการผลิต เช่น ค้าจ้างแรงงานและต้นทุนอื่นเขยิบตัวสูงขึ้น แต่ประสิทธิภาพการผลิตไม่ได้เพิ่มขึ้นตามอัตราเพิ่มของต้นทุน

รากเหง้าของปัญหาที่ทำให้ติดกับดักรายได้ปานกลางของแต่ละประเทศ มีปัจจัยร่วมสำคัญต่อไปนี้คือ

– ละเลยการพัฒนาเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อการผลิตของยุคสมัย

– ไม่สนใจหรือให้ความสำคัญต่ำในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ระบบการศึกษาไม่สามารถสร้างบุคลากรที่จะตอบสนองความต้องการของภาคเศรษฐกิจต่างๆ ได้ ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานไม่ได้สูงขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของค่าแรง

– ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

– ข้อจำกัดทางด้านสาธารณูปโภคทั้งในด้านปริมาณ และการกระจายสาธารณูปโภคไปสู่ส่วนต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้มีต้นทุนโลจิสติกส์ที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ

– เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองขาดเสถียรภาพ เกิดจากมีความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้และความมั่งคั่งแบบ “รวยกระจุก จนกระจาย” มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองค่อนข้างบ่อย จึงไม่มีความต่อเนื่องในนโยบายการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม อาจถึงกับทำให้เกิดความไม่สงบและความรุนแรงในสังคม

– ขาดธรรมาภิบาล จากพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งทางตรง และทางอ้อม อย่างกว้างขวาง เจ้าหน้าที่ของรัฐระดับต่างๆ อาศัยอำนาจแสวงหาผลประโยชน์ ทำให้การดำเนินงานในภาคเศรษฐกิจต่างๆ เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ

– ข้อจำกัดทางด้านการคลัง เมื่ออัตราการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจชะลอตัวลง รัฐบาลย่อมต้องประสบกับภาวะการขาดดุลทางงบประมาณเรื้อรัง เพราะภาระการใช้จ่ายในส่วนที่เป็นงบประมาณประจำที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้สัดส่วนของงบลงทุนลดน้อยลง การลงทุนสร้างสิ่งสาธารณูปโภค และการลงทุนทางด้านอื่นๆ ที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว เช่น การศึกษาและการวิจัยถูกกระทบ

คำตอบของโจทย์ในการจะก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางจึงอยู่ที่การขจัดปัจจัยลบต่างๆ ให้หมดไป ซึ่งพูดง่ายกว่าทำหลายร้อยเท่า เหตุผลเพราะกระบวนทัศน์ในการจัดลำดับความสำคัญของการ “กำจัดจุดอ่อน”  ที่ขาดเอกภาพและขันติ ทำให้ไม่มีฉันทามติ ที่จะนำไปสู่เอกภาพของการสร้าง “โรดแม็ป” ที่มีประสิทธิผลในฐานะพลังร่วมได้อย่างไร?

นับแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา การขยายตัวทางเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยยิ่งมีการชะลอตัวลงมาไม่เคยเกินค่าเฉลี่ย 3% ต่อปีเลย หลายคนเป็นห่วงว่าการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจครั้งนี้ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดจากวงจรในระยะสั้นแบบวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่เกิดจากปัญหาของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ไม่มีการปรับตัวมาเป็นเวลานานซึ่งแก้ไขได้ยากกว่า

ภาวะ mushy middle หรือ การพัฒนาแบบ “หัวมังกุท้ายมังกร” ของเศรษฐกิจและสังคมไทย จึงส่งผลมาที่ตลาดหุ้นอย่างเลี่ยงไม่พ้น และมีส่วนทำให้พฤติกรรม “ไร้เหตุผล” ในการลงทุน ดูสมเหตุสมผลมากกว่า และมากเกินระดับปกติ

ไม่ต่างอะไรกับการหายไปของหลักหมุดกำกับประวัติศาสตร์อย่างลึกลับของคณะราษฎร และการเข้ามาแทนที่ของหมุดหน้าใส ที่ยังหาคำอธิบายเหตุผลและที่มาไม่ได้ 

ตลาดหุ้นไทยในยุคสมัยของชาติติดกับดักรายได้เป็นกลาง จึงไม่มีความจำเป็นต้องหาเหตุผลมากมายนักในบางครั้ง เพราะแม้นักวิเคราะห์และคนควบคุมกฎกติกา ที่อวดอ้างตนเองเป็น “กูรู” แห่งตลาดหุ้น ก็กลายเป็นกลุ่มคนที่หาเหตุผลน่าเชื่อถือได้ต่ำเต็มที

เรื่องจะก้าวพ้นกับดักชาติรายได้ปานกลางจึงเป็นโจทย์ที่มีไว้ข้างหมอน แต่อย่านำไปฝันถึงยามหลับใหล เพราะอาจจะทำให้ฝันร้ายบ่อยเกินจำเป็น

Back to top button