GFPT จ่อประกาศกำไร Q1 สุดแจ่ม! รับส่งออกเพิ่ม-ราคาไก่พุ่ง

GFPT จ่อประกาศกำไร Q1 สุดแจ่ม กว่า 400 ล้านบาท รับปริมาณส่งออกตลาดสิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นเพิ่ม - ราคาไก่พุ่งสูง แถมอัพไซต์เพียบ


“ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ได้ทำการสำรวจบทวิเคราะห์ของ บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT หลังจากเข้าสู่ช่วงประกาศผลการดำเนินงานประจำไตรมาส 1/60 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย โดยนักวิเคราะห์มองว่ากำไรของ GFPT ในไตรมาส 1/60 จะเติบโตอย่างโดดเด่น หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณส่งออกไก่สดแช่แข็งและแปรรูปที่เติบโตขึ้นมากของตลาดสิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ส่วนราคาขายในประเทศก็ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 39 บาท/กก. ขณะที่ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ก็มีเสถียรภาพจึงคาดว่าจะส่งผลให้กำไรในไตรมาส 1/60 เติบโตอย่างสดใส

ด้านราคาหุ้นปิดตลาดวานนี้ (24 เม.ย.60) อยู่ที่ 17.70 บาท ปรับตัวขึ้น 0.30 บาท หรือ 1.72% มูลค่าการซื้อขาย 151.65 ล้านบาท โดยราคาหุ้นยังมีอัพไซต์จากราคาเป้าหมายสูงสุดที่นักวิเคราะห์ให้ที่ 19.10 บาท อยู่ 7.91%

 

โดยนางสาวจุฑามาส อิงโพธิ์ชัย ผู้จัดการนักลงทุนสัมพันธ์ GFPT เปิดเผยว่า ทางการเกาหลีใต้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบมาตรการโรงงานไก่ในประเทศไทยตามกระบวนการ และคาดใช้เวลาพิจารณาระยะหนึ่ง จากนั้นเชื่อว่าเกาหลีจะเริ่มนำเข้าไก่สดจากไทยได้ภายในปีนี้ จากที่ก่อนหน้านี้สหภาพยุโรป (อียู) และ ญี่ปุ่นได้อนุญาตนำเข้าไก่จากไทยเมื่อปี 55-56

ดังนั้น หากไทยได้รับการอนุญาตจากเกาหลีใต้ก็จะเป็นโอกาสสำคัญในการขยายตลาดส่งออกของ GFPT ด้วย อย่างไรก็ตาม ตลาดเกาหลีใต้ไม่ได้นำเข้าไก่สดจากไทยมานานกว่า 10 ปี หรือตั้งแต่ปี 47 เนื่องจากปัญหาการระบาดของไข้หวัดนกในไทย และไม่ใช่ จึงต้องมีการตรวจสอบความต้องการลูกค้าก่อน โดยปัจจุบัน GFPT มียอดส่งออก 20% ของยอดขายรวม โดยมีตลาดอียู และญี่ปุ่น เป็นลูกค้าหลักสัดส่วน 50:50

ส่วนทิศทางธุรกิจปีนี้ นางสาวจุฑามาส เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมในปีนี้ที่ 1.6-1.8 หมื่นล้านบาท เติบโต 5-8% จากปีก่อน และจะรักษาอัตรากำไรขั้นต้นปีนี้ใกล้เคียงปีที่แล้วที่มีอัตราเฉลี่ย 11-12% เพราะปีนี้ได้รับอานิสงส์จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวลง ได้แก่ ข้าวโพด และ กากถั่วเหลือง เป็นต้น อย่างไรก็ต้องติดตามสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจจะทำให้ราคาข้าวโพดปรับตัวสูงขึ้นได้

ขณะที่คาดว่าปีนี้ราคาไก่เฉลี่ยใกล้เคียงปีก่อนที่มีราคาเฉลี่ยที่ 36 บาท/กก. ซึ่งต้นปีก่อนราคาปรับลงจากภาวะซัพพลายล้นตลาด แต่ปัจจุบันราคาไก่อยู่ที่ 37-38 บาท/กก. ซึ่งอยู่ในช่วงเทศกาลปีใหม่และฤดูท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงลงทุนขยายฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อต่อเนื่องให้ครบ 3.5 แสนตัว/วันตามแผนระยะยาว เริ่มปี 58-63 โดยปีนี้จะเพิ่มกำลังการผลิตปีละ 2.5 หมื่นตัว/วันใช้เงินลงทุนปีละ 1 พันล้านบาท เพื่อรองรับการขยายปู่ย่าพันธ์ไก่ที่ได้ลงทุนไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยปีนี้คาดว่าฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้ออยู่ที่ 2.8 แสนตัว/วัน ขณะที่โรงงานไก่แปรรูปยังสามารถรองรับกำลังการผลิต ซึ่งปัจจุบันใช้กำลังการผลิต 80% ของกำลังการผลิตรวมที่ 3 แสนตัว/วัน หรือประมาณ 2.6 แสนตัว/วัน

ทั้งนี้ GFPT มีรายได้จากไก่แปรรูป ประมาณ 54% จากการจำหน่ายไก่เป็นให้บริษัทย่อย 25% และ รายได้จากอาหารสัตว์บกและสัตว์น้ำ ประมาณ 25%

ด้านนักวิเคราะห์ บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) แนะนำ “ซื้อ” GFPT ราคาเป้าหมาย 19.10 บาท/หุ้น โดยคาดกำไรสุทธิไตรมาส 1/60 จะเติบโต 52% จากปีก่อน เป็น 419 ล้านบาท โดยเป็นผลจากปริมาณส่งออกไก่สดแช่แข็งและแปรรูปที่เติบโต (ประมาณการไว้ เพิ่มขึ้น 7% จากปีก่อน) และอัตรากำไรขั้นต้นที่อยู่ในเกณฑ์สูง 16% ซึ่งดีกว่าช่วงไตรมาส 1/59 ที่ทำได้ 11.5% แต่หากเทียบจากไตรมาสก่อน กำไรสุทธิจะอ่อนลง 13% เพราะปัจจัยฤดูกาลและอัตรากำไรขั้นต้นช่วงไตรมาส 4/59 สูงมากถึง 17%

โดยปัจจัยหนุนการผลประกอบการ คือ อุปสงค์ในตลาดส่งออกที่แข็งแกร่ง เนื่องจากส่งออกไก่สดแช่แข็งไปยังตลาดเกาหลีใต้และสิงคโปร์เพิ่มขึ้น รวมทั้งส่งออกไก่แปรรูปไปตลาดญี่ปุ่นได้มากขึ้นหลังพบสารปนเปื้อนในเนื้อสัตว์แช่แข็งจากบราซิล โดยบริษัทที่นำเข้าไก่จากบราซิลหลายแห่งหันมานำเข้าจากผู้ผลิตในไทยซึ่งรวมถึง GFPT แทน

ซึ่งส่วนนี้ทำให้ปริมาณส่งออกไก่ในไตรมาส 1/60 เติบโตได้ 10% จากปีก่อน แต่ปริมาณขายทั้งหมดจะเติบโตในอัตราน้อยกว่านี้เพราะปริมาณขายอาหารสัตว์เพิ่มไม่มาก ขณะที่ราคาส่งออกอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเพิ่มขึ้น 100-200 ดอลลาร์/ตัน หรือ เพิ่มขึ้น 3% ถึง 5% เพราะอุปสงค์ที่เพิ่มทำให้การต่อรองราคาน้อยลง

ส่วนราคาขายในประเทศกลับสู่เสถียรภาพที่ 37-39 บาท/กก.ในช่วงไตรมาส 1/60 ดีขึ้นจากไตรมาส 4/59 ที่ 34 บาท/กก.หรือ เพิ่มขึ้น 12% จากไตรมาสก่อน ทำให้ราคาขายไก่เป็นให้กับ GFN และราคา By Products ของบริษัทเพิ่มขึ้นดีตามไปด้วย และราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ไม่ได้ปรับขึ้นมาก ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาส 1/60 อยู่ในระดับสูง คาดการณ์ไว้ที่ 16%

ขณะที่แนวโน้มไตรมาสที่เหลือของปีนี้ไปได้ดี ทั้งนี้ปริมาณส่งออกของอุตสาหกรรมคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5-6% จาก 7.4 แสนตันในปี 59 เป็นประมาณ 7.8 แสนตันในปี 60 โดยความต้องการซื้อไก่สดแช่แข็งจากสิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น

ซึ่งกลุ่ม GFPT มีส่วนแบ่งด้านการส่งออก 14% ของปริมาณทั้งหมด ด้านต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ก็มีเสถียรภาพและไม่ได้เพิ่มมาก ส่วนอุปทานไก่ในปีนี้ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 33-34 ล้านตัว/วัน จาก 32 ล้านตัว/วันในปี 59 ทำให้ราคาไก่ในประเทศน่าจะทรงตัวที่ระดับปัจจุบัน คือ 38-39 บาท/กก.ได้ (เพิ่มจากปี 59 ที่ 36 บาท/กก.) และราคาส่งออกที่ขยับขึ้นมาในไตรมาส 1/60 น่าจะยืนได้

อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงเดินหน้าขยายกำลังการผลิต ทั้งในส่วนของฟาร์มและโรงชำแหละ เพื่อรองรับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของ GFPT, McKey และ GFN โดยในส่วนของ McKey จะสร้างโรงงานใหม่เพิ่มอีก 1 แห่ง กำลังการผลิต 500 ตัน/เดือน (ปัจจุบันมีอยู่ 2,400-2,800 ตัน/เดือน) คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนก.ย.60

ส่วนของ GFN จะเพิ่มสายการผลิตปรุงสุกสายที่ 5 ทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่ม 400 ตัน/เดือน (จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตปรุงสุก 2,000-2,400 ตัน/เดือน) คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในกลางปี 60 รวมทั้งจะเพิ่มกำลังโรงชำแหละจาก 1.1 แสนตัว/วัน เป็น 1.3  แสนตัว/วัน เพื่อให้สอดรับกับกำลังการผลิตโรงปรุงสุกที่เข้ามาเพิ่ม ซึ่งเหล่านี้ทำให้ผลประกอบการปี 61 จะขยายตัวได้ดี ถ้าราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ไม่ปรับขึ้นแรงมาก และไม่ประสบปัญหาอุปทานล้นเกินอย่างมาก

 

ขณะที่นักวิเคราะห์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) แนะนำ “ถือ” GFPT ราคาเป้าหมาย 19 บาท/หุ้น โดยคาด GFPT จะสามารถรายงานผลประกอบการในไตรมาส 1/60 เติบโตได้อย่างโดดเด่นที่ระดับ 362 ล้านบาท (ลดลง 26.4% จากไตรมาสก่อน, เพิ่มขึ้น 31.8% จากปีก่อน)

โดยแม้ในไตรมาสนี้จะเป็นช่วง low season ของการส่งออก แต่ด้วยความต้องการสินค้าที่มีมาโดยเฉพาะจากประเทศในทวีปเอเชียฝ่ายวิจัยจึงคาดว่าปริมาณการส่งออกของบริษัทโดยรวมจะสามารถเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่องที่ระดับ 6,185 ตัน (ลดลง 32% จากไตรมาสก่อน, เพิ่มขึ้น 14.5% จากปีก่อน)

ขณะเดียวกันราคาขายในประเทศก็ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 39 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 34 และ 37 บาท/กก. ในไตรมาส 4/59 และไตรมาส 1/59 ตามลำดับ ผลักดันให้อัตรากำไรขั้นต้นเป็น 15% เพิ่มขึ้นกว่า 3.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยมองภาวะตลาดส่งออกของไทยในปีนี้มีแนวโน้มที่จะมีการเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่องจากความต้องการที่ยังดีในประเทศญี่ปุ่นและเอเชียอื่น ขณะที่ไทยได้เปิดตลาดส่งออกใหม่เพิ่มจากทั้งประเทศเกาหลี (คาดจะเพิ่มได้ราว 2.6%) และสิงคโปร์ (คาดจะเพิ่มได้ราว 0.5 – 1%)

นอกจากนี้ปริมาณการส่งออกไก่ของไทยยังมี upside จากภาวะไข้หวัดนกที่ระบาดหนักในเอเชียและยุโรปซึ่งจะช่วยหนุนนำให้ปริมาณการส่งออกเติบโตกว่าที่สมาคมผู้ส่งออกไก่ประมาณการในปีนี้ที่ 760,000 ตัน (เพิ่มขึ้น 2.3% จากปีก่อน) ได้

อย่างไรก็ตามเรามอง GFPT จะได้ผลประโยชน์ดังกล่าวค่อนข้างจำกัดเนื่องจากข้อจำกัดด้านปริมาณการเลี้ยงที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างเต็มที่ขณะที่บริษัทต้องแบ่งสัดส่วนการขายบางส่วนให้กับบริษัทร่วมเพื่อส่งออกอีกด้วย ส่งผลให้ผลกระทบเชิงบวกที่จะได้จะเป็นในด้านราคาในประเทศที่สูงขึ้นมากกว่า

ดังนั้นฝ่ายวิจัยมองว่า ด้วยแนวโน้มภาพอุตสาหกรรมส่งออกไก่ที่ดี แรงหนุนจากภาวะไข้หวัดนกระบาดตั้งแต่ต้นปีและราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ยังทรงตัวในระดับต่ำจะช่วยหนุนให้ GFPT ยังสามารถแสดงผลประกอบในระดับที่แข็งแกร่งได้ที่ 1,660 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1% จากปีก่อน ขณะที่หากไม่รวมรายการพิเศษในปีก่อน กำไรปกติจะเติบโตได้ 4.2% จากปีก่อน)

 

ส่วนนักวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส แนะนำ “ถือ” GFPT ราคาเป้าหมาย 18.30 บาท/หุ้น โดยคาดกำไรสุทธิไตรมาส 4/60 อยู่ที่ 393 ล้านบาท (ลดลง 20.1% จากไตรมาสก่อน, เพิ่มขึ้น 42.9% จากปีก่อน) สาเหตุที่กำไรอ่อนตัวลงมาจากปัจจัยฤดูกาล และฐานที่สูงในไตรมาสก่อน จากคำสั่งซื้อที่เลื่อนมารับรู้ในไตรมาส 4/59 ค่อนข้างมาก

ส่วนกำไรที่คาดเติบโตดีจากปีก่อนแม้ราคาขายค่อนข้างทรงตัว แต่ปริมาณขายส่งออกสูงขึ้นมาก ฝ่ายวิจัยคาดไว้ที่ 7,500 ตัน (ลดลง 18% จากไตรมาสก่อน, เพิ่มขึ้น 39% จากปีก่อน) จากการเติบโตของตลาดส่งออกทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และมาเลเซีย

โดยคาดรายได้ไตรมาสนี้จะ ลดลง 7.7% จากไตรมาสก่อน และ เพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อน ในส่วนอัตรากำไรขั้นต้นคาดจะแผ่วลงมาอยู่ที่ 15.5% จาก 17.1% ในไตรมาส 4/59 แต่เพิ่มขึ้นจาก 11.5% ในไตรมาส 1/60 โดยภาพรวมราคาวัตถุดิบต่ำลงมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ขยับขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน

ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยมองว่าราคาวัตถุดิบได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 4/59 ที่ผ่านมา สำหรับส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วม (McKey, GFN) คาดเพิ่มขึ้น 7.9% จากไตรมาสก่อน จาก McKey แต่คาดลดลง 22.6% จากปีก่อน จากการปรับลงของกำไร GFN

ทั้งนี้หากกำไรสุทธิไตรมาส 1/60 เป็นไปตามคาด จะคิดเป็นสัดส่วน 24% ของประมาณการทั้งปี แนวโน้มกำไรเติบโตในไตรมาส 2/60 เพราะเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลของการส่งออก และคาดจะโตต่อเนื่องและทำจุดสูงสุดของปีในไตรมาส 3/60 เพราะเป็น High Season ของธุรกิจ ก่อนจะอ่อนตัวลงในไตรมาส 4/60

โดยปัจจัยหนุนกำไรในปีนี้จะมาจากแนวโน้มการส่งออกไก่ที่ยังสดใสต่อเนื่อง ในขณะที่อาจต้องเผชิญกับราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งสถานการณ์ทุกอย่างยังสอดคล้องกับสมมติฐานของฝ่ายวิจัย ดังนั้นจึงคงประมาณการกำไรสุทธิปี 2560 ไว้ที่ 1.63 พันล้านบาท ทรงตัวจากปีก่อนและคงราคาเป้าหมาย 18.30 บาท (อิง PE เดิม 14 เท่า)

Back to top button