ตาบอดคลำช้าง พลวัต2015

มีคำพูดกวนประสาทอยู่เสมอสำหรับคนที่มองไม่เห็นอนาคตว่า อนาคตก็เหมือนดวงจันทร์บนท้องฟ้า เดินเข้าไปหา มันก็จะถอยหนีไป เดินจากมา มันจะเคลื่อนตัวตามเข้ามาใกล้ ดังนั้น มนุษย์จึงไม่เคยเห็นอนาคต


มีคำพูดกวนประสาทอยู่เสมอสำหรับคนที่มองไม่เห็นอนาคตว่า อนาคตก็เหมือนดวงจันทร์บนท้องฟ้า เดินเข้าไปหา มันก็จะถอยหนีไป เดินจากมา มันจะเคลื่อนตัวตามเข้ามาใกล้ ดังนั้น มนุษย์จึงไม่เคยเห็นอนาคต

กรณีของเฟดฯกับการประชุมครั้งสำคัญเพื่อชี้ขาดว่า จะปรับขึ้นดอกเบี้ยจากระดับ 0.25% ที่ใช้มา 9 ปี เป็นครั้งแรก จะมีข้อยุติอย่างไร ยังคงมีความคลุมเครือ ซึ่งสร้างความปั่นป่วนกับตลาดหุ้นทั่วโลก รวมทั้งไทยไปจนกว่า เช้าวันศุกร์ (ตามเวลาไทย) จึงจะมีความชัดเจนว่าจะมีทิศทางอย่างไร

ระหว่างนี้ก็เลยมีคนประเมินว่า ทางเลือกที่เป็นไปได้ 3 ทางหลังจากการชี้ขาดของที่ประชุม FOMC ของเฟดฯผ่านไปแล้วคือ

–          กรณีดีที่สุด (และเป็นไปได้น้อยสุด) เฟดฯมีมติไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยและส่งสัญญาณไม่เร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งสำนักวิเคราะห์ต่างๆ ให้โอกาสเกิดขึ้น 20% เพราะเท่ากับเฟดฯเสียคำพูดที่ส่งสัญญาณเอาไว้ก่อนหน้าว่ายังไงก็จะต้องขึ้นในปีนี้  จะส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกในระยะสั้นบวกแรงกันทั่วหน้า แต่หลังจากนั้น จะฝ่าแนวต้านไปได้ไกลแค่ไหน ขึ้นกับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนแต่ละตลาด

–          กรณีเลวปานกลาง แต่เป็นไปได้มากที่สุด เฟดฯอาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในคราวนี้ แต่ยังส่งสัญญาณว่าจะไม่เร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะต่อไป มีความเป็นไปได้ 60% ที่จะเกิดขึ้น ผลสะเทือนทางลบจะเกิดในระยะสั้น หลังจากนั้นตลาดจะซึมซับข่าวร้ายหมดไป แล้วเริ่มปรับตัวเร็วสู่ภาวะปกติ

–          กรณีเลวร้ายที่สุด เฟดฯปรับขึ้นดอกเบี้ยและส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง โดยไม่สนใจกับความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุน มีความเป็นไปได้ให้โอกาส 20% เพราะตลาดหุ้นจะร่วงยาวนานทั่วโลก และอาจจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกที่ทุนจะไหลออกรุนแรงนานหลายเดือน ทำนองเดียวกับปรากฏการณ์ก่อนลดQE ปี 2556

สำหรับตลาดหุ้นไทย มีคนประเมินว่า กรณีดีที่สุด ดัชนีตลาดหุ้นไทย มีโอกาสจะปรับขึ้นไปทดสอบ 1,500 จุด  ส่วนในกรณีเลวปานกลาง ดัชนีฯจะผันผวนในกรอบ 1,330-1,450 จุด ส่วนกรณีเลวร้ายสุด จะส่งผลให้ดัชนีฯมีโอกาสลดลงไปทดสอบจุดต่ำสุดเดิม 1,292-1,300 จุด

ความเป็นไปได้ดังกล่าว เสมือนตาบอดคลำช้างทั้งสิ้น เพราะไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หลังการประชุมเฟดฯวันที่ 17 กันยายนนี้สิ้นสุดลง โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทย เพราะถึงรู้ไปก็ไร้ประโยชน์ที่จะป้องกันล่วงหน้า จากช่วงห่างของเวลาที่ยากจะรับมือได้

โจทย์ว่าด้วยเฟดฯ จึงเป็นการคาดเดาทั้งสิ้น ไม่เหมือนกับโจทย์ว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจของจีน ที่ตัวเลขดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจต้นไตรมาส 3 ออกมาย่ำแย่เกือบทั้งหมด ยกเว้นตัวเลขเงินเฟ้อ และยอดค้าปลีก

รัฐบาลจีนเปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนส.ค.ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 เนื่องจากตลาดหุ้นจีนอ่อนแรงลง

 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ใช้บัตรธนาคาร (BCCI) ซึ่งรวบรวมโดยสำนักข่าวซินหัว และไชน่า ยูเนียนเพย์ ซึ่งเป็นสมาคมบัตรธนาคารแห่งชาติ ปรับตัวลง 0.6 จุดในเดือนส.ค. จากเดือนก.ค. มาอยู่ที่ระดับ 82.07 ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเดือนที่ 3

  หากเทียบเป็นรายปีจะพบว่า ดัชนี BCCI ร่วงลง 1.69% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคมีความต้องการจับจ่ายใช้สอยน้อยลง

  เช่นเดียวกัน สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนเปิดเผยว่า ยอดการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ขยายตัว 3.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี แตะ 6.11 ล้านล้านหยวน หรือ 9.59 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งอัตราการขยายตัวดังกล่าวต่ำกว่าการขยายตัวในช่วง 7 เดือนแรก

หากเทียบความกังวลเรื่องเฟดฯและอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ กับข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ของเศรษฐกิจจีน จะเห็นได้ว่าอย่างหลังน่ากังวลมากกว่าหลายเท่า ในขณะที่อย่างหลังนั้น เป็นปัญหาของคนป่วยที่คุ้นเคยกับการดูแลมายาวนาน จนเมื่อต้องพึ่งพาตัวเองก็ไม่สามารถปรับสภาพจิตใจให้เข้ากับสภาพใหม่ได้เท่านั้นเอง

เช่นเดียวกัน สถานการณ์ในยุโรป ก็เข้าสู่สภาพของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแบบเทียมๆ ที่ชวนให้ตั้งคำถามไม่น้อย หลังจากเมื่อวานนี้ ตลาดหุ้นยูโรโซนบวกขึ้นจากตัวเลขเศรษฐกิจที่เป็นเชิงบวกหลายรายการพร้อมกัน เริ่มตั้งแต่ตัวเลขดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของยูโรโซนที่บวกขึ้น 0.6% เป็นอัตราเติบโตที่ดีที่สุดในรอบ 7 เดือน นับแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้

ที่น่าสนใจก็คือ เศรษฐกิจชาติที่มีอัตราเติบโตสูงสุดในยูโรโซน คือ ชาติที่ฐานะการคลังล้มละลายอย่างกรีซ ที่หลังจากรับความช่วยเหลือทางการเงินมหาศาลจากเจ้าหนี้เพื่อต่ออายุ กลับมีอัตราเติบโตมากถึง 4.3% เสมือนหนึ่งมีสุขภาพแข็งแกร่งโดดเด่นเลยทีเดียว ในขณะที่ชาติชั้นนำอย่างเยอรมนี มีอัตราเติบโตแค่ 0.6% เท่านั้น   

ความไม่ลงร่องกันระหว่างดัชนีตลาดเงินและตลาดทุน กับ การเติบโตของภาคการผลิตที่แท้จริงของยูโรโซนเช่นว่านี้ สะท้อนชัดเจนว่า ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างภาคการผลิต และภาคการเงินหรือทุนนั้น มีทิศทางที่ไม่สอดคล้องกัน และสะท้อนสุขภาพทางเศรษฐกิจของชาติต่างๆได้อีกต่อไป

ความสัมพันธ์ในลักษณะที่แปลกแยกจากกันและกันเช่นนี้ของกลไกเศรษฐกิจทุนนิยมทั่วโลกยามนี้ ยิ่งจะทำให้นักลงทุนกลายเป็นตาบอดคลำช้างมะงุมมะงาหราไปมากยิ่งขึ้น ไม่แพ้นักวิเคราะห์ที่มักจะคาดเดาตลาดผิดซ้ำซาก เพราะทฤษฎีวิเคราะห์ต่างๆ ไม่สามารถช่วยให้เกิดปัญญาใหม่ได้

 

Back to top button