แตกพาร์มหาหื่นแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI ทำสถิติเป็นแขกของคอลัมน์นี้มากที่สุดทั้งที่เพิ่งฉลองเข้าเทรดในตลาดมาได้แค่ 1 เดือน


บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ ORI ทำสถิติเป็นแขกของคอลัมน์นี้มากที่สุดทั้งที่เพิ่งฉลองเข้าเทรดในตลาดมาได้แค่ 1 เดือน

ไม่รู้เพราะกลัวคนจะลืมชื่อ หรือ เพราะกลัวจะเป็นข่าวฉาวน้อยไป…หรืออย่างไร

ภาพลักษณ์บริษัทดีหรือร้ายไม่มีความหมายเท่าเกมราคาอีกต่อไป ยิ่งมีชื่อนักเล่นหุ้น “ขาใหญ่” อย่าง นเรศ งามอภิชน และ สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล หรือ เสี่ยปู่ เป็นคนร่วมถือหุ้นใหญ่ด้วยแล้ว การขับเคลื่อนแบบมูมมามทำให้ยากจะคิดเป็นอย่างอื่นได้นอกจาก “ครอบงำราคา”

ไม่ว่าจะมีวัตถุประสงค์ใด กรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้นใหญ่นับว่าถูกความโลภครอบงำจนลืมกติกาว่าด้วยธรรมาภิบาลไปจนหมดสิ้น แทนที่จะตั้งตาสร้างผลประกอบการให้เด่นดีตามสูตร let profit run ในฐานะ growth stock ที่มีอนาคต (เพราะว่าตามจริงแล้วฐานะการเงินบริษัทก็ไม่ได้เลวร้ายอะไรแถมทำ ท่าดีด้วย) กลับมองเห็นการสร้างราคาหุ้นระยะสั้นเป็นความจำเป็นเร่งด่วน โดยไม่จำเป็น

ไม่รู้จะรีบร้อนตามเส้นทางของ AJD ที่ถูกตั้งคำถามจนบ้อท่ามาแล้วเมื่อต้นปีนี้ ไปหาสวรรค์ชั้นไหน…แต่ก็ดันทุรังทำไปแล้ว

ความเคลื่อนไหวที่ตะกรุมตะกรามล่าสุดนี้ เกิดขึ้นเมื่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) ของ ORI เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2558 มีมติให้เสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาเปลี่ยนแปลงมูลค่าที่ตราไว้ (Par) จากหุ้นละ 0.50 บาท เป็นหุ้นละ 0.10 บาท ภายหลัง ORI เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพียง 1 เดือน นับจากวันที่เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2558

วันที่มีมตินั้น ราคาหุ้นของ ORI ยืนราคาเหนือ 14.00 บาท เทียบกับราคาจองที่เข้ามาระดมทุนในตลาดแรก 9.00 บาท และต่ำกว่าราคาไฮสุดวันก่อนหน้าที่ใกล้เคียง 15.00 บาท

พีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แจ้งว่าหลังจากแตกพาร์ ORI จะมีราคาพาร์เป็นหุ้นละ 0.10 บาท ทำให้จำนวนหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 3,015,750,000 หุ้น หรือ 5 เท่า จากจำนวนหุ้นเดิมที่ 603,150,000 หุ้น โดยแบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 3,015,750,000 หุ้น ขณะที่ทุนจดทะเบียนยังคงเดิมที่ 301,575,000 บาท โดยจะขออนุมัติผู้ถือหุ้นในวันที่ 14 ธ.ค.นี้

กลยุทธ์แตกพาร์ หรือ stock splitting ที่ ORI นำมาใช้ล่าสุด เป็นกลยุทธ์สร้างมูลค่าผู้ถือหุ้นที่มิใช่เรื่องใหม่ ในตลาดหุ้นทั่วโลก ใช้กันมายาวนานแล้ว เพียงแต่ไม่ได้กระทำกันเป็นล่ำเป็นสันบ่อยครั้งเท่านั้น และทุกครั้งที่มีการแตกพาร์ ก็มักจะมีการตั้งคำถามตามมาเสมอว่า การแตกพาร์เป็นประโยชน์หรือโทษอย่างไรบ้าง

โดยข้อเท็จจริง การแตกพาร์ คือ การที่บริษัทต้องการเพิ่มจำนวนหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาดให้มากขึ้นโดยไม่ได้ส่งผลกระทบกับมูลค่าการตลาดหรือทรัพย์สินของบริษัท หรือต่อผลการดำเนินงานของบริษัท แต่ผู้ถือหุ้นจะถือใบหุ้นจำนวนมากขึ้น โดยที่ราคาหน้าใบหุ้นที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนซื้อขายกันมีราคาถูกลงทางจิตวิทยา

มุมมองของนักเศรษฐศาสตร์การเมือง การแตกพาร์ ทำให้มูลค่าใช้สอย หรือ useablevalue ของหุ้นบริษัทยังเหมือนเดิม แต่มูลค่าแลกเปลี่ยน หรือ exchangeable value เปลี่ยนไปจากเดิม จึงทำให้ช่วงห่างระหว่างราคาตลาดกับราคาตามบุ๊คแวลูถ่างกันไกลขึ้น

ความหมายในเชิงสัญญะของการแตกพาร์ คือทำให้ ราคาพาร์ลดความสำคัญลงไปอย่างเห็นได้ชัด และอนุญาตให้ผู้ถือหุ้น ต้องหันไปพิจารณามูลค่าของบริษัทที่แท้จริงได้จาก มูลค่าทางบัญชี หรือ บุ๊คแวลู หรือ ค่าพี/อี แทน ซึ่งน่าจะเป็นผลดีกว่าเสียด้วยซ้ำ เพราะสะท้อนผลประกอบการที่แท้จริงของบริษัทออกมา

สำหรับนักการเงินที่ไม่ได้คิดลึกซึ้งเชิงปรัชญาอะไรมากมาย การแตกพาร์คือเกมจิตวิทยาของราคาหุ้น ด้านหนึ่งใช้ข้ออ้างสูตรสำเร็จว่า เพื่อป้องกันมิให้ราคาหุ้นที่ซื้อขายมีราคาสูงเกินขนาด จนนักลงทุนเบือนหน้าหนี และมีราคาที่สมเหตุสมผลมากขึ้น ซึ่งเป็นตรรกะแบบมั่วนิ่มที่ใช้พร่ำเพรื่อ

อีกด้านหนึ่งอ้างว่า ทำให้มีสภาพคล่องของหุ้นที่ซื้อขายสูงขึ้น ซึ่งผลพลอยได้คือ ราคาหุ้นจะไม่ปรับตัวลงตามจำนวนหุ้น ผลลัพธ์ท้ายที่สุดคือ จะทำให้มูลค่าซื้อขายหุ้นที่แตกพาร์สูงขึ้น ตัวอย่างเช่น หากแตกพาร์จาก 10 เป็น 1 ราคาท้ายสุดจะมากกว่า 1 เสมอ

คำอธิบายที่ดูสมเหตุสมผลมากสุดคือ คำอธิบายด้วยทฤษฎีเกม ที่ว่าการแตกพาร์คือการใช้ความไม่สมเหตุสมผลทางจิตวิทยามาเป็นประโยชน์กับราคาหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาดหุ้นอย่างชาญฉลาด แบบเดียวกับเกมเผด็จการนั่นเอง เพราะคนได้ประโยชน์สูงสุดคือรายใหญ่นั่นเอง รายย่อยได้แค่เศษกำไรที่เป็นเบี้ยหัวแตก

พูดกันไม่ต้องอ้อมค้อมแตกพาร์รอบนี้คนได้ประโยชน์มากสุดหนีไม่พ้นครอบครัวจรูญเอกที่มีโอกาสฟันกำไรรอบ 3 (รอบแรกขายไอพีโอแพงจากพาร์ 50 สตางค์ ขาย 9.00 บาท รอบสองอารดา จรูญเอก สาดทิ้งออกมาขาย 30 ล้านหุ้น ในแบบบิ๊กล็อต 30 ล้านหุ้น ให้นักลงทุนบางคน (ไม่เอ่ยนาม) ที่ราคาเฉลี่ย 11.50 บ. ทิ้งที่สามีอย่างพีระพงศ์ให้สัมภาษณ์หน้าตาเฉยว่าจะไม่มีการขายออกมาแถมยังพูด หน้าตาเฉยชนิดไร้ยางอายแบบเด็กเลี้ยงแกะว่า ขายในส่วนที่เกินไซเลนต์พีเรียด) ฟาดกำไรหลังแตกพาร์เนื้อๆ หากไม่บังเอิญว่ามีคนรู้ทันเสียก่อน

กลุ่มคนต่อไปที่จะกำไรเนื้อๆ ไม่ต้องเหนื่อยยากคือ นเรศ งามอภิชน หรือ สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล หรือ เสี่ยปู่ นั่นเอง ถือหุ้นต่ำกว่าจองได้เดือนเดียวฟาดกำไรเกิน 100% จะไม่เรียกว่าเก่งและเฮงได้อย่างไร

ไม่น่าประหลาดใจที่เสี่ยนเรศ จะออกหน้าออกตาล็อบบี้สื่อต่างๆ ลับๆ ข้างหลังเพื่อชี้แจงแทนผู้บริหารว่า กรณีนี้ทำเพื่อผู้ถือหุ้นจริงๆ ไม่เป็นอย่างอื่น

ใครเชื่อ…ไม่บ้าก็บอ…หรือ โง่งมงาย

หากพิจารณาตามรูปเกมราคาหุ้นแล้ว กรณีของ ORI มีการสมคบคิดมาตั้งแต่ก่อนเข้าตลาดแล้วชัดเจน ตั้งแต่การตั้งราคาพาร์ 50 สตางค์แต่ขายหุ้นไม่มากก็น้อยโดยตั้งราคาจองสูงลิ่ว (อ้างว่าพี/อีต่ำ) 9 บาท  แล้วปล่อยให้กองทุนทุบหุ้นหลุดจองลงมาเพื่อให้ขาใหญ่นกรู้เข้าไปเสียบได้ของถูกแล้วจากนั้นก็ดันราคาขึ้นไปที่ยอดเหนือราคาจองเกือบ 50% ก่อนประกาศแตกพาร์

ทำเหมือนกับว่าเกมนี้รายย่อยกินแกลบกินปลายข้าวซะงั้น

คิดง่ายๆ หากหลังแตกพาร์ราคาหุ้นลดมาเหลือหุ้นละ 4 เท่ากับราคาหุ้นก่อนแตกพาร์อยู่ที่ 5 บาทเชียวนะ…เงินในพอร์ตตุงกระเป๋าเนื้อๆ

แล้วก็อย่าได้แปลกใจ คำถามเชิงตั้งข้อสงสัยของตลาดหลักทรัพย์ที่ต้องการให้ ORI ชี้แจง

4 ประเด็น ประกอบด้วย

  1. เหตุผลและความจำเป็นของ ORI ที่ต้องเปลี่ยนแปลง Par ทั้งที่บริษัทเพิ่งเข้าจดทะเบียนและการเปลี่ยนแปลง Par ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานหรือธุรกิจของบริษัทหรือไม่ อย่างไร
  2. เหตุผลที่ ORI จะเปลี่ยนแปลง Par  และให้ชี้แจงว่าฝ่ายจัดการได้ศึกษาข้อมูลก่อนที่จะมีการนำเสนอคณะกรรมการบริษัทเพื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลง Par ตั้งแต่เมื่อใด และนำเสนอข้อมูลสนับสนุนต่อคณะกรรมการบริษัทอย่างไร
  3. คณะกรรมการบริษัทใช้ข้อมูลใดในการพิจารณาเปลี่ยนแปลง Par รวมทั้งบริษัทได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ปรึกษากฎหมาย หรือบุคคลใดหรือไม่ อย่างไร โดยให้ระบุชื่อตำแหน่งของผู้ให้คำแนะนำ และความสัมพันธ์กับบริษัท
  4. ความเห็นของคณะกรรมการบริษัท และคณะกรรมการตรวจสอบต่อการเปลี่ยนแปลง Par ดังกล่าว

เชื่อขนมกินล่วงหน้าได้เลยว่าคำตอบจะเป็น “ไปไหนมา สามวาสองศอก” หรือ “ถามไม่ตรงคำตอบ” แล้วก็จะมีการดันทุรังผ่านที่ประชุมวิสามัญอนุมัติแตกพาร์เรียบร้อย โรงเรียนจรูญเอก… ตามบทที่เขียนล่วงหน้ามาแล้ว

แบะ…แบะ….แบะ…

แล้วอย่าได้แปลกใจ หากนักลงทุนจะไม่ใส่ใจข้อเท็จจริงที่ว่า บุ๊คแวลูของ ORI เมื่อสิ้นสุด 30 กันยายน (ก่อนเข้าเทรดในตลาด 7 วัน) อยู่ที่ 1.01บาท และอาจจะเพิ่งเพิ่มทุนหลังขายไอพีโอไปแล้วที่ไม่เกิน 1.20 บาท  นั่นแสดงว่าพี/บีวี อยู่ที่ระดับ 12 เท่า มากกว่าผู้นำในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่าง PS (2.38), SPALI (1.77) หรือ LH (1.93) หลายช่วงตัว

หากแตกพาร์อีก…อุ๊แม่เจ้าอย่าให้เอ่ยถึงเลย ราคามันจะดีเกินสวรรค์จะคาดคิดเชียวรึ

 

Back to top button